xs
xsm
sm
md
lg

สิ้นสุดการรอคอย! กูเกิลเปิดตัว “BARD” โฉมใหม่ รองรับผู้ใช้ใน 180 ประเทศ ท้าทาย “ChatGPT” ของค่ายไมโครซอฟท์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กูเกิลท้าชน “แชตจีพีที” ที่มีไมโครซอฟท์ให้การสนับสนุน เปิดตัว “บาร์ด” ใน 180 ประเทศ โดยจะเพิ่มเวอร์ชันภาษาต่างๆ กว่า 40 ภาษา เริ่มจากญี่ปุ่นและเกาหลี

ผู้บริหารกูเกิลประกาศในงานประชุมนักพัฒนาประจำปีเมื่อวันพุธ (10 พ.ค.) ว่า จะใช้ generative AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องมือค้นหาชั้นนำของบริษัท

ซันดาร์ พิชัย ประธานบริหารกูเกิล ย้ำว่า กูเกิลกำลังปรับภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์หลักทั้งหมด ซึ่งรวมถึงเครื่องมือค้นหา

ปัจจุบัน กูเกิลกำลังไล่ตามไมโครซอฟท์ คู่แข่งสำคัญที่รีบเร่งรวมเทคโนโลยีทรงพลังอย่างแชตจีพีที ในผลิตภัณฑ์มากมายที่รวมถึงเครื่องมือค้นหา “บิง”

ทั้งนี้ แชตจีพีทีถือเป็นนวัตกรรมที่สร้างความฮือฮาในซิลลิคอนแวลลีย์มากที่สุดนับจากแอปเปิลเปิดตัวไอโฟนรุ่นแรกเมื่อ 16 ปีที่แล้ว

การกระโจนเข้าสู่แวดวงปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ของไมโครซอฟท์เกิดขึ้นท่ามกลางความหวาดกลัวว่า เทคโนโลยีนี้อาจคุกคามสังคม ซึ่งรวมถึงผลกระทบจากการปล่อยข้อมูลเท็จ รวมทั้งแนวโน้มที่เอไออาจทำให้งานประเภทต่างๆ ล้าสมัย

เคธี เอ็ดเวิร์ดส์ จากกูเกิลเสิร์ช กล่าวว่า ประสบการณ์ใหม่จากบาร์ดจะคล้ายกับการค้นหาด้วยบอตแบบเดิมที่ได้รับการชาร์จพลังพิเศษ

ผู้บริหารคนอื่นๆ ของกูเกิลยังกล่าวถึงการรวม generative AI ในGMail ระบบตัดต่อภาพ เครื่องมือทำงานออนไลน์ และอื่นๆ อีกมากมาย โดยที่แจ็ค ครอว์ซิก ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายผลิตภัณฑ์ รับรองว่า ความพยายามด้านเอไอของกูเกิลดำเนินการด้วยวิธีที่กล้าหาญและรับผิดชอบ

ความคืบหน้าล่าสุดของกูเกิลเป็นการสิ้นสุดการรอคอยสำหรับบาร์ด โดยผู้ใช้ทั่วโลกจะสามารถใช้งานในเวอร์ชันภาษาอังกฤษในระยะแรก และจะขยับขยายรองรับอีกกว่า 40 ภาษาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยเริ่มจากภาษาญี่ปุ่นและเกาหลี

กูเกิลยังประกาศเกี่ยวกับส่วนขยายในเบราเซอร์ที่จะใส่คุณสมบัติเอไอลงในแอปและบริการ เช่น จีเมล และแมปส์

เทคโนโลยีบาร์ดจะเปิดใช้งานคุณสมบัติต่างๆ เช่น การสร้างข้อความเพื่อช่วยร่างอีเมล และการนำเสนอไอเดียสำหรับงานศิลปะ

กูเกิลยังเปิดโอกาสให้หุ้นส่วนสร้างส่วนขยายดังกล่าว ที่รวมถึงส่วนขยายจากอะโดบีที่จะช่วยให้ผู้ใช้สร้างภาพด้วยตัวเอง

การประกาศของกูเกิลเกิดขึ้นหลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไมโครซอฟท์เพิ่มการเข้าถึงโปรแกรม generative AI ของบริษัทที่รองรับโดยโปรแกรมรุ่นต่างๆ ที่พัฒนาโดยโอเพ่นเอไอ ผู้อยู่เบื้องหลังแชตจีพีที

แดน ไอเวส จากเว็ดบุช ชี้ว่า นี่อาจเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ชี้ขาดในสงครามเอไอระหว่างกูเกิลกับไมโครซอฟท์ที่กำลังขับเคี่ยวกันแย่งส่วนแบ่งตลาด โดยที่การชิงลงทุนแต่เนิ่นๆ ในโอเพ่นเอไอทำให้ไมโครซอฟท์เป็นฝ่ายได้เปรียบและกูเกิลอยู่ในโหมดวิ่งไล่ตาม
เมื่อเร็วๆ นี้ ไมโครซอฟท์เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงคุณสมบัติที่เพิ่มประสิทธิภาพด้วยเอไอในบิงและเบราเซอร์ “เอดจ์” ของบริษัท

บริการเหล่านี้มาพร้อมความสามารถในการทำงานกับรูปภาพและข้อความ และไมโครซอฟท์มีแผนเพิ่มวิดีโอในอนาคต

แม้ 2 บริษัทใหญ่สุดของโลกแข่งกันเปิดตัวเอไอ แต่เทคโนโลยีนี้มาพร้อมความเสี่ยงที่รวมถึงแนวโน้มที่จะมีการนำไปใช้เพื่อปล่อยข้อมูลเท็จ การสร้างสำเนาเสียง วิดีโอดีปเฟก และข้อความตัวอักษรที่โน้มน้าวใจ

เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเรียกร้องให้พักการพัฒนาระบบเอไอทรงพลังเพื่อให้เวลาในการทำให้แน่ใจว่า เทคโนโลยีนี้ปลอดภัย

ข้อความในจดหมายเปิดผนึกที่มีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 1,000 คน ที่รวมถึงอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งเทสลา และสตีฟ วอซเนียก ผู้ร่วมก่อตั้งแอปเปิล แสดงความกังวลกับเทคโนโลยี generative AI จากโอเพ่นเอไอ

เมื่อเร็วๆ นี้ เจฟฟรีย์ ฮินตัน นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ชื่อดังที่มักถูกเรียกว่า “เจ้าพ่อเอไอ” ที่สร้างเทคโนโลยีบางอย่างที่สนับสนุนระบบเอไอ ลาออกจากกูเกิลเพื่อยืนยันว่า ภัยคุกคามจากเอไอ “ร้ายแรงและใกล้เข้ามา”

(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น