xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : รัสเซียเตรียมส่งอาวุธนิวเคลียร์เข้า ‘เบลารุส’ ทำโลกผวา ‘สงครามปรมาณู’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ขีปนาวุธอิสกันเดอร์ (Iskander) ซึ่งเป็นหนึ่งในอาวุธทางยุทธวิธีของรัสเซีย (แฟ้มภาพ - รอยเตอร์)
สงครามรัสเซีย-ยูเครน เริ่มปรากฏเค้าลางเลวร้าย หลังประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียประกาศจะส่ง “อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี” เข้าประจำการในเบลารุส ขณะที่รัฐบาลกรุงมินสก์ยืนยันพร้อมอนุญาตให้มอสโกใช้ดินแดนเป็นที่ตั้งอาวุธนิวเคลียร์ โดยอ้างเหตุผลว่าที่ผ่านมาถูกตะวันตกบีบคั้นมากเกินไป ทั้งด้วยมาตรการคว่ำบาตรและการที่นาโตเสริมกำลังทหารใกล้พรมแดนเบลารุสอย่างต่อเนื่อง

ผู้นำรัสเซียออกมาประกาศเมื่อวันเสาร์ที่ 25 มี.ค. ว่า มอสโกจะส่งอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีเข้าไปยังเบลารุส และยังมีแผนที่จะสร้างคลังเก็บอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ด้วย

แม้ ปูติน จะไม่ได้ให้กรอบเวลาที่ชัดเจน และยังไม่ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับแผนส่งอาวุธทำลายล้างสูงเข้าเบลารุส ทว่าคำประกาศนี้ก็เท่ากับเปิดทางให้รัสเซียส่งอาวุธนิวเคลียร์ออกไปประจำการนอกประเทศเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลายลงในปี 1991

กระทรวงการต่างประเทศเบลารุสชี้ว่า อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียจะมอบ “การป้องกัน” ที่แข็งแกร่งให้แก่เบลารุส ซึ่งถูกสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรยุโรปรุมกดดันอย่างหนัก หวังเลื่อยขาเก้าอี้ประธานาธิบดี อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก พันธมิตร ปูติน ที่ครองอำนาจปกครองเบลารุสมานานร่วม 3 ทศวรรษ

“ตลอดระยะเวลา 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา สาธารณรัฐเบลารุสเผชิญแรงกดดันทางการเมือง เศรษฐกิจ และข้อมูลข่าวสารจากสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร กลุ่มพันธมิตรนาโต รวมถึงประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปอย่างชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” กระทรวงการต่างประเทศเบลารุสระบุในคำแถลงเมื่อวันอังคาร (28) พร้อมทั้งอ้างว่าถูก “แทรกแซงกิจการภายในโดยตรงอย่างหนักหน่วง”

“เมื่อพิจารณาจากปัจจัยเหล่านี้ รวมถึงความกังวลอันชอบธรรมและความเสี่ยงในด้านความมั่นคงของชาติ เบลารุสจึงถูกบังคับให้ต้องตอบโต้ด้วยการเสริมศักยภาพด้านความมั่นคงและการป้องกันตนเอง”

การส่งอาวุธนิวเคลียร์เข้าประจำการในเบลารุสถือเป็นอีกครั้งที่รัสเซียยื่นคำขู่ใช้อาวุธทำลายล้างสูงอย่างชัดเจนที่สุดนับ ตั้งแต่ประธานาธิบดี ปูติน สั่งให้กองทัพหมีขาวบุกแผ่นดินยูเครนเมื่อเดือน ก.พ.ปีที่แล้ว

นักเคลื่อนไหวต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ออกมาเตือนว่า นี่เป็นย่างก้าวอันตรายซึ่งอาจลดทอน “ขีดจำกัด” ในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีในสนามรบ และในแง่มุมทางทหารก็นับว่ายังไม่จำเป็น ขณะที่ ปูติน อ้างว่าสิ่งที่รัสเซียจะทำก็ไม่ต่างอะไรกับการที่สหรัฐฯ ส่งหัวรบนิวเคลียร์เข้ามาประจำการในยุโรป

ระหว่างให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์เมื่อวันเสาร์ (25) ปูติน ยืนยันว่า การส่งอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีเข้าประจำการในเบลารุสไม่ได้ละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศด้านการไม่แพร่กระจายนิวเคลียร์ และก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไรเลย เนื่องจาก "สหรัฐฯ เองก็ทำแบบนี้มานานหลายทศวรรษแล้ว นานมาแล้วที่พวกเขาตั้งอาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิคในดินแดนของพันธมิตรของพวกเขา"

ด้านโฆษกรัฐบาลรัสเซียก็ออกมายืนยันในวันจันทร์ (27) ว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากตะวันตกไม่อาจเปลี่ยนแผนที่ ปูติน กำหนดเอาไว้แล้วได้

"ปฏิกิริยาลักษณะนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแผนการต่างๆ ของรัสเซียเลย" ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าว


รัฐบาลกรุงมินสก์แถลงรับลูกว่า แผนประจำการอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียไม่ได้ละเมิดข้อตกลงนานาชาติ เนื่องจากฝ่ายเบลารุสจะไม่มีอำนาจควบคุมปฏิบัติการของอาวุธเหล่านี้

ด้านนายกรัฐมนตรีโปแลนด์ออกมาเตือนว่า การยอมให้รัสเซียขนอาวุธนิวเคลียร์เข้าประเทศจะทำให้เบลารุสยิ่งถูกยุโรปแซงก์ชันหนักขึ้น

“ความเคลื่อนไหวของรัสเซีย ซึ่งก็คือการประกาศส่งอาวุธนิวเคลียร์เข้าประจำการในเบลารุส จะนำไปสู่คำสั่งคว่ำบาตรใหม่ๆ อย่างแน่นอน และระบอบลูคาเชนโกจะต้องเผชิญกับบทลงโทษที่รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก” มาแตอุช มอราวีแยตสกี ผู้นำโปแลนด์ ระบุในงานแถลงข่าวที่กรุงบูคาเรสต์เมื่อวันอังคาร (29)

สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นอีกหนึ่งมหาอำนาจนิวเคลียร์โลกออกมาแสดงปฏิกิริยาตอบสนองอย่างระมัดระวังต่อคำแถลงของปูติน โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน ชี้ว่า วอชิงตัน “ยังไม่เห็นสัญญาณ” ว่ามอสโกตั้งใจจะนำอาวุธนิวเคลียร์มาใช้ในสงคราม

นักวิชาการและผู้เจรจาควบคุมอาวุธมีการอภิปรายถกเถียงกันมานานหลายปีเกี่ยวกับคำนิยามของอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี (tactical nuclear weapons - TNW) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วก็หมายถึงอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งถูกใช้เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบเชิงยุทธวิธีในสนามรบ ทว่าไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดการทำลายล้างในวงกว้าง อย่างเช่นการทำลายเมืองทั้งเมือง เป็นต้น

ปัจจุบันมีน้อยคนที่รู้ว่ารัสเซียครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีอยู่มากน้อยเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นข้อมูลลับซึ่งถูกปกปิดตามธรรมเนียมที่ทำกันมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น แต่จากการประเมินของสหรัฐฯ เชื่อว่า รัสเซียน่าจะมีหัวรบนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีที่พร้อมใช้งานราวๆ 2,000 หัวรบ หรือมากกว่าวอชิงตันประมาณ 10 เท่าตัว

หัวรบเหล่านี้สามารถติดตั้งบนขีปนาวุธหลายประเภท รวมถึงตอร์ปิโดและระเบิดแรงโน้มถ่วง (gravity bombs) ที่ใช้โดยกองกำลังทั้งทางบก ทะเล และอากาศ และยังสามารถขนขึ้นยานพาหนะไปจุดชนวนระเบิดในพื้นที่เป้าหมายได้ด้วย

สหรัฐฯ มีอาวุธลักษณะนี้ที่พร้อมใช้งานอยู่ประมาณ 200 หัวรบ โดยครึ่งหนึ่งกระจายอยู่ตามฐานทัพในยุโรป ได้แก่ ระเบิดนิวเคลียร์ B61 ความยาว 12 ฟุตซึ่งมีอานุภาพทำลายล้างระหว่าง 0.3-170 กิโลตัน โดยถูกประจำการอยู่ที่ฐานทัพอากาศ 6 แห่งในเยอรมนี ตุรกี เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์

ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ AP ว่า แผนส่งอาวุธนิวเคลียร์เข้าเบลารุสอาจเป็นความพยายามของ ปูติน ที่จะ “แก้เก้อ” หลังประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนไม่ได้รับปากให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่างไปเยือนมอสโกเมื่อวันที่ 20-22 มี.ค. อีกทั้งเป็นการตอบโต้ที่อังกฤษประกาศจะส่งกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ (depleted uranium ammunition) ให้ยูเครนด้วย ทว่าเมื่อเอาเข้าจริงแล้วเขาเชื่อว่าผู้นำรัสเซียคงยัง “ไม่พร้อม” ที่จะนำอาวุธนิวเคลียร์ออกมาใช้จริงในตอนนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น