รถถังหลักของเยอรมนีและอังกฤษส่งถึงมือยูเครนแล้ว นักวิเคราะห์คาดหมายเคียฟอาจเริ่มปฏิบัติการรุกตอบโต้รัสเซียอย่างจริงจังได้ในเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้ ด้านเครมลินไม่ใส่ใจคำวิพาก์วิจารณ์ของตะวันตก ยันเดินหน้าติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในเบลารุส ตามที่ปูตินประกาศ แถมกรุงมินสก์ยังสำทับในวันอังคาร (28 มี.ค.) ว่า เมื่อถูกบีบคั้นจากอเมริกาและพันธมิตรอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จึงต้องติดตั้ง “นุก” ของรัสเซีย
นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ของเยอรมนี ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเมื่อวันจันทร์ (27) ว่า เบอร์ลินได้ส่งรถถังหลัก “ลีโอพาร์ด 2” ให้เคียฟแล้ว และในเวลาต่อมา บอริส พิสโทเรียส รัฐมนตรีกลาโหมเมืองเบียร์แถลงสำทับว่า รถถังรุ่นดังกล่าว 18 คันถึงมือยูเครนตามที่สัญญาและตามกำหนดเวลา
ด้านโฆษกกระทรวงกลาโหมยูเครนแถลงยืนยันว่า ได้รับลีโอพาร์ดพร้อมกับรถถัง “ชาเลนเจอร์” ของอังกฤษ
ก่อนหน้านั้น โอเลคซี เรซนิคอฟ รัฐมนตรีกลาโหมยูเครน เผยว่า ได้ตรวจสอบอาวุธล็อตใหม่ ซึ่งได้แก่ รถถังชาเลนเจอร์ ยานรบทหารราบ “มาร์เดอร์” ของเยอรมนี รถบรรทุกหุ้มเกราะ “คูการ์” และรถลำเลียงพลหุ้มเกราะ “สไตรเกอร์” จากอเมริกา
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่า ยูเครนอาจเริ่มต้นเปิดการปฏิบัติการรุกตอบโต้รัสเซียในฤดูใบไม้ผลิอย่างจริงจังตามที่พูดกันพักหนึ่งแล้ว ในเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้ ซึ่งในช่วงนั้นสภาพอากาศจะกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น และความช่วยเหลือทางทหารก็หลั่งไหลถึงเคียฟมากขึ้น
สำหรับที่มอสโก ดมิตริ เปสคอฟ โฆษกวังเครมลินกล่าวเมื่อวันจันทร์เช่นกันว่า คำวิจารณ์ของตะวันตกเกี่ยวกับแผนการของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ในการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีในเบลารุส ไม่ได้มีอิทธิพลใดๆ ต่อแผนการนี้
ต่อมาในวันอังคาร (28) กระทรวงการต่างประเทศเบลารุสออกคำแถลงระบุว่า กรุงมินสก์ถูกบีบคั้นให้ต้องดำเนินมาตรการตอบโต้ด้วยการเสริมสร้างศักยภาพด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ และว่า เบลารุสถูกกดดันทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนจากอเมริกาและพันธมิตร คำแถลงยังสำทับว่า การติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีจากรัสเซียนี้ไม่ได้ละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศแต่อย่างใด
วันเดียวกันนั้น กระทรวงกลาโหมรัสเซียแถลงว่า กองทัพเรือได้ทดสอบขีปนาวุธร่อน พี-270 มอสกิต ซึ่งเป็นขีปนาวุธต่อสู้เรือแบบซูเปอร์โซนิก (ความเร็วเหนือเสียง) โดยเล็งยิงเป้าหมายหลอก ในระหว่างการ ฝึกซ้อมในพื้นที่ทะเลญี่ปุ่น ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
แม้เรื่องนี้ทำให้โตเกียวซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของตะวันตก ออกมาเตือนว่า ขณะนี้มอสโกกำลังเพิ่มกิจกรรมทางทหารในตะวันออกไกล แต่พวกนักวิเคราะห์ชี้ว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ก็ได้เดินทางไปเยือนยูเครน และพบหารือกับประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี้ โดยที่ฝ่ายตะวันตกประโคมข่าวเปรียบเทียบกับการที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ไปมอสโกหารือกับปูตินในเวลาใกล้ๆ กัน
สำหรับ เซเลนสกี้ ได้กล่าวกับราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ที่เดินทางไปกรุงเคียฟว่า ไม่สามารถฟื้นความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่นั่น ที่เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในยุโรปได้ ได้หากรัสเซียยังควบคุมสถานที่ดังกล่าวและบริเวณโดยรอบอยู่
ผู้นำยูเครนกล่าวหาว่า รัสเซียยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นตัวประกันมากว่าปี ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์พลังงานนิวเคลียร์ของยุโรปและทั่วโลก
กองกำลังรัสเซียเข้ายึดโรงไฟฟ้าแห่งนี้มาตั้งแต่ช่วงสัปดาห์แรกๆ หลังบุกยูเครนเมื่อต้นปีที่แล้ว และทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหากันว่า ยิงปืนใหญ่ใส่โรงไฟฟ้า นอกจากนั้นยังมีการสู้รบกันในบริเวณโดยรอบ อีกทั้งยังมีความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำ รวมทั้งระบบหล่อเย็นของโรงงานอาจขาดแคลนพลังงานและนำไปสู่หายนะนิวเคลียร์
ทั้งนี้ คาดว่า กรอสซีจะเดินทางไปยังโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซียในช่วงปลายสัปดาห์นี้
สำหรับสถานการณ์ในที่อื่นๆ ของยูเครน มีรายงานว่า รัสเซียยิงขีปนาวุธถล่มอาคารหลายหลังในเมืองสโลเวียนสก์ แคว้นโดเนตสก์ ทางภาคตะวันออกของยูเครน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คนในรถ และบาดเจ็บอีกกว่า 30 คน
ส่วนที่เมืองอัฟดิอิฟกา ซึ่งก็ตั้งอยู่ในแคว้นโดเนตสก์เช่นเดียวกัน เจ้าหน้าที่ยูเครนคนหนึ่งกล่าวมื่อวันจันทร์ว่า เจ้าหน้าที่เทศบาลทั้งหมดได้รับคำสั่งให้ออกจากเมืองขณะที่กองกำลังรัสเซียอ้างว่า สามารถควบคุมพื้นที่ใกล้เคียงได้แล้ว
วิตาลี บาราบาช หัวหน้าคณะบริหารของฝ่ายเคียฟในอัฟดิอิฟกา กล่าวว่า แม้น่าละอายแต่ต้องยอมรับว่า อัฟดิอิฟกาวันนี้เหมือนฉากหลังวันสิ้นโลกในภาพยนตร์
รัสเซียพยายามเข้ายึดแคว้นโดเนตสก์มานานหลายเดือนโดยจุดสนใจอยู่ที่การต่อสู่ในบัคมุต ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของอัฟดิอิฟกา โดยที่กองกำลังรัสเซียระบุว่า ยังมีการสู้รบดุเดือดทุกตารางนิ้ว