xs
xsm
sm
md
lg

พิษภัยเยอะ!! เจาะลึก ‘กระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ’ ที่ตะวันตกจะส่งให้ยูเครน รัสเซียยันมีอันตรายสูง แม้สหรัฐฯ อังกฤษปฏิเสธ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักเทคนิคด้านวัตถุระเบิดของกองทหารรักษาชาติทางอากาศสหรัฐฯ ตระเตรียมกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ ที่คลังแสงในรัฐยูทาห์ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2022 ในภาพที่ถ่ายและเผยแพร่โดยกองทหารรักษาชาติทางอากาศของสหรัฐฯ (U.S.Air National Guard)
รัสเซียขู่ในวันพุธ (22 มี.ค.) การโจมตีในยูเครนอาจรุนแรงขึ้น หลังอังกฤษประกาศส่งกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะใช้กับรถถังไปให้เคียฟ ซ้ำลอนดอนและวอชิงตันยังรวมหัวกันกล่าวหามอสโกอวดอ้างผิดๆ ว่ากระสุนดังกล่าวมีวัสดุนิวเคลียร์ ขณะที่ข้อมูลจากหลายแหล่งบ่งชี้ว่ากระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะอาจมีอันตรายร้ายแรงในระยะยาวในฐานะวัตถุมีพิษ

เมื่อวันจันทร์ (20) กระทรวงกลาโหมอังกฤษแถลงยืนยันว่า จะส่งกระสุนเจาะเกราะที่มียูเรเนียมด้อยสมรรถนะเป็นส่วนประกอบไปให้ยูเครน ในฐานะเป็นกระสุนส่วนหนึ่งซึ่งใช้กับรถถังหลัก “ชาลเลนเจอร์ 2” ซึ่งอังกฤษกำลังจะมอบให้เคียฟ

มีรายงานว่า กระสุนชนิดนี้พัฒนาโดยอเมริกาในช่วงสงครามเย็นเพื่อทำลายรถถังโซเวียต ซึ่งรวมถึงที-72 ที่รัสเซียใช้ในสมรภูมิด้านตะวันออกของยูเครนในขณะนี้

เอ็ดเวิร์ด ไกสต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์และนักวิจัยนโยบายของบริษัทแรนด์ หน่วยงานคลังสมองของเพนตากอน อธิบายว่า ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะคือผลพลอยได้จากกระบวนการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมที่จำเป็นสำหรับการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ และกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะยังคงมีคุณสมบัติของธาตุกัมมันตรังสี แต่ไม่สามารถทำให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์แบบอาวุธนิวเคลียร์

ทว่าข้อมูลเช่นนี้ไม่อาจหยุดยั้งไม่ให้รัสเซียออกมาเตือนว่า หากอังกฤษส่งกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะให้เคียฟ จะจุดชนวนให้สถานการณ์ลุกลามต่อ และก่อนหน้านี้ เครมลินเคยระบุว่า สงครามยูเครนอาจบานปลายกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์

ทั้งกระทรวงกลาโหมอังกฤษ และทำเนียบขาวต่างปฏิเสธข้อกล่าวหาของรัสเซีย

จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ยืนยันว่า กระสุนดังกล่าวไม่ใช่กัมมันตรังสีและไม่เข้าข่ายอาวุธนิวเคลียร์ อีกทั้งยังเป็นอาวุธที่ใช้กันทั่วไป

ขณะที่กระทรวงกลาโหมอังกฤษรับลูกว่า สหราชอาณาจักรใช้ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะในกระสุนเจาะเกราะมานานหลายทศวรรษ และยูเรเนียมเป็นส่วนประกอบตามมาตรฐานและไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับอาวุธนิวเคลียร์หรือศักยภาพทางนิวเคลียร์

ทว่า มาเรีย ชาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุสปุตนิกของรัสเซียในวันพุธ (22) แย้งว่า กระสุนที่มียูเรเนียมด้อยสมรรถนะเป็นส่วนประกอบไม่ใช่แค่ทรงพลานุภาพมากกว่าและมีศักยภาพในการเจาะทะลุทะลวงมากกว่า แต่ยังทำให้เกิดการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีในดิน สร้างความเสียหายระยะยาวแก่สิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวไปอีกหลายชั่วอายุคน

ทางด้านไกสต์แจงว่า แม้ทรงพลังน้อยกว่ายูเรเนียมเสริมสมรรถนะและไม่สามารถสร้างปฏิกิริยานิวเคลียร์ แต่ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะมีความหนาแน่นสูง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เหมาะอย่างมากในการนำไปผลิตกระสุนที่สามารถเจาะเกราะได้ นอกจากนั้นยังมีความร้อนสูงที่ทำให้ติดไฟได้และมีความเร็วสูง

ในช่วงทศวรรษ 1970 กองทัพสหรัฐฯ เริ่มผลิตกระสุนเจาะเกราะด้วยยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ และนับจากนั้นยังเติมลงในเกราะคอมโพสิตหุ้มรถถัง รวมทั้งใส่ในกระสุนสำหรับเครื่องบินรบ เอ-10 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่ถูกเรียกขานว่า นักฆ่ารถถัง

สกอตต์ บอสตัน นักวิเคราะห์อาวุโสด้านกลาโหมของแรนด์ บอกว่า กองทัพอเมริกายังคงพัฒนากระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระสุนเจาะเกราะเอ็ม 829 เอ4 สำหรับรถถังหลักอะบรามส์ ของตน

ในวันนอังคาร (21) ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เตือนว่า มอสโกจะตอบโต้อย่างสาสม เนื่องจากพวกตะวันตกเริ่มใช้อาวุธที่มีวัสดุนิวเคลียร์

ทว่า ทำเนียบขาวออกมาประณามว่า ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นเท็จ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งยังบอกว่า รัสเซียเองก็มีกระสุนแบบนี้ แต่ที่ออกมาโจมตีเพราะไม่อยากให้ยูเครนได้ใช้

พลอากาศจัตวาแพต ไรเดอร์ โฆษกเพนตากอน แถลงเมื่อวันจันทร์ว่า เท่าที่รู้ อเมริกายังไม่เคยส่งกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะให้ยูเครน

นอกจากนั้น แม้ไม่ถือเป็นอาวุธนิวเคลียร์ แต่การปล่อยรังสีในระดับต่ำทำให้ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรียกร้องให้ใช้กระสุนชนิดนี้น้อยที่สุดและสวมถุงมือขณะใช้ อีกทั้งยังควรเผยแพร่ข้อมูลเพื่อให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ

ไอเออีเอตั้งข้อสังเกตว่า ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะเป็นสารเคมีที่มีพิษ คนอาจสูดดมหรือได้รับละอองลอยในอากาศทางปาก ซึ่งแม้ขับถ่ายออกมาได้ แต่บางส่วนอาจเข้าสู่กระแสเลือดและทำให้ไตเสียหาย จนถึงไตวายหากสารพิษนี้เข้าสู่ร่างกายจำนวนมาก

กระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะถูกนำไปใช้ในสงครามอ่าวเปอร์เซียปี 1991 เพื่อจัดการรถถังที-72 ของอิรัก และในการเข้ารุกรานยึดครองอิรักปี 2003 นอกจากนี้ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ยังเคยใช้โจมตีในเซอร์เบีย และโคโซโว

มีทหารผ่านศึกหลายคนของอเมริกาตั้งคำถามว่า อาการเจ็บป่วยของตัวเองเป็นผลจากการใช้อาวุธเหล่านั้นหรือไม่

ด้านวีเชสลาฟ โวโลดิน ประธานสภาผู้แทนราษฎรของรัสเซีย กล่าวว่า การส่งกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะให้ยูเครนอาจนำไปสู่โศกนาฏกรรมระดับโลก โดยเฉพาะในประเทศยุโรป

เขายังบอกอีกว่า การใช้กระสุนดังกล่าวในดินแดนที่เคยเป็นประเทศยูโกสลาเวียและในอิรัก ทำให้เกิดการปนเปื้อนกัมมันตรังสีและจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้นสูงมาก

(ที่มา : เอพี, รอยเตอร์, เอเอฟพี, อาร์ที)


กำลังโหลดความคิดเห็น