xs
xsm
sm
md
lg

ไม่แข็งกร้าวแล้ว! สหรัฐฯ ถอยกรูดบินโดรนไกลออกไปในทะเลดำ หลังเหตุการณ์ถูกเครื่องบินรบรัสเซียชนร่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สหรัฐฯ ตัดสินใจบินโดรนสอดแนมไกลออกไปทางใต้เหนือทะเลดำ หลังเกิดเหตุการณ์เครื่องบินรบลำหนึ่งของรัสเซียชนโดรนอเมริกาตกทะเล เมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงยอมรับกับซีเอ็นเอ็นว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะจำกัดศักยภาพในการรวบรวมข่าวกรองเกี่ยวกับสงครามยูเครน

การบินโดรนในระยะไกลขึ้นจะลดคุณภาพข้อมูลข่าวกรองที่พวกมันสามารถรวบรวมได้ เจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐฯ รายหนึ่งอธิบาย พร้อมเน้นว่าดาวเทียมสอดแนมสามารถชดเชยได้บางระดับ แต่ทำได้ในระยะเวลาที่สั้นลงต่อเป้าหมายต่างๆ และก็เช่นกัน มันมีประสิทธิภาพน้อยกว่าเมื่อเทียบกับโดรนสอดแนม

ตามหลังเครื่องบินรัสเซียเฉี่ยวชนโดรนเอ็มคิว-9 รีปเตอร์ ลำหนึ่งของสหรัฐฯ เมื่อช่วงกลางเดือน สหรัฐฯ เริ่มบินโดรนสอดแนมไกลออกไปทางใต้ และในระดับที่สูงขึ้นกว่าแต่ก่อน เหนือทะเลดำ กำหนดให้มันอยู่ห่างจากน่านฟ้าโดยรอบคาบสมุทรไครเมีย และน่านน้ำทางตะวันออกของทะเลดำมากกว่าเดิม

ตอนที่ซีเอ็นเอ็นรายงานข่าวนี้เป็นครั้งแรก เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ รายหนึ่งบอกว่าเส้นทางใหม่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายาม "หลีกเลี่ยงไม่ให้ยั่วยุเกินไป" ในขณะที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระมัดระวังหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์ใดๆ ที่อาจขยายสถานการณ์ให้ลุกลามบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งโดยตรงกับรัสเซีย เจ้าหน้าที่ระบุว่าเส้นทางการบินดังกล่าวของโดรนได้เริ่มขึ้นแล้ว แต่บอกว่าพวกเขายังคงมีความกระหายกลับสู่เส้นทางที่ใกล้ดินแดนที่รัสเซียยึดครอง

เมื่อถามว่าเส้นทางใหม่จะส่งผลกระทบต่อการรวบรวมข่าวกรองหรือไม่อย่างไร ทางโฆษกของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็น ระบุว่า "เราไม่ขอพูดเกี่ยวกับภาระ เส้นทางหรือกรอบเวลาของปฏิบัติการต่างๆ เราไม่ขอพูดเกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวกรอง ยกเว้นแต่สามารถพูดได้ว่าเราคงไว้ซึ่งศักยภาพการลาดตระเวนสอดแนมในภูมิภาคและไกลกว่านั้น"

ตามหลังเตหุการณ์โดรนเอ็มคิว-9 รีปเตอร์ ถูกชนเมื่อวันที่ 14 มีนาคม เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เน้นย้ำว่าอเมริกาจะเดินหน้าบินในน่านน้ำนานาชาติ "ทุกหนทุกแห่งตามที่กฎหมายระหว่างประเทศอนุญาต" อย่างไรก็ตาม เส้นทางใหม่นี้เป็นการบินไกลออกไปห่างจากชายฝั่งของยูเครนมากกว่า 40 ไมล์ทะเล (ราว 74 กิโลเมตร) ไกลกว่ามากจากระยะ 12 ไมล์ทะเล (ราว 22 กิโลเมตร) ที่ได้รับการรับรองโดยทั่วไปในฐานะขอบเขตน่านฟ้าของประเทศใดประเทศหนึ่ง

ตามคำกล่าวอ้างของเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง มีความกังวลกันว่าครั้งที่สหรัฐฯ เปลี่ยนเส้นทางการบินไกลออกห่างจากพื้นที่ต่างๆ ที่อยู่ใกล้กับชายฝั่งยูเครน มันจะทำให้พวกเขาเจองานยากลำบากขึ้นในการส่งโดรนเหล่านั้นกลับสู่เส้นทางเดิม และกล่าวอ้างเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการบินของอากาศยานสหรัฐฯ

ทั้งนี้ กองทัพเรือสหรัฐฯ ไม่ได้ล่องเรือในทะเลดำมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2021

เหตุโดรนร่วงตกทะเลกลายเป็นครั้งแรกที่ทำให้กองทัพรัสเซียและกองทัพสหรัฐฯ ต้องมีการติดต่อกันโดยตรงอย่างเป็นรูปธรรม นับตั้งแต่มอสโกเปิดฉากรุกราน อย่างไรก็ตามหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมอเมริกา เน้นย้ำว่า "สหรัฐฯ จะเดินหน้าบินและปฏิบัติการต่างๆ ตามที่กฎหมายระหว่างประเทศอนุญาต"

(ที่มา : ซีเอ็นเอ็น)


กำลังโหลดความคิดเห็น