ดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซียในวันศุกร์ (17 มี.ค.) เปรียบเทียบหมายจับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) กับกระดาษชำระ ชี้ไม่มีความหมายใดๆ เนื่องจากรัสเซียไม่ได้เป็นรัฐสมาชิกของไอซีซี
"ศาลอาญาระหว่างประเทศออกหมายจับวลาดิมีร์ ปูติน ไม่มีความจำเป็นที่ต้องอธิบายว่ากระดาษแผ่นนี้ควรถูกใช้งานแบบไหน" เมดเวเดฟ เขียนทวิตเตอร์ พร้อมใส่อิโมจิรูปกระดาษชำระ
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นหลังจากศาลอาญาระหว่างประเทศ ออกหมายจับประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ในข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม รวมถึงการให้เนรเทศเด็กๆ จากยูเครนไปรัสเซีย ซึ่งถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
ศาลระบุว่า ความผิดทั้งหมดของประธานาธิบดีปูตินทำขึ้นในยูเครนตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 เมื่อครั้งที่รัสเซียบุกยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ แต่รัสเซียกลับปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และตราหน้าหมายจับนี้ว่า เป็นการกระทำที่อุกอาจ
มีความเป็นไปได้อย่างมากที่การเคลื่อนไหวของศาลอาญาระหว่างประเทศนี้จะไม่มีผลอะไร เพราะศาลนี้ไม่มีอำนาจในการจับกุมผู้ต้องสงสัย และสามารถดำเนินคำสั่งได้เฉพาะในกลุ่มประเทศสมาชิก ซึ่งรัสเซียไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอยู่แล้ว
แต่การออกหมายจับนี้อาจส่งผลกระทบต่อประธานาธิบดีปูตินในด้านอื่น เช่น ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้
ทั้งนี้ นอกจากสหรัฐฯ และรัสเซียแล้ว ยังมีประเทศอื่นๆ อีกหลายชาติที่ไม่ได้ให้การยอมรับขอบเขตอำนาจของศาลไอซีซี ในนั้นรวมจีน อินเดีย อิสราเอล ซาอุดีอาระเบีย และตุรกี
มาเรีย ชาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เขียนบนช่องเทเลแกรม แสดงความคิดเห็นในทางเดียวกันว่า หมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีความหมายใดๆ เลย "การตัดสินใจของศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีความหมายต่อประเทศของเรา ในนั้นรวมถึงจากมุมมองทางกฎหมาย"
"รัสเซียไม่ได้เป็นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ และไม่มีพันธสัญญาภายใต้ธรรมนูญดังกล่าว" ชาราโควา กล่าว
เช่นเดียวกับปูติน ทางมาเรีย ลโววา-เบโลวา คณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนเด็กของรัสเซีย ถูกทางศาลอาญาระหว่างประเทศกล่าวหาก่ออาชญากรรมสงคราม จากการขนย้ายโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเด็กๆ จากยูเครนไปรัสเซีย
"มันคงจะดีกว่าหากว่าประชาคมนานาชาติชื่นชมการทำงานของประเทศของเราในการช่วยเหลือเด็ก เราไม่ปล่อยให้พวกเขาอยู่ในเขตสงคราม เราพาพวกเขาออกมา เราสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับพวกเขา เราโอบกอดพวกเขาด้วยความรักและประชาชนผู้ห่วงใย" เธอกล่าวกับสถานีโทรทัศน์อาร์ไอที สื่อมวลชนแห่งรัฐ
รัสเซียลงนามในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศในปี 2000 แต่ไม่เคยให้สัตยาบันรับรองเป็นสมาชิกของไอซีซี และท้ายที่สุดแล้วก็ถอนการลงนามในปี 2016
ในช่วงเวลาดังกล่าว รัสเซียอยู่ภายใต้แรงกดดันของนานาชาติเกี่ยวกับการยึดครองและผนวกแคว้นไครเมียของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนฝ่ายเดียวในปี 2014 เช่นเดียวกับปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในซีเรีย เพื่อสนับสนุนสงครามของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด เล่นงานพวกนักรบฝ่ายตรงข้ามของผู้นำรายนี้
(ที่มา : อัล อราบิยาห์/เอเจนซี)