ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ออกหมายจับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ฐานก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครนเมื่อวันศุกร์ (17 มี.ค.) โดยกล่าวหาผู้นำรัสเซียว่าทำการส่งตัวเด็กๆ ยูเครนจำนวนมากออกนอกประเทศอย่างผิดกฎหมาย
ความเคลื่อนไหวนี้มีผลทำให้ระบบศาลใน 123 รัฐภาคีของไอซีซีจำเป็นต้องจับกุม ปูติน หากเขาเดินทางเข้าไปยังดินแดนของประเทศเหล่านั้น และจะต้องส่งตัวผู้นำรัสเซียไปยังศาลไอซีซีที่กรุงเฮกเพื่อทำการไต่สวนความผิด
มอสโกยังคงยืนกรานปฏิเสธข้อครหาที่ว่าทหารรัสเซียก่ออาชญากรรมสงครามและความรุนแรงตลอดระยะเวลา 1 ปีเศษที่ทำสงครามในยูเครน ขณะที่ทำเนียบเครมลินชี้ว่าคำสั่งของไอซีซีนั้น “เป็นโมฆะและไร้ผล”
รัสเซียและยูเครนต่างก็ไม่ได้เป็นรัฐภาคีของไอซีซีด้วยกันทั้งคู่ ทว่ารัฐบาลเคียฟได้มอบอำนาจให้ไอซีซีสามารถไต่สวนอาชญากรรมสงครามที่เกิดขึ้นในดินแดนยูเครนได้
ไอซีซีไม่มีหน่วยงานตำรวจเป็นของตนเอง และจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐภาคีในการควบคุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับ
ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน ระบุว่า รัฐบาลรัสเซียมองว่าข้อกล่าวหาที่ไอซีซีหยิบยื่นให้ ปูติน “เป็นสิ่งที่อุกอาจ และยอมรับไม่ได้” และเมื่อถามว่า ปูติน กลัวหรือไม่หากต้องเดินทางไปยังประเทศที่เป็นรัฐภาคีไอซีซี? เปสคอฟ ก็ตอบสั้นๆ ว่า “ไม่มีอะไรจะกล่าวเพิ่มเติม”
สตีเฟน แรปป์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯฝ่ายอาชญากรรมสงครามในรัฐบาล บารัค โอบามา ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า คำสั่งศาลไอซีซีกำลังทำให้ ปูติน “กลายเป็นคนที่สังคมรังเกียจ (pariah) หากเดินทางไปไหนก็เสี่ยงที่จะถูกจับ และคำสั่งนี้จะไม่หายไปไหน รัสเซียจะไม่มีทางหลุดพ้นจากการถูกคว่ำบาตร หากยังไม่ปฏิบัติตามหมายจับ”
ปูติน ถือเป็นผู้นำประเทศในตำแหน่งคนที่ 3 ของโลกที่โดยหมายจับของศาลไอซีซี ถัดจากประธานาธิบดี โอมาร์ อัล-บาชีร์ แห่งซูดาน และมูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำลิเบีย
หมายจับของไอซีซีตั้งอยู่บนข้อสงสัยที่ว่า ปูติน อยู่เบื้องหลังการบังคับส่งตัวเด็กๆ และพลเมืองออกจากดินแดนยูเครนไปยังรัสเซียอย่างผิดกฎหมาย นับตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. ปี 2022 เป็นต้นมา
“เด็กชาวยูเครนหลายร้อยคนถูกส่งตัวออกจากสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าและบ้านเด็กไปยังรัสเซีย” การิม ข่าน หัวหน้าอัยการของไอซีซีระบุในคำแถลงวานนี้ (17) “และเราเชื่อว่าเด็กๆ จำนวนมากถูกส่งไปอยู่ในความดูแลของครอบครัวอุปถัมภ์ในรัสเซีย”
“การกระทำเหล่านี้บ่งชี้ถึงเจตนาที่จะทำให้เด็กๆ ถูกตัดขาดจากประเทศบ้านเกิดของพวกเขาอย่างถาวร และในขณะที่มีการส่งตัวเกิดขึ้น เด็กยูเครนเหล่านี้ถือเป็นบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4”
ศาลไอซีซียังได้ออกหมายจับ มาเรีย ลโววา-เบโลวา (Maria Lvova-Belova) กรรมาธิการฝ่ายสิทธิเด็กของรัสเซียด้วยข้อหาเดียวกัน โดยเธอได้ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อ RIA ด้วยน้ำเสียงประชดประชันว่า “ยอดเยี่ยมจริงๆ ที่ประชาคมโลกรู้สึกซาบซึ้งกับงานช่วยเหลือเด็กๆ ในประเทศของเรา”
รัฐบาลยูเครนอ้างว่ามีเด็กกว่า 16,000 คนถูกบังคับส่งตัวไปยังรัสเซีย หรือดินแดนยูเครนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซียอย่างผิดกฎหมาย
ที่มา : รอยเตอร์