เอเอฟพี – ที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเปิดประชุมในวันจันทร์ (27 ก.พ.) ท่ามกลางเสียงเรียกร้องความเป็นเอกภาพเพื่อร่วมกันประณามรัสเซียและขยายการสอบสวนอาชญากรรมสงครามในยูเครน
หลังจากสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในนิวยอร์กลงมติท่วมท้นเรียกร้องรัสเซียถอนทหารออกจากยูเครนทันทีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นที่คาดว่า สงครามยูเครนจะเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมประจำปีคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนในเจนีวาที่เริ่มต้นขึ้นในวันจันทร์
ไซมอน แมนลีย์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำยูเอ็น กล่าวเมื่อวันศุกร์ (24 ก.พ.) ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปีที่รัสเซียรุกรานยูเครนว่า การประชุมครั้งนี้ควรแสดงให้เห็นว่า โลกยืนหยัดเคียงข้างยูเครนเหมือนเช่นที่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แสดงให้เห็นไปแล้ว
การประชุมนี้ที่จะยาวนานถึง 6 สัปดาห์ จะเป็นการประชุมครั้งแรกภายใต้การนำของโวลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็นคนใหม่
แอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็น จะกล่าวปราศรัยในวันแรก ขณะที่รัฐมนตรีและประมุข รวมทั้งตัวแทนรัฐบาลจากเกือบ 150 ประเทศจะปราศรัยในที่ประชุมหรือปราศรัยเสมือน ในช่วง 4 วันแรกที่เป็นการประชุมของเจ้าหน้าที่ระดับสูง ซึ่งจะรวมถึงนักการทูตระดับสูงของอเมริกา จีน ยูเครน และอิหร่าน ด้านมอสโกจะส่งเซียร์เก ยาบคอฟ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ ปราศรัยในที่ประชุมในวันพฤหัสบดี (2 มี.ค.)
แม้มีเสียงเรียกร้องจากองค์กรพัฒนาเอกชน แต่ผู้สังเกตการณ์ระบุว่า ไม่มีแนวโน้มที่นักการทูตจำนวนมากจะวอล์กเอาต์ออกจากที่ประชุมเหมือนปีที่แล้วตอนที่ที่ประชุมเปิดวิดีโอการปราศรัยของเซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย อย่างไรก็ตาม นักการทูตหลายคนชี้ว่า อาจมีการใช้มาตรการอื่นเพื่อแสดงการต่อต้านรัสเซีย
เยฟเฮเนีย ฟิลิเปนโก เอกอัครราชทูตยูเครนประจำยูเอ็นกล่าวว่า เคียฟเชื่อว่า รัสเซียไม่คู่ควรเข้าร่วมการประชุมและจะต่อต้าน ส่วนประเด็นสิทธิมนุษยชนที่จะมีการหารือในที่ประชุมยังรวมถึงสถานการณ์ในอิหร่าน อัฟกานิสถาน พม่า ซีเรีย อิสราเอล เอธิโอเปีย และอีกหลายประเทศ
หนึ่งในญัตติสำคัญในที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็นคือ การขยายการตรวจสอบอาชญากรรมสงครามในยูเครนนับจากรัสเซียเปิดฉากบุกเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว
คณะกรรมการไต่สวนที่วินิจฉัยแล้วว่า รัสเซียก่ออาชญากรรมสงครามอย่างกว้างขวางในยูเครน มีกำหนดนำเสนอรายงานที่ครอบคลุมต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนปลายเดือนมีนาคม
ฟิลิเปนโกกล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า คณะกรรมการไต่สวนต้องดำเนินภารกิจนี้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อหลักการที่น่าเชื่อถือและเป็นธรรม และเสริมว่า ยูเครนไม่เพียงผลักดันให้ขยายการตรวจสอบเท่านั้น แต่ยังต้องการให้คณะกรรมการไต่สวนมีอำนาจมากขึ้น และยืนยันว่า ควรเปิดเผยพัฒนาการหลายอย่างที่เกิดขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม มีความกังวลกันว่า การใช้ถ้อยคำที่แข็งกร้าวขึ้นอาจส่งผลต่อการออกเสียงของสมาชิก 47 ชาติ และบ่อนทำลายความพยายามในการแสดงความเป็นเอกภาพของคณะมนตรีฯ เพื่อต่อต้านการกระทำของรัสเซีย
เมื่อปีที่แล้ว สมาชิก 32 ชาติสนับสนุนให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวน มีเพียงรัสเซียและเอริเทรียที่คัดค้าน และ 13 ประเทศงดออกเสียง