บรรดาธนาคารรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดี (16 มี.ค.) เคลื่อนไหวเข้าพยุงอัดฉีดเฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ คลายความกังวลว่าสถาบันการเงินระดับภูมิภาคแห่งนี้อาจกลายเป็นโดมิโนตัวต่อไปที่ล้มลง ตามหลังการพังครืนของซิลลิคอน แวลลีย์ แบงก์ (เอสวีบี)
กลุ่มธนาคารเอกชนของสหรัฐฯ 11 แห่ง ในนั้นรวมถึงแบงก์ออฟอเมริกา ซิตีกรุ๊ป และเจพีมอร์แกน เชส แถลงว่าจะฝากเงิน 30,000 ล้านดอลลาร์ เข้าสู่ธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ ความเคลื่อนไหวนี้ที่ริเริ่มโดยบรรดาสถาบันการเงินทั้งหลายจะช่วยเสริมความเข้มแข็งแกร่งแก่ระบบ ตามหลังการพังครืนของธนาคารขนาดกลาง 3 แห่ง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
"ความเคลื่อนไหวนี้ของบรรดาธนาคารรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ สะท้อนว่าพวกเขาเชื่อมั่นในเฟิร์สท์ รีพับลิก และในธนาคารทุกขนาด" ทางกลุ่มธนาคารระบุในถ้อยแถลงร่วม "ด้วยความร่วมมือกัน เร่ากำลังใช้ความเข้มแข็งของระบบการเงินของเรา อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบที่กว้างกว่าเดิม ซึ่งมีความจำเป็นมากที่สุด"
หุ้นของเฟิร์สท์ รีพับลิก แกว่งตัวจากแดนลบในช่วงต้นการซื้อขาย พุ่งขึ้นมาปิดบวกอย่างแข็งแกร่งมากกว่า 9% ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดี (16 มี.ค.) ตามหลังมีข่าวว่าพวกเขาได้รับเงินอัดฉีดจากสถาบันการเงินรายใหญ่ที่สุดของประเทศบางแห่ง
"นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าแรงสนับสนุนจากกลุ่มธนาคารยักษ์ใหญ่ได้รับการตอบรับที่ดีมาก และแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของระบบธนาคาร" บรรดาผู้นำของกระทรวงการคลัง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) บรรษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลสหรัฐฯ และ สำนักงานควบคุมเงินตราสหรัฐฯ ระบุในถ้อยแถลงร่วม
แบงก์ออฟอเมริกา ซิตีกรุ๊ป เจพีมอร์แกน เชส และเวลส์ ฟาร์โก จะใส่เงินฝากแบบไม่มีประกัน ธนาคารละ 5,000 ล้านดอลลาร์ เข้าสู่ เฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ ส่วนโกลด์แมน และ มอร์แกน สแตนลีย์ จะใส่เข้าไปธนาคารละ 2,500 ล้านดอลลาร์
ส่วนกลุ่มสถาบันการเงินอื่นๆ อีก 5 แห่ง ในนั้นรวมถึงพีเอ็นซี แบงก์ และยูเอส แบงก์ เจียดเงินเข้าไปธนาคารละ 1,000 ล้านดอลลาร์
จิม เฮอร์เบิร์ต ผู้ก่อตั้งเฟิร์สท์ รีพับลิก และ ไมค์ รอฟเฟลอร์ ซีอีโอ ระบุว่า "ส่วนรวมช่วยสนับสนุนความเข้มแข็งแกร่งสถานะทางสภาพคล่องของเรา และมันคือการโหวตไว้วางใจต่อ เฟิร์สท์ รีพับลิก และระบบธนาคารสหรัฐฯ ทั้งมวล"
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นตามหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ และคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบอื่นๆ ของอเมริกาได้ใช้มาตรการฉุกเฉินต่างๆ ในคืนวันอาทิตย์ (12 มี.ค.) รับประกันเงินฝากทั้งหมดของ 2 ธนาคารที่พังครืนได้แก่ ซิลลิคอน แวลลีย์ แบงก์ (เอสวีบี) และซิกเนเจอร์ แบงก์
เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (10 มี.ค.) การล่มสลายของเอสวีบี โหมกระพือความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่ลุกลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความวิตกว่าอาจมีธนาคารอื่นๆ เพิ่มเติมได้รับความเจ็บปวดจากภาวะประชาชนแห่ถอนเงิน
วิกฤตนี้ยังแผ่ลามไปยุโรป โดยธนาคารกลางของสวิตเซอร์แลนด์ ต้องเข้าแทรกแซงเพื่อสนับสนุนธนาคารเครดิต สวิส หลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันเกี่ยวกับสถานะทางการเงิน
เฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ ซึ่งก่อตั้งในปี 1985 ถือเป็นธนาคารใหญ่ที่สุดลำดับ 14 ของสหรัฐฯ หากนับตามสินทรัพย์ มีเงินทุน 212,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วงสิ้นปี 2022 นอกจากเหนือมีสำนักงานใหญ่ในซานฟรานซิสโกแล้ว สถาบันการเงินแห่งนี้ยังประกอบกิจการในแถบอีสต์โคสต์ ในนั้นรวมถึงนิวยอร์กและฟลอริดา เช่นเดียวกับรัฐต่างๆ ทางตะวันตกของประเทศ เช่น วอชิงตัน และไวโอมิง
(ที่มา : เอเอฟพี)