“ติ๊กต็อก” ยืนยันได้รับคำขู่จากรัฐบาลสหรัฐฯ ให้แยกตัวจากไบต์แดนซ์ ผู้เป็นบริษัทแม่ในจีน ไม่เช่นนั้นอาจถูกแบนในอเมริกา อย่างไรก็ดี โฆษกบริษัทแจงว่า วิธีนี้ไม่ได้ช่วยไขปัญหาความเสี่ยงด้านความมั่นคงที่วอชิงตันกังวล นอกจากนั้นยังไม่ชัดเจนว่า จีนจะยอมให้ไบแดนซ์ขายหุ้นแอปวิดีโอสั้นยอดฮิตนี้หรือไม่ และการแบนติ๊กต็อกอาจทำให้คณะบริหารของไบเดนเผชิญผลลัพธ์ทางการเมืองเนื่องจากหนุ่มสาวอเมริกันเป็นหลายสิบล้านต่างชื่นชอบแอปนี้
ติ๊กต็อก แอปแชร์วิดีโอของไบต์แดนซ์ บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีน กำลังถูกกล่าวหาจากพวกนักการเมืองในสหรัฐฯว่า เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของอเมริกา จากการที่แอปนี้มีการรวบรวมข้อมูลผู้ใช้นับล้าน โดยปัจจุบัน ติ๊กต็อกมีผู้ใช้ในอเมริกากว่า 100 ล้านราย
บีบีซีนิวส์และเอเอฟพีต่างรายงานว่า ได้รับการยืนยันจากติ๊กต็อกเกี่ยวกับการถูกขอให้เปลี่ยนตัวเจ้าของ หลังจากเรื่องนี้มีการรายงานข่าวครั้งแรกในวอลล์สตรีท เจอร์นัล สื่อทรงอิทธิพลของสหรัฐฯ บริษัทแห่งนี้ยังบอกว่า การบังคับขายไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับการเข้าถึงหรือการไหลของข้อมูลแต่อย่างใด
ทางด้านทำเนียบขาวยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นตามที่บีบีซีนิวส์ร้องขอไป
ช่วงหลายปีมานี้ พวกเจ้าหน้าที่อเมริกาแสดงความกังวลว่า ข้อมูลจากแอปติ๊กต็อกที่ได้รับความนิยมทั่วโลก อาจตกไปอยู่ในมือรัฐบาลจีน
ตามรายงานของวอลล์สตรีทเจอร์นัล คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต้องการให้ไบต์แดนซ์ถอนทุนจากติ๊กต็อกเพื่อความชัดเจนว่า แอปยอดนิยมนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวพันกับจีน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่คณะบริหารชุดนี้ขู่แบนติ๊กต็อก
สื่อดังของอเมริกาสำทับว่า คณะกรรมาธิการการลงทุนของต่างชาติในอเมริกา (ซีเอฟไอยูเอส) ที่รับผิดชอบความเสี่ยงด้านความมั่นคงแห่งชาติ แนะนำอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ไบแดนซ์ถอนทุนจากติ๊กต็อก
บรูค โอเบอร์เว็ตเตอร์ โฆษกของติ๊กต็อกเปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า เมื่อเร็วๆ นี้บริษัทได้รับการติดต่อจากซีเอฟไอยูเอสจริง และคณะกรรมาธิการชุดนี้เรียกร้องให้ไบต์แดนซ์ขายหุ้นในติ๊กต็อก หรือเสี่ยงให้ติ๊กต็อกถูกแบนในอเมริกา
ไบต์แดนซ์นั้นยืนยันว่า หุ้น 60% ของบริษัทเป็นของนักลงทุนทั่วโลก, 20% เป็นของพนักงาน และอีก 20% เป็นของผู้ก่อตั้ง
โฆษกผู้นี้ยังกล่าวอีกว่า ถ้าเป้าหมายของอเมริกาคือความมั่นคงของชาติ การถอนทุนไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา เนื่องจากการเปลี่ยนเจ้าของจะไม่มีการกำหนดข้อจำกัดใหม่เกี่ยวกับการเข้าถึงหรือการไหลของข้อมูล แต่วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขข้อกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติคือ การปกป้องข้อมูลผู้ใช้และระบบในอเมริกาอย่างโปร่งใสด้วยการตรวจสอบและรับรองจากบุคคลที่สาม
การขู่แบนติ๊กต็อกเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2020 สมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงแรกๆ คณะบริหารของไบเดนไม่ได้ติดตามกดดันเรื่องนี้ต่อ แต่ยังคงมองเครือข่ายโซเชียลติดลบเช่นเดียวกัน
ติ๊กต็อกนั้นเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ใช้จำนวนมาก เช่นเดียวกับแอปสื่อสังคมของบริษัทอเมริกันเองอย่าง อินสตาแกรมและทวิตเตอร์ และสามารถดึงข้อมูลไบโอเมตริกจากผู้ใช้ และมีช่องทางเข้าถึงข้อมูลตำแหน่งที่ตั้ง และสิ่งที่วอชิงตันกลัวก็คือ บริษัทอาจส่งข้อมูลเหล่านั้นให้รัฐบาลจีน
ทว่า ติ๊กต็อกเผยว่า ได้พยายามย้ายข้อมูลในอเมริกาทั้งหมดไปไว้ในอเมริกาอันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการริเริ่มที่ชื่อว่า โปรเจ็กต์ เทกซัส ซึ่งบริษัทยังมีแผนเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป
ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังจากสัปดาห์ที่แล้วทำเนียบขาวประกาศให้การสนับสนุนร่างกฎหมายใหม่ที่เสนอโดยวุฒิสมาชิกกว่า 10 คน ซึ่งจะเพิ่มอำนาจประธานาธิบดีในการสั่งแบนติ๊กต็อกและบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ของต่างชาติ หากเห็นว่า เป็นความเสี่ยงด้านความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกา
ปัจจุบัน ติ๊กต็อกถูกห้ามใช้ในโทรศัพท์ของหน่วยงานรัฐบาลของอเมริกา แคนาดา และสหภาพยุโรป (อียู)
โซว จื่อโจว ประธานบริหารติ๊กต็อก มีกำหนดเข้าให้การต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีความชัดเจนว่า รัฐบาลจีนจะยอมให้ไบต์แดนซ์ขายหุ้นติ๊กต็อกหรือไม่
นอกจากนี้ การแบนของอเมริกายังต้องฝ่าฟันอุปสรรคด้านกฎหมาย และแนวโน้มผลลัพธ์ทางการเมือง เนื่องจากติ๊กต็อกได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่หนุ่มสาวอเมริกันนับสิบๆ ล้าน
(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, บีบีซี)