xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส.มะกันเผยเคียฟกดดันทำเนียบขาว ขอคลัสเตอร์บอมบ์ใช้ต่อกรทัพรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - ยูเครนเพิ่มรายการคำขอจากพันธมิตร ครั้งนี้เป็นอาวุธต้องห้ามคลัสเตอร์บอมบ์ หรือระเบิดลูกปรายของอเมริกา อย่างไรก็ดี มีแนวโน้มว่าคณะบริหารของไบเดนอาจไม่เห็นด้วยกับคำขอนี้

สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ 2 คนเปิดเผยว่า เคียฟเรียกร้องให้สมาชิกคองเกรสกดดันทำเนียบขาวให้อนุมัติการจัดส่งอาวุธดังกล่าวให้ยูเครน แต่ไม่ได้หมายความว่า คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะเห็นด้วย เนื่องจากระเบิดลูกปรายที่ถูกแบนในกว่า 120 ประเทศ จะปล่อยระเบิดลูกเล็กๆ ออกมาจำนวนมากซึ่งมีอำนาจการโจมตีในวงกว้างจึงอาจทำให้พลเรือนถูกลูกหลงล้มตายจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังมีอัตราการล้มเหลวสูง

เจสัน โครว์ และอดัม สมิธ สมาชิกคณะกรรมาธิการการทหารของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เผยว่า ยูเครนกำลังร้องขอเอ็มเค-20 หรือที่เรียกอีกอย่างว่า ซีบียู-100 ซึ่งเป็นคลัสเตอร์บอมบ์ที่ปล่อยจากอากาศ โดยมีแผนใช้โดรนในการปล่อยระเบิดนี้ เพิ่มเติมจากก่อนหน้านี้ที่ขอกระสุนลูกปรายสำหรับปืนใหญ่อัตตาจรขนาด 155 มม.

ทั้งคู่เพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ยูเครนร้องขอให้สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ กดดันทำเนียบขาวให้อนุมัติการจัดส่งอาวุธเหล่านี้ระหว่างการประชุมความมั่นคงที่มิวนิกเมื่อเดือนที่แล้ว

ยูเครนนั้นหวังว่า คลัสเตอร์บอมบ์จะช่วยให้ตนเองได้เปรียบในการต่อสู้กับกองกำลังรัสเซียทางตะวันออกของยูเครน ซึ่งรัฐบาลเคียฟประกาศโจ่งแจ้งว่า ต้องการกระสุนลูกปราย แต่ไม่เคยมีข่าวมาก่อนว่า ยูเครนร้องขอเอ็มเค-20 ที่เป็นระเบิดแบบปล่อยจากเครื่องบินหรือโดรน และสามารถปล่อยกระสุนย่อย หรือลูกระเบิดที่มีลักษณะเหมือนลูกดอกมากกว่า 240 ลูก

ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมยูเครนยังไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ ขณะที่โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวว่า แม้ยูเครนและทำเนียบขาวร่วมมือกันใกล้ชิดเกี่ยวกับความช่วยเหลือทางทหาร แต่เธอยังไม่มีข้อมูลใหม่ๆ มาประกาศในขณะนี้

ยูเครนต้องการกระสุนปืนใหญ่ Dual-Purpose Conventional Improved Munitions (ดีพีไอซีเอ็ม) ซึ่งภายในกระสุนแต่ละนัดสามารถปล่อยกระสุนย่อยออกมา 88 นัด เพื่อหยุดการโจมตีแบบคลื่นมนุษย์ของรัสเซียที่ใช้ในการโจมตีเมืองบัคมุตทางตะวันออกมานานแรมเดือน

กองทัพยูเครนเชื่อว่า กระสุนย่อยเหล่านี้สามารถเจาะเกราะได้ดีกว่าอาวุธอื่นๆ ที่ทิ้งจากโดรน

ทั้งนี้ การที่ต้องต่อสู้กับศัตรูที่ได้เปรียบกว่าทั้งด้านกำลังพลและอาวุธ ยูเครนจึงเลือกใช้โดรนเพื่อการสอดแนมและทิ้งระเบิดโจมตีกองกำลังรัสเซีย

โครว์ สมาชิกพรรคเดโมแครต และอดีตทหารของกองทัพสหรัฐฯ บอกว่า เขาอาจสนับสนุนการจัดส่งเอ็มเค-20 หากรัสเซียรับรองว่าจะถอดระเบิดลูกเล็กออกและไม่ใช้ระเบิดลูกปราย

แม้เท็กซ์ตรอน ซิสเต็มส์ คอร์เปอเรชันยุติการผลิตเอ็มเค-20 ตั้งแต่ปี 2016 หลังจากอเมริการะงับการขายอาวุธนี้ให้ซาอุดีอาระเบีย ทว่า ผู้ช่วยในรัฐสภาสหรัฐฯ คนหนึ่งเผยว่า กองทัพอเมริกายังมีเอ็มเค-20 ในคลังแสงกว่า 1 ล้านลูก อีกทั้งบอกว่า เจ้าหน้าที่ยูเครนล็อบบี้สมาชิกคองเกรสในวอชิงตันเป็นการส่วนตัวให้ช่วยกดดันทำเนียบขาว อย่างไรก็ตาม สมิธเชื่อว่า คณะบริหารของไบเดนจะไม่เห็นด้วยกับคำขอนี้

นับจากความขัดแย้งเริ่มต้นขึ้น ยูเครนร้องขออาวุธหลายชนิดที่อเมริกามักปฏิเสธในตอนต้น แต่ส่วนใหญ่อนุมัติให้ในภายหลัง ในจำนวนนี้รวมถึงระบบยิงขีปนาวุธหลายลำกล้อง HIMARS ระบบต่อต้านขีปนาวุธแพทริออต และรถถังเอบรามส์ แต่คลัสเตอร์บอมบ์อาจเป็นคำขอที่มากเกินไปสำหรับคณะบริหารและสมาชิกคองเกรสบางคน

ข้อตกลงปี 2008 ห้ามการผลิต ใช้ และจัดเก็บกระสุนลูกปราย ได้รับการรับรองโดย 123 ประเทศที่รวมถึงสมาชิกส่วนใหญ่จากทั้งหมด 28 ชาติขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) แต่อเมริกา รัสเซีย และยูเครน ปฏิเสธการเข้าร่วม

อย่างไรก็ตาม สมาชิกคองเกรสบางคน ซึ่งส่วนใหญ่สังกัดพรรครีพับลิกัน สนับสนุนคำขอของยูเครน เช่น วุฒิสมาชิกลินด์ซีย์ เกรแฮม ที่ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า ยูเครนเสียเปรียบด้านกำลังพล และกระสุนลูกปรายสามารถทำลายล้างในวงกว้าง รวมถึงเจาะเกราะ และยูเครนจะนำอาวุธนี้ไปใช้ในบริเวณที่ไม่มีพลเรือน

ทั้งนี้ จากรายงานข่าวและข้อมูลของกลุ่มสิทธิมนุษยชนนั้น ยูเครนและรัสเซียต่างใช้อาวุธประเภทนี้นับจากที่รัสเซียเข้ายึดดินแดนของยูเครนครั้งแรกในปี 2014
กำลังโหลดความคิดเห็น