รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศวันนี้ (6 มี.ค.) ว่าบริษัทเอกชนเสนอที่จะจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้แก่พลเมืองซึ่งเคยถูกญี่ปุ่นบังคับใช้แรงงานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยหวังว่ามาตรการนี้จะช่วยยุติข้อพิพาทซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างทั้ง 2 ประเทศมานานหลายทศวรรษ
ข้อเสนอดังกล่าวได้รับเสียงชื่นชมจากรัฐบาลโตเกียว แต่ถูกพรรคฝ่ายค้านเกาหลีใต้และอดีตแรงงานทาสบางคนออกมาวิจารณ์ทันทีว่าเป็นการ “อ่อนข้อ” ให้แก่ญี่ปุ่น
เรื่องแรงงานทาส และผู้หญิงที่ถูกบังคับให้ทำงานบำเรอกามแก่ทหารญี่ปุ่น หรือ “สตรีเพื่อการผ่อนคลาย” ถือเป็นปมปัญหาที่บั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติพันธมิตรใหญ่ของสหรัฐฯ มานานหลายสิบปี และล่าสุดประธานาธิบดี ยุน ซุกยอล แห่งเกาหลีใต้ประกาศว่า รัฐบาลของเขาจะ “แก้ไข” เรื่องนี้เพื่อฟื้นฟูความร่วมมือกับญี่ปุ่น
ภายใต้แผนดังกล่าว รัฐบาลเกาหลีใต้จ่ายเงินชดเชยให้แก่อดีตแรงงานทาสผ่านทาง “มูลนิธิสาธารณะ” (public foundation) ที่มีบริษัทเอกชนหลายแห่งให้การสนับสนุน
“ความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้อีกต่อไป และเราจำเป็นที่จะต้องหยุดวงจรนี้เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน” พัค จิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้แถลง พร้อมแสดงความคาดหวังว่าญี่ปุ่นคงจะ “ตอบสนองอย่างจริงใจ” ด้วยการ “แสดงความสำนึกผิดและขออภัย” ตามที่ได้เคยประกาศเอาไว้
นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่น ระบุว่ารู้สึก “ยินดี” กับข้อเสนอของเกาหลีใต้ และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับ ยุน อย่างใกล้ชิดต่อไป
โยชิมาสะ ฮายาชิ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ยืนยันว่าบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น “จะไม่ถูกบังคับ” ให้ต้องจ่ายเงินชดเชยภายใต้แผนของเกาหลีใต้ แต่หากเอกชนรายใดมีความประสงค์ที่จะ “บริจาคเงิน” โดยสมัครใจก็สามารถกระทำได้
ข้อพิพาทระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นปัญหาที่สร้างความกังวลต่อสหรัฐฯ ซึ่งอยากจะให้ชาติพันธมิตรทั้งสองจับมือกันให้เหนียวแน่นขึ้น เพื่อต่อต้านการสยายอิทธิพลของ “จีน” และภัยคุกคามจากโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ระบุว่า ถ้อยแถลงจากผู้นำของทั้ง 2 ชาติถือเป็น “การพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่แห่งความร่วมมือและการเป็นหุ้นส่วนระหว่าง 2 ชาติพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของสหรัฐฯ” และเป็น “ย่างก้าวสำคัญที่จะช่วยสร้างอนาคตที่ปลอดภัย มั่นคง และเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นให้แก่ประชาชนชาวเกาหลีใต้และญี่ปุ่น”
แหล่งข่าวใกล้ชิดนายกฯ ญี่ปุ่นยอมรับกับสื่อมวลชนว่า สหรัฐฯ มีส่วนสำคัญในการโน้มน้าวให้ทั้ง 2 ชาติ “ปรองดอง” กันก็จริง ทว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ ยุน ยอมประนีประนอมกับญี่ปุ่นก็คือภัยคุกคามทางภูมิรัฐศาสตร์จากเกาหลีเหนือ
อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ได้จุดกระแสประท้วงทันทีจากกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะเหยื่อและครอบครัวซึ่งมองว่าเงินเยียวยาเหล่านี้ไม่ได้มาจากบริษัทญี่ปุ่นซึ่งถูกศาลเกาหลีใต้พิพากษาให้ต้องจ่ายเงินชดเชยแก่พวกเขา
“นี่คือชัยชนะอย่างเด็ดขาดสำหรับญี่ปุ่นซึ่งประกาศเรื่อยมาว่า พวกเขาจะไม่ยอมชดเชยให้กับเหยื่อแรงงานทาสแม้แต่เยนเดียว” ลิม แจซุง ทนายความซึ่งเป็นตัวแทนเหยื่อหลายราย แถลงผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันอาทิตย์ (5)
ด้านพรรคเดโมเครติก ปาร์ตี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักของเกาหลีใต้ ก็ออกมาประณามแผนการนี้ว่าเป็น “การยอมแพ้ทางการทูต”
“มันเป็นวันที่น่าอับอาย” อัน โฮยัง โฆษกพรรคระบุ “บริษัทญี่ปุ่นซึ่งพัวพันการก่ออาชญากรรมสงครามได้รับการผ่อนผันโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย ส่วนรัฐบาลญี่ปุ่นก็สามารถจบปัญหาได้ด้วยการออกมากล่าวคำพูดเดิมๆ”
สำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้อ้างแหล่งข่าวในรัฐบาลซึ่งระบุว่า โซลและโตเกียวยังบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นที่จะจัดตั้ง “กองทุนเยาวชนเพื่ออนาคต” (future youth fund) ขึ้นมาต่างหาก เพื่อมอบทุนการศึกษาที่มาจากบริษัทเอกชนของทั้ง 2 ประเทศ
มิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสตรีส์ (Mitsubishi Heavy Industries) และนิปปอน สตีล คอร์ป (Nippon Steel Corp) ซึ่งเป็น 2 บริษัทญี่ปุ่นที่ถูกศาลเกาหลีใต้พิพากษาให้ต้องจ่ายเงินชดเชยแก่เหยื่อแรงงานทาส ยังไม่ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้
ทั้ง 2 บริษัทยืนยันเรื่อยมาว่า ปัญหาแรงงานทาสได้รับการแก้ไขจน “จบ” ไปแล้ว ตั้งแต่ตอนที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตสู่ระดับปกติในปี 1965
ศาลสูงสุดเกาหลีใต้ตัดสินเมื่อปี 2018 ให้บริษัทญี่ปุ่นจ่ายเงินชดเชยแก่ชาวเกาหลีใต้ 15 คนที่ถูกบังคับใช้แรงงานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งคำพิพากษานี้ส่งผลให้ความสัมพันธ์เกาหลีใต้-ญี่ปุ่นตกต่ำสุดในรอบหลายสิบปี
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้โจทก์ทั้ง 15 คนที่ชนะคดีก็ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาแม้แต่เยนเดียว
ที่มา : รอยเตอร์