รอยเตอร์ - อเมริกาหยั่งเสียงพันธมิตรเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการแซงก์ชันจีน หากปักกิ่งให้การสนับสนุนทางทหารแก่รัสเซียในการทำสงครามยูเครน
การหารือนี้ที่ยังอยู่ในขั้นต้น มีจุดประสงค์ในการระดมการสนับสนุนจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติสมาชิกจี7 เพื่อร่วมออกมาตรการจำกัดที่เป็นไปได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนว่าวอชิงตันจะเสนอมาตรการแซงก์ชันที่เฉพาะเจาะจงแบบใด อีกทั้งไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดการหารือก่อนหน้านี้
ทั้งทำเนียบขาว และกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการออกมาตรการแซงก์ชัน ต่างปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น
ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา วอชิงตันและพันธมิตรระบุว่า จีนกำลังพิจารณาจัดหาอาวุธให้รัสเซีย ขณะที่ปักกิ่งปฏิเสธ และเหล่าผู้ช่วยของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ไม่เคยเปิดเผยหลักฐานการกล่าวหานี้เลย
อเมริกายังเตือนจีนโดยตรงไม่ให้จัดหาอาวุธให้รัสเซีย ซึ่งรวมถึงระหว่างที่ไบเดนพบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง รวมทั้งการพบปะระหว่างแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กับหวัง อี้ นักการทูตระดับสูงของจีนที่นอกการประชุมความมั่นคงโลกที่มิวนิก
แหล่งข่าววงในเผยว่า ขั้นตอนแรกที่คณะบริหารของไบเดนดำเนินการเพื่อตอบโต้การสนับสนุนรัสเซียของจีนรวมถึงการติดต่อในระดับเจ้าหน้าที่และการทูตอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งรวมถึงกระทรวงการคลัง โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศที่สนับสนุนมาตรการแซงก์ชันรัสเซียมากที่สุดได้ร่วมกันวางกรอบโครงสำหรับการดำเนินการที่เป็นไปได้กับจีน
เจ้าหน้าที่จากประเทศหนึ่งที่ร่วมหารือกับวอชิงตันเผยว่า อเมริกามีข้อมูลข่าวกรองน้อยมากที่เป็นหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหาที่ว่า จีนกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่รัสเซีย อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า ได้นำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับข่าวกรองให้แก่พันธมิตรแล้ว
นอกจากนั้น ยังคาดว่าบทบาทของจีนในสงครามยูเครนจะเป็นหนึ่งในประเด็นหารือระหว่างไบเดนกับนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ของเยอรมนีที่ทำเนียบขาวในวันศุกร์ (3 มี.ค.)
ก่อนถึงวันนั้น เหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศจากหลายสิบชาติ ซึ่งรวมถึงรัสเซีย จีน และอเมริกาจะหารือเกี่ยวกับสงครามยูเครนที่นิวเดลี ในวันพุธ (1 มี.ค.) และพฤหัสบดี (2 มี.ค.)
สัปดาห์ที่แล้ว จีนออกเอกสาร 12 ข้อเรียกร้องให้หยุดยิงอย่างครอบคลุม ทว่ายังเป็นที่เคลือบแคลงของตะวันตก
แหล่งข่าวเผยว่า การทาบทามเบื้องต้นของวอชิงตันเกี่ยวกับการแซงก์ชันยังไม่ได้นำไปสู่ข้อตกลงแบบครอบคลุมเกี่ยวกับมาตรการที่เฉพาะเจาะจงใดๆ
แหล่งข่าวรายหนึ่งระบุว่า เบื้องต้นนั้นคณะบริหารของสหรัฐฯ ต้องการระดมความคิดเกี่ยวกับมาตรการแซงก์ชันร่วมกันและทดสอบในกรณีที่ตรวจพบว่า จีนที่ประกาศเป็นพันธมิตรไร้ขีดจำกัดก่อนที่รัสเซียจะเปิดฉากรุกรานยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วนั้น จัดส่งอาวุธให้รัสเซีย
ความขัดแย้งในยูเครนได้นำไปสู่สงครามในสนามเพลาะ โดยขณะที่กระสุนของรัสเซียกำลังร่อยหรอลง ยูเครนและเหล่าผู้สนับสนุนพากันกลัวว่า หากได้รับการสนับสนุนจากจีน รัสเซียจะได้เปรียบในการรบ
ส่วนหนึ่งของความพยายามผลักดันทางการทูตคือ การที่วอชิงตันสามารถบรรจุถ้อยคำของตนเองในแถลงการณ์จี20 วันที่ 24 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปีสงครามยูเครน เพื่อเรียกร้องให้ประเทศที่สามยุติการสนับสนุนอาวุธในสงครามของรัสเซีย ไม่เช่นนั้นจะเผชิญผลลัพธ์ร้ายแรง
แม้แถลงการณ์ดังกล่าวไม่ได้เอ่ยชื่อจีน แต่อเมริกาได้ออกมาตรการลงโทษใหม่ต่อบุคคลและบริษัทที่ถูกกล่าวหาว่า ช่วยรัสเซียหลีกเลี่ยงมาตรการแซงก์ชัน มาตรการเหล่านั้นรวมถึงการจำกัดการส่งออกให้แก่บริษัทในจีนและประเทศอื่นๆ ที่จะขัดขวางไม่ให้บริษัทเหล่านั้นซื้อผลิตภัณฑ์ เช่น เซมิคอนดักเตอร์
แดเนียล คริเทนบริงก์ นักการทูตระดับสูงของอเมริกาด้านเอเชียตะวันออก กล่าวในรัฐสภาในสัปดาห์นี้ว่า อเมริกาพยายามส่งสัญญาณชัดเจนมากทั้งเตือนเป็นการส่วนตัวในมิวนิกและประกาศอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับความกังวลของอเมริกา นัยและผลลัพธ์หากมีการช่วยเหลือรัสเซีย และเชื่อว่า พันธมิตรหลายชาติกังวลเช่นเดียวกับอเมริกา
หนึ่งในความท้าทายที่สหรัฐฯ ต้องเผชิญในการพยายามผลักดันเพื่อแซงก์ชันจีน ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกคือ การดึงประเทศชั้นนำในยุโรปและเอเชียมาร่วมด้วย เนื่องจากพันธมิตรของอเมริกาตั้งแต่เยอรมนีจนถึงเกาหลีใต้ต่างระมัดระวังเกี่ยวกับการโดดเดี่ยวจีน
แอนโทนี รุกเกียโร ผู้เชี่ยวชาญด้านการแซงก์ชันในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า คณะบริหารของไบเดนสามารถส่งข้อความถึงจีนทั้งโดยส่วนตัวและอย่างเปิดเผยว่า อเมริกาจะขยายมาตรการแซงก์ชัน ซึ่งรวมถึงการพุ่งเป้าที่ธนาคารจีน ซึ่งอาจเป็นการปรามไม่ให้รัฐบาลและธนาคารของจีนให้การสนับสนุนเพิ่มเติม