xs
xsm
sm
md
lg

บลิงเคนตั้งความหวังทริปเยือนเอเชียกลาง เพิ่มการมีส่วนร่วม-บั่นทอนอิทธิพลรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - บลิงเคนมุ่งหน้าสู่เอเชียกลางพร้อมคาดหวังว่า การมีส่วนร่วมมากขึ้นของอเมริกาจะช่วยฟื้นความมั่นใจของประเทศในกลุ่มอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียตที่หวาดผวาจากสงครามยูเครน แม้อิทธิพลในอดีตของรัสเซียยังคงขวางกั้นระดับความร่วมมือระหว่างวอชิงตันกับประเทศเหล่านี้ก็ตาม

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จะหารือในคาซัคสถานในวันอังคาร (28 ก.พ.) ตามด้วยในอุซเบกิสถาน รวมทั้งพบกับรัฐมนตรีต่างประเทศ 5 ชาติอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียตในเอเชียกลาง ในกรุงอัสตานาของคาซัคสถาน

โดนัลด์ ลู่ นักการทูตระดับสูงของอเมริกาด้านเอเชียใต้และเอเชียกลาง เผยว่า อเมริกาตระหนักว่า 5 ชาติเหล่านั้นไม่มีแนวโน้มยุติความสัมพันธ์กับรัสเซียหรือเพื่อนบ้านคือจีน ที่กำลังแผ่ขยายอิทธิพลในบริเวณดังกล่าว แต่สำทับว่า บลิงเคนจะแสดงให้เห็นว่า อเมริกาเป็นหุ้นส่วนที่ไว้วางใจได้ ซึ่งแตกต่างจากมอสโกและปักกิ่ง โดยนอกเหนือจากการเกี่ยวพันทางเศรษฐกิจแล้ว วอชิงตันยังมีข้อเสนอที่มีคุณค่าอื่นๆ ด้วย

ทั้งนี้ หลังจากเดินทางทั่วโลกเพื่อระดมการสนับสนุนสำหรับยูเครนมาตลอดหนึ่งปีเต็ม นี่อาจเป็นภารกิจที่ละเอียดอ่อนที่สุดของบลิงเคน

นักการทูตและผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ผู้นำในเอเชียกลางต้องดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวังเนื่องจากมีข้อตกลงความมั่นคงกับมอสโก และอิทธิพลด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจของรัสเซียที่รวมถึงในฐานะจุดหมายปลายทางของผู้ใช้แรงงาน

ทั้ง 5 ชาติงดออกเสียงในญัตติของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่เรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารออกจากยูเครนเมื่อวันพฤหัสบดี (23 ก.พ.) หรือหนึ่งวันก่อนครบรอบ 1 ปีที่รัสเซียบุกยูเครน

เจนนิเฟอร์ บริก เมอร์ทาซาชวิลี ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียกลางของคาร์เนกี เอ็นดาวเมนต์ ฟอร์ อินเตอร์เนชันแนล พีซ และมหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์ก ชี้ว่า สำหรับอเมริกานั้นทุกอย่างในเอเชียกลางขณะนี้เป็นไปได้ทั้งสิ้น และเสริมว่า บรรดาผู้นำในภูมิภาคนี้ต้องการปลีกตัวจากรัสเซีย ซึ่งเธอเชื่อว่า เป็นเพราะประเทศเหล่านั้นตระหนักว่า รัสเซียเป็นภัยคุกคาม แต่ด้วยข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจึงไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ด้วยเหตุนี้ เมอร์ทาซาชวิลีจึงคิดว่ามีโอกาสอย่างแท้จริงที่อเมริกาจะพยายามเกี่ยวพันอย่างสร้างสรรค์กับผู้นำในเอเชียกลาง

คาซัคสถานซึ่งมีพรมแดนทางบกติดรัสเซียระยะทางไกลที่สุด เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความสัมพันธ์ซับซ้อนที่สุดกับมอสโก โดยทางคาซัคสถานคำนึงถึงสิทธิของคนรัสเซียซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน อ้างว่า การปฏิบัติต่อพลเรือนที่พูดภาษารัสเซียของเคียฟคือเหตุผลในการเปิดฉากบุกยูเครน

ปีที่แล้ว ประธานาธิบดีคัสซิม-โจมาร์ต โตคาเยฟของคาซัคสถาน ที่จะพบกับบลิงเคน เดินทางเข้าพบปูติน และยืนยันการเป็นพันธมิตรกับรัสเซีย ทว่า เมื่อไม่นานมานี้ เขาหารือกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน และเรียกร้องให้เปิดการเจรจายุติความขัดแย้งในยูเครนโดยอิงกับกฎหมายสากล และคาซัคสถานยังให้การต้อนรับชาวรัสเซียหลายหมื่นคนที่หนีการเกณฑ์ทหาร

ด้านประธานาธิบดีเอโมมาลี ราห์มอน ของทาจิกิสถาน สร้างความปั่นป่วนไปทั่วหลังจากวิดีโอที่เขาตำหนิปูติน และกล่าวหารัสเซียเพิกเฉยต่อผลประโยชน์ของเอเชียกลางระหว่างการประชุมภายในภูมิภาคเมื่อเดือนตุลาคมกลายเป็นไวรัล

ขณะเดียวกัน อเมริกามีความหวังด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นประเด็นที่กังวลมายาวนานในภูมิภาคนี้ที่ปกครองใต้ระบอบเผด็จการในอดีตที่ผ่านมา

ลู่หยิบยกกรณีที่ตำรวจในคาซัคสถานถูกกล่าวหาว่า ทรมานผู้ถูกจับกุมในเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อปีที่แล้ว และการล้มล้างแรงงานบังคับและแรงงานเด็กในการปลูกฝ้ายอย่างรวดเร็วในอุซเบกิสถาน

สงครามยูเครนไม่ใช่ครั้งแรกที่วิกฤตการณ์ระหว่างประเทศทำให้เอเชียกลางกลายเป็นที่สนใจของทั่วโลก

เริ่มจากตอนที่อุซเบกิสถานรับบทบาทนำในการสนับสนุนกองทัพอเมริกันในสงครามในอัฟกานิสถานที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศยุติในปี 2021

ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่เดินทางเยือนครั้งล่าสุดในปี 2020 ทำให้เอเชียกลางตีกรอบความสัมพันธ์กับปักกิ่ง ด้วยการเน้นย้ำข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนในซินเจียงของจีน

เมอร์ทาซาชวิลี ชี้ว่า อเมริกาผิดพลาดตรงที่มองเอเชียกลางเป็นภูมิภาคที่ไร้ความสำคัญ ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยกลยุทธ์ที่ตระหนักถึงคุณค่าการปกครองตนเองของผู้นำในภูมิภาคนี้ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญต่อสมดุลของรัสเซียและจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น