สหประชาชาติลงมติอย่างท่วมท้นในวันพฤหัสบดี (23 ก.พ.) ในนั้นมีไทยด้วย เรียกร้องรัสเซียถอนทหารออกจากยูเครนทันทีและไม่มีเงื่อนไข ท่ามกลางเสียงเรียกร้องสำหรับสันติภาพที่ยั่งยืน ในวาระครบรอบ 1 ปีของสงคราม
ยูเครนได้รับเสียงสนับสนุนอย่างเข้มแข็งในการลงมติแบบไม่มีข้อผูกพัน ที่พบเห็นสมาชิกสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ 141 ชาติ จากทั้งหมด 193 ชาติ ยกมือเห็นชอบ ส่วนที่คัดค้านมี 7 ประเทศ และงดออกเสียง 32 ชาติ ในนั้นรวมถึงจีน และอินเดีย
ไม่กี่ชั่วโมงก่อนถึงวาระครบรอบ 1 ปีของสงครามอันโหดร้ายป่าเถื่อน แรงสนับสนุนที่มีต่อเคียฟแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากการลงมติหนสุดท้ายเมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน โดยคราวนั้นมี 143 ชาติที่ร่วมลงมติประณามความเคลื่อนไหวของรัสเซีย ที่ผนวก 4 แคว้นของยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน
"วันนี้ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติส่งเสียงชัดเจนมาก" โจเซฟ บอร์เรล ประธานนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรปกล่าว "ผลโหวตนี้แสดงให้เห็นว่าประชาคมนานาชาติยืนหยัดเคียงข้างยูเครน"
การลงมติครั้งนี้มีขึ้นตามหลังการอภิปรายเป็นเวลา 2 วัน ซึ่ง ดมีโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน เรียกร้องประชาคมนานาชาติเลือกระหว่างความดีกับปีศาจ นอกจากนี้ เขายังปฏิเสธความคิดที่ว่าเคียฟได้รับแรงสนับสนุนจากตะวันตก สหภาพยุโรป สหรัฐฯและพันธมิตรหลักๆ เท่านั้น
"ผลของการลงมติเป็นสิ่งที่โต้แย้งคำกล่าวอ้างที่ว่าบรรดาประเทศซีกโลกใต้ไม่ได้ยืนหยัดอยู่ฝ่ายยูเครน เพราะว่าในวันนี้ ตัวแทนของหลายประเทศจากละตินอเมริกา แอฟริกาและเอเชียยกมือเห็นชอบ" คูเลบากล่าว "แรงสนับสนุนกว้างขวางขึ้น และมันจะมีแต่ความเป็นหนึ่งเดียวกันและความเป็นปึกแผ่นมากยิ่งขึ้น"
อันเดรีย์ เยอร์มัค หัวหน้าคณะทำงานของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน แสดงความขอบคุณทุกประเทศที่ยืนหยัดเพื่อยูเครน ในวาระครบรอบ 1 ปีของการรุกรานโดยปราศจากการยั่วยุของรัสเซีย
มตินี้เป็นการเน้นย้ำการสนับสนุนอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน ปฏิเสธคำกล่าวอ้างใดๆ ของรัสเซียที่อ้างว่าดินแดนที่อยู่ภายใต้การยึดครองเป็นส่วนหนึ่งในดินแดนของพวกเขา
นอกจากนี้ มันยังเรียกร้องให้สหพันธรัฐรัสเซียถอนทหารทันที โดยสิ้นเชิงและอย่างไม่มีเงื่อนไข ออกจากดินแดนของยูเครน ที่ได้รับการรับรองจากนานาชาติ และเรียกร้องขอให้หยุดความเป็นปรปักษ์
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่าผลการโหวตครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นว่ามอสโกกำลังถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ ในเวทีโลก หลังสงครามลากยาวมานาน 12 เดือน โดยพวกเขาได้รับแรงสนับสนุนจากเพียงแค่ 6 ชาติสมาชิกเท่านั้น อันประกอบด้วย เบลารุส ซีเรีย เกาหลีเหนือ มาลี นิการากัว และเอริเทรีย
แม้ได้รับแรงสนับสนุนอย่างจำกัด แต่ที่ผ่านๆ มา รัสเซียใช้อำนาจสิทธิในการวีโต้ของพวกเขา ขัดขวางมติที่มีผลผูกพันใดๆ กับพวกเขา ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
ด้วยเหตุนี้ทางสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจึงหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเพื่อแสดงจุดยืนให้การสนับสนุนยูเครนอย่างแข็งขัน ในการลงมติไปแล้วหลายรอบนับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกรานเมื่อ 1 ปีก่อน
เช่นเดียวกับทุกครั้ง รัสเซียปฏิเสธมติล่าสุด โดย วาซิลีย์ เนเบนซยา ผู้แทนมอสโกประจำสหประชาชาติ เรียกยูเครนว่าเป็น "นีโอนาซี" พร้อมกล่าวหาตะวันตกบูชายัญเคียฟและโลกกำลังพัฒนา เพื่อความปรารถนาเอาชนะรัสเซีย "พวกเขาพร้อมฉุดทั่วทั้งโลกเข้าสู่ขุมนรกแห่งสงคราม เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นเจ้าโลกของตนเอง"
ผลโหวตยังแสดงให้เห็นว่า อินเดียและจีน ยังคงหนักแน่นไม่ประณามการรุกรานของมอสโก ด้วยการงดออกเสียง แม้ว่าทั้ง 2 ชาติ เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์มอสโก ต่อกรณีขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ในความขัดแย้ง
ก่อนหน้าการโหวต รองผู้แทนจีนประจำสหประชาชาติ แสดงจุดยืนเป็นกลาง เรียกร้องทั้ง 2 ฝ่าย หยุดการสู้รบและเข้าสู่การเจรจาสันติภาพ "เราสนับสนุนให้รัสเซียและยูเครน เคลื่อนเข้าหากัน คืนสู่การเจรจาโดยตรงเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้"
อย่างไรก็ตาม รองผู้แทนของจีนได้ส่งเสียงเห็นใจหนึ่งในความกล่าวอ้างของรัสเซียต่อการรุกรานยูเครน นั่นคือความมั่นคงของมอสโกอยู่ภายใต้ภัยคุกคาม สืบเนื่องจากการที่ยูเครน โน้มเอียงเข้าหายุโรปตะวันตกและนาโต้ "ทางออกใดๆ ควรคำนึงถึงความกังวลด้านความมั่นคงที่สมเหตุสมผลของทุกประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงต้องจัดการอย่างเหมาะสมกับความปรารถนาด้านความมั่นคงที่ชอบธรรมของพวกเขา"
สำหรับประเทศไทย ในการลงมติล่าสุด ยกมือสนับสนุนข้อเรียกร้องรัสเซียถอนทหารออกจากยูเครนทันทีและไม่มีเงื่อนไข หลังจากก่อนหน้าเมื่อเดือนตุลาคม ได้ใช้จุดยืนงดออกเสียงในมติที่ประชุมสมัชาชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ประณามรัสเซียต่อกรณีผนวกแคว้นต่างๆ ของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งในดินแดน
ในตอนนั้น ในเวลาต่อมา เฟซบุ๊กของกระทรวงการต่างประเทศไทยเผยแพร่ถ้อยแถลงของ สุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ต่อการลงมติงดออกเสียงต่อกรณียูเครนว่า ประเทศไทยเลือกงดออกเสียง เนื่องจากว่า มติดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงบรรยากาศที่มีความอ่อนไหวและกำลังมีสถานการณ์ที่ผันผวนและปะทุขึ้นมาได้
"มตินี้จะยิ่งทำให้ลดโอกาสของการทูตในสภาวะวิกฤตที่จะนำมาซึ่งสันติภาพและการเจรจาในทางปฏิบัติเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง โดยอาจผลักให้ทั้งโลกเข้าสู่สภาวะของสงครามนิวเคลียร์และการพังทลายทางเศรษฐกิจ" ถ้อยแถลงดังกล่าวระบุในตอนนั้น
ถ้อยแถลงระบุด้วยว่า ประเทศไทยมีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ที่หลักการระหว่างประเทศที่ถูกทำให้เป็นการเมืองสูงขึ้นได้นำมาสู่ความไม่สร้างสรรค์ในการยุติสงคราม
"การประณามเป็นการยั่วยุให้เกิดความดื้อแพ่ง ไม่ประนีประนอม และลดทอนโอกาสของการร่วมมืออย่างสร้างสรรค์"
ถ้อยแถลงระบุต่อว่า ประเทศไทยโศกเศร้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับยูเครน ทั้งทางกายภาพ สังคม มนุษยธรรมที่ถูกทำลาย รวมทั้งความยากลำบากแสนสาหัสที่ชาวยูเครนประสบ จึงเน้นย้ำความจำเป็นที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในโศกนาฏกรรมนี้ร่วมกันลดความขัดแย้งและความรุนแรง และพยายามหาวิธีการที่สันติท่ามกลางความแตกต่าง
ในส่วนของการลงมติล่าสุดในวันพฤหัสบดี (23ก.พ.) นั้น เบื้องต้นทางกระทรวงต่างประเทศของไทยยังไม่ได้เผยแพร่ถ้อยแถลงชี้แจงใดๆ
(ที่มา : เอเอฟพี/mgronline)