xs
xsm
sm
md
lg

จีนเสนอจัดประชุมซัมมิตเรื่องยูเครน ท่ามกลางวิวาทะตอบโต้เผ็ดร้อนกับสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เจฟฟ์ เปา ***


หวัง อี้ สมาชิกกรมการเมืองและผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกิจการต่างประเทศส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (ซ้าย) จับมือกับนายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี (ขวา) ณ การประชุมความมั่นคงมิวนิก (Munich Security Conference หรือ MSC) เมื่อวันศุกร์ (17 ก.พ.) โดยการประชุมคราวนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 ณ เมืองมิวนิก ทางภาคใต้ของเยอรมนี
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Amid heated rhetoric, China proposes Ukraine summit
By JEFF PAO

ข้อเสนอเรื่องยูเครนของปักกิ่งปรากฏออกมาภายหลังตอบโต้สหรัฐฯ อย่างดุเดือด โดยชี้ให้เห็นว่าญี่ปุ่นและฝ่ายตะวันตกควรถอยห่างออกจากสหรัฐฯ ซึ่งเที่ยวแสดง “พฤติการณ์มุ่งวางตัวเป็นเจ้าเหนือใครๆ เที่ยวครอบงำเป็นใหญ่กว่าใครๆ และเที่ยวข่มเหงรังแกคนอื่น”

ปักกิ่งบอกว่า ตนจะจัดงานด้านความมั่นคงในระดับสูงขึ้นมา โดยมีฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในโลกเข้าร่วม ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อหารือกันถึงเรื่องการสู้รบขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย

ในวันอังคาร (21 ก.พ.) รัฐบาลจีนเปิดเผยเอกสารที่ใช้ชื่อว่า “เอกสารแนวความคิดริเริ่มเพื่อความมั่นคงของโลก” (Global Security Initiative Concept Paper) โดยแถลงว่า จีนยังคงยึดมั่นในพันธกรณีที่จะเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของทุกๆ ประเทศ และยึดมั่นปฏิบัติตามวัตถุประสงค์และหลักการต่างๆ ของกฎบัตรสหประชาชาติ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.fmprc.gov.cn/eng/wjbxw/202302/t20230221_11028348.html)

ทางด้านรัฐมนตรีต่างประเทศ ฉิน กัง ของจีน กล่าวในวันอังคาร (21 ก.พ.) เช่นกันว่า “ความมั่นคงเป็นสิทธิของทุกๆ ประเทศในโลก ไม่ใช่เป็นอภิสิทธิ์เฉพาะของบางประเทศเท่านั้น” พร้อมกับย้ำว่า “มัน (ความมั่นคง) ไม่ควรที่จะถูกตัดสินโดยประเทศไม่กี่ประเทศเท่านั้น”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.fmprc.gov.cn/wjbzhd/202302/t20230221_11028410.shtml)

เอกสารแนวความคิดฉบับนี้ระบุว่า ทุกๆ ประเทศควรให้ความสนับสนุนการรอมชอมทางการเมืองกันในประเด็นปัญหาที่เป็นจุดร้อนต่างๆ เป็นต้นว่า วิกฤตยูเครน โดยผ่านการสนทนากันและการเจรจากัน

เอกสารฉบับนี้เผยแพร่ออกมาก่อนหน้ากำหนดการที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน จะเสนอแนะวิธีการในการแก้ไขคลี่คลายวิกฤตยูเครน ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวาระครบรอบปีแรกของสงครามในยูเครน

“วาระครบรอบ 1 ปีของวิกฤตยูเครนกำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน หวัง เหวินปิน (Wang Wenbin) กล่าวในการแถลงข่าวตามปกติเมื่อวันจันทร์ (20 ก.พ.) ที่ผ่านมา “จีนจะเผยแพร่เอกสารแสดงจุดยืนในเรื่องว่าด้วยการแสวงหาหนทางรอมชอมทางการเมืองสำหรับวิกฤตยูเครน”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.fmprc.gov.cn/fyrbt_673021/jzhsl_673025/202302/t20230220_11027645.shtml)

หวัง ยังกล่าวตอบโต้คำปราศรัยของรัฐมนตรีต่างประเทสสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ที่แสดงความกังวลเรื่องที่จีนอาจจะจัดหาจัดส่งพวกอาวุธและเครื่องกระสุนต่างๆ ให้แก่รัสเซีย สำหรับการทำสงครามในยูเครน โดยเขาบอกว่า “สหรัฐฯ ต่างหาก ไม่ใช่จีนที่กำลังทุ่มเทจัดส่งอาวุธเข้าไปในสมรภูมิดังกล่าวนี้”
(ความเห็นของ บลิงเคน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.state.gov/secretary-blinkens-meeting-with-peoples-republic-of-china-prc-director-of-the-ccp-central-foreign-affairs-office-wang-yi/)

“สหรัฐฯ ไม่อยู่ในฐานะใดๆ ที่จะมาบอกให้จีนต้องทำอะไรบ้าง เราจะไม่มีทางยอมรับการเที่ยวชี้นิ้วบงการ หรือกระทั่งการใช้อำนาจบังคับและการดำเนินการเพื่อกดดันเราจากสหรัฐฯ ในเรื่องความสัมพันธ์ของเราที่มีอยู่กับรัสเซีย” โฆษกผู้นี้กล่าวต่อ

โฆษกผู้นี้บอกด้วยว่า เอกสารของ สี ที่กำลังจะเผยแพร่ออกมา จะเน้นย้ำหัวข้อเสนอแนะที่สำคัญต่างๆ เป็นต้นว่า การเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของทุกๆ ประเทศ การยึดมั่นปฏิบัติตามวัตถุประสงค์และหลักการต่างๆ ของกฎบัตรสหประชาชาติ การพิจารณาใส่ใจอย่างเอาจริงเอาจังถึงข้อห่วงกำลังทางด้านความมั่นคงที่ชอบธรรมของทุกๆ ประเทศ และการสนับสนุนความพยายามทั้งหมดทั้งสิ้นที่จะนำไปสู่หนทางแก้ไขวิกฤตครั้งนี้อย่างสันติ

เขาบอกว่า เอกสารของ สี จะคัดค้านการใช้อาวุธนิวเคลียร์และอาวุธเคมีชีวภาพ รวมทั้งเรียกร้องให้ใช้ความพยายามเพื่อสร้างความแน่ใจขึ้นมาในเรื่องความปลอดภัยของสถานที่ต่างๆ ทางด้านนิวเคลียร์ฝ่ายพลเรือน เขากล่าวว่าจีนตั้งความหวังที่จะทำงานกับทุกๆ ฝ่ายในการสืบต่อความพยายามดังกล่าวนี้ เพื่อให้เกิดสันติภาพขึ้นมาในเร็ววัน

เรื่องที่ สี มีกำหนดจะเสนอแนะแผนการเพื่อแก้ไขคลี่คลายเรื่องยูเครนนี้ มีการประกาศให้ทราบกันครั้งแรกโดย หวัง อี้ สมาชิกกรมการเมืองและผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกิจการต่างประเทศส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และมนตรีแห่งรัฐของจีน ที่นครมิวนิก เยอรมนี เมื่อวันเสาร์ (18 ก.พ.) ที่ผ่านมา ในวันเดียวกันนั้น หวัง ยังได้พบปะหารือแบบทวิภาคีกับ บลิงเคน ข้างเคียงการประชุมความมั่นคงมิวนิก (Munich Security Conference) ครั้งนี้ด้วย ทว่าเห็นได้ชัดเจนว่าการหารือของพวกเขาไม่ได้ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนแต่อย่างใด

สำหรับเอกสารแนวความคิดริเริ่มเพื่อความมั่นคงของโลก ได้รับการเผยแพร่ออกมา 1 วันหลังจากที่ในวันจันทร์ (20 ก.พ.) กระทรวงการต่างประเทศจีนได้เผยแพร่บทความขนาดยาวและเต็มไปด้วยเนื้อหามุ่งโต้เถียง ซึ่งใช้ชื่อเรื่องว่า “พฤติการณ์มุ่งวางตัวเป็นเจ้าเหนือใครๆ เที่ยวครอบงำเป็นใหญ่กว่าใครๆ และเที่ยวข่มเหงรังแกของสหรัฐฯ และพิษร้ายของพฤติการณ์เหล่านี้” (US hegemonic, domineering and bullying practices and their perils)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.fmprc.gov.cn/wjbxw_new/202302/t20230220_11027619.shtml)

บทความชิ้นนี้กล่าวหาสหรัฐฯ ว่ากำลังบ่อนทำลายสันติภาพ และการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยอาศัยการวางตัวเป็นเจ้าใหญ่เหนือใครๆ ทั้งทางด้านเทคโนโลยี การทหาร และวัฒนธรรม บทความชี้ว่าสหรัฐฯ เที่ยวแซงก์ชันคว่ำบาตรประเทศต่างๆ เกือบ 40 ประเทศแล้ว เป็นต้นว่า รัสเซีย และอิหร่าน รวมทั้งได้ริเริ่มชักนำให้เกิดการปฏิวัติสี (color revolutions) ขึ้นมาใน ยูเครน และจอร์เจีย ตลอดจนสงครามใน ซีเรีย และอัฟกานิสถาน

“สหรัฐฯ พากเพียรพยายามที่จะธำรงรักษาฐานะผูกขาดของตนในปริมณฑลไฮเทค โดยใช้วิธีการกดขี่ปราบปรามและการสกัดปิดล้อมทางเทคโนโลยี และขัดขวางมุ่งยุติประเทศอื่นๆ จากการพัฒนาเทคโนโลยีและเศรษฐกิจของพวกเขา” บทความนี้ระบุ “สหรัฐฯ ขยายความตีขลุมแนวความคิดว่าด้วยเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ ใช้อำนาจรัฐเพื่อกดขี่ปราบปรามและแซงก์ชันคว่ำบาตรบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ สั่งห้ามไม่ให้บริษัทสามารถใช้ชิปและระบบปฏิบัติการของสหรัฐฯ และจำกัดควบคุมไม่ให้ผลิตภัณฑ์ของ หัวเว่ย เข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ”

บทความชิ้นนี้กล่าวอีกว่า จวบจนถึงเวลานี้ สหรัฐฯ ได้บังคับใช้มาตรการแซงก์ชันคว่ำบาตรบริษัทจีนรวมแล้วมากกว่า 1,000 แห่ง โดยใช้ข้อกล่าวหาต่างๆ หลากหลาย นอกจากนั้น สหรัฐฯ ยังใช้มาตรการควบคุมการส่งออกที่เข้มงวดยิ่งขึ้น การพิจารณาทบทวนเรื่องการลงทุนที่กวดขันมากขึ้น ตลอดจนการปราบปรามเล่นงานพวกแอปพลิเคชันสื่อสังคมของจีน เป็นต้นว่า ติ๊กต็อก และวีแชท

ไม่เพียงเท่านั้น บทความชิ้นนี้กล่าวว่า สหรัฐฯ ได้สร้างกลุ่มเล็กๆ ย่อยๆ ขึ้นมา เป็นต้นว่า “กลุ่มพันธมิตรด้านชิป” (chip alliance) และ “เครือข่ายสะอาด” (clean network) โดยมุ่งโดดเดี่ยวพวกประเทศที่สหรัฐฯ กล่าวอ้างว่ามีประวัติด้านประชาธิปไตยและด้านสิทธิมนุษยชนที่ย่ำแย่ บทความยังวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่สหรัฐฯ กำลังล็อบบี้เนเธอร์แลนด์และญี่ปุ่น เพื่อให้จำกัดการส่งออกชิปตลอดจนเครื่องจักรอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้แก่จีน

บทความยังเท้าความว่า สหรัฐฯ เคยใช้ข้อตกลงพลาซา แอคคอร์ด ปี 1985 (1985 Plaza Accord) มาผลักดันทำให้เงินเยนต้องปรับค่าให้พุ่งสูงขึ้น ซึ่งได้สร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วง 30 ปีถัดจากนั้น นอกจากนั้นสหรัฐฯ ยังบังคับญี่ปุ่นให้ลงนามในข้อตกลงเซมิคอนดักเตอร์สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น (US-Japan semiconductor agreement) ในปี 1986 และช่วงชิงเอาส่วนแบ่งตลาดในทั่วโลกในภาคชิปไปจากญี่ปุ่น

“จีนคัดค้านมาโดยตลอดในรูปแบบทุกๆ รูปแบบของลัทธิวางตัวเป็นเจ้าเหนือใครๆ และการเมืองแบบมุ่งใช้อำนาจบังคับ รวมทั้งคัดค้านการเข้าแทรกแซงในกิจการภายในของประเทศอื่นๆ” บทความชิ้นนี้กล่าวในอีกตอนหนึ่ง “สหรัฐฯ ควรที่จะพิจารณาทบทวนตัวเอง ตรวจสอบให้ลึกซึ้งถึงสิ่งที่ตนได้กระทำลงไป ละทิ้งความยะโสโอหังและความมีอคติ และหยุดยั้งพฤติการณ์มุ่งวางตัวเป็นเจ้าเหนือใครๆ เที่ยวครอบงำเป็นใหญ่กว่าใครๆ และเที่ยวข่มเหงรังแกคนอื่นๆ ของตน”

บทความชิ้นนี้ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางโดยสื่อภาครัฐของจีน รวมทั้งทางสถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน (China Central TV หรือ CCTV) และสำนักข่าวซินหัว

ในอีกด้านหนึ่ง สำนักข่าวทาสส์ของรัสเซียรายงานว่า หวัง อี้ ได้เดินทางไปกรุงมอสโกในวันอังคาร (21 ก.พ.) และน่าจะมีการพบปะหารือกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/politics/1578715)

เดิมที บลิงเคน มีแผนการเดินทางไปเยือนจีนในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ แต่ทริปดังกล่าวถูกฝ่ายสหรัฐฯ ยกเลิกไป โดยอ้างกรณีที่มีบอลลูนจีนลอยอยู่เหนือน่านฟ้าของสหรัฐฯ

ก่อนหน้านั้น ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งก็เพิ่มพูนขึ้นมามากมายเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมอยู่แล้ว ภายหลังจากเนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่นตกลงยินยอมตามแรงบีบคั้นของคณะบริหารไบเดน ที่จะจำกัดการส่งออกเครื่องจักรอุปกรณ์การทำชิปของพวกตนไปให้จีน ให้เข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้นกว่าเดิม

“ขณะที่มีบางประเทศกำลังผลักดันลัทธิทำอะไรตามอำเภอใจของตนฝ่ายเดียว และลัทธิกีดกันการค้า รวมทั้งอยู่ในอาการเสพติดแนวความคิดที่จะหย่าร้างตัดขาด และสะบั้นห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน จีนตั้งความหวังว่าเนเธอร์แลนด์จะแสดงบทบาทในการบวก เพื่อทำให้เกิดความแน่ใจในเรื่องเสถียรภาพของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานของทั่วโลก และส่งเสริมสนับสนุนการพื้นตัวทางเศรษฐกิจของทั่วโลก” หวัง อี้ กล่าวเช่นนี้ ระหว่างหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศเนเธอร์แลนด์ ว็อปเกอ โฮคสตรา (Wopke Hoekstra) ในนครมิวนิก เมื่อวันเสาร์ (18 ก.พ.)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/zxxx_662805/202302/t20230221_11028706.html)

ในวันอังคาร (22 ก.พ.) ปักกิ่งยังได้ส่งรองรัฐมนตรีต่างประเทศ ซุน เว่ยตง ของจีน เดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อเข้าร่วมการสนทนาความมั่นคงจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 17 (the 17th China-Japan security dialogue)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://english.news.cn/20230220/e3bfedf1eba34e9a932284b55c0270d9/c.html)
กำลังโหลดความคิดเห็น