xs
xsm
sm
md
lg

นักลงทุนช็อก! ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ เทขายหุ้น บ.ชิปไต้หวัน TSMC เกือบ 'เกลี้ยงพอร์ต' หลังช้อนซื้อแค่ไม่กี่เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) มหาเศรษฐีอเมริกันเจ้าของฉายา “พ่อมดการลงทุน” เทขายหุ้นในบริษัท ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง (TSMC) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลกออกไปเกือบ 90% หรือเกือบจะหมดพอร์ต ซึ่งถือเป็นการ "กลับลำ" อย่างกะทันหันที่ทำเอานักลงทุนต่างพากันประหลาดใจ

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า บริษัท เบิร์กเชียร์ แฮทธาเวย์ (Berkshire Hathaway) ของบัฟเฟตต์ ได้ลดสัดส่วนการถือตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศในสหรัฐอเมริกา (American depositiry shares - ADR) ของ TSMC ลง 86% ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ตามข้อมูลล่าสุดที่ยื่นต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งสหรัฐฯ ซึ่งหากคำนวณตามราคาเฉลี่ยของหุ้นในช่วงเวลาดังกล่าวคาดว่ามูลค่าหุ้นที่ บัฟเฟตต์ เทขายคราวนี้น่าจะสูงถึง 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระแสข่าวนี้ส่งผลให้ราคาหุ้น TSMC ในตลาดหลักทรัพย์ไทเปดิ่งลงทันที 4% จากที่เคยพุ่งกระฉูดเมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว ตอนที่มีข่าวว่า บัฟเฟตต์ เข้าซื้อหุ้นด้วยวงเงินสูงเกือบ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โทนี หวง (Tony Huang) รองประธานบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุน Taishin Securities Investment Advisory Co. ให้ความเห็นว่า “เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่เบิร์กเชียร์เทขายหุ้นมากขนาดนี้ภายในระยะเวลาแค่ 3 เดือน แตกต่างจากแนวปฏิบัติในอดีตของพวกเขาที่มักจะลงทุนในระยะยาว และมีการซื้อหุ้นเพิ่มอย่างต่อเนื่อง”

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า เบิร์กเชียร์ แฮทธาเวย์ ได้เข้าซื้อหุ้นแอปเปิล (Apple) เพิ่มขึ้นอีกกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2022 ทำให้ขณะนี้สัดส่วนการถือครองหุ้นแอปเปิลของเบิร์กเชียร์พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 895,136,175 หุ้น หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 137,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อุตสาหกรรมการผลิตชิปได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาด้านซัปพลายเชน สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในจีน รวมถึงอุปสงค์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ซบเซาลงจากภาวะเงินเฟ้อ โดย TSMC เองได้ปรับลดรายจ่ายด้านการลงทุนลง 10% เหลือเพียง 36,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 หลังจากที่รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ออกมาตรการกีดกันจีนไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีสำคัญๆ โดยเฉพาะพวกเซมิคอนดักเตอร์

ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ยังกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร (profitability) ของบริษัทผู้ผลิตชิป โดยเวลานี้รัฐบาลหลายชาติ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ต่างชักชวนให้ TSMC เข้าไปตั้งฐานผลิตชิปในประเทศของตนเอง แต่นั่นหมายถึงต้นทุนการผลิตที่จะสูงขึ้นตามไปด้วย

ที่มา : Bloomberg, Investing.com
กำลังโหลดความคิดเห็น