xs
xsm
sm
md
lg

Nutanix ชี้ “ไอทียุคโควิด” พ่นพิษ APJ (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นูทานิกซ์ (Nutanix) ฟันธง 3 แนวโน้มเห็นชัดในตลาดเอเชียแปซิฟิก (APJ) 1 ใน 3 แนวโน้มชี้ว่าวันนี้หลายองค์กรกำลังปวดหัวกับระบบไอทีที่เคยได้เร่งมือจัดทำในช่วงโควิด-19 ระบาดเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยเปรียบเทียบว่าองค์กรทั่วภูมิภาคกำลังอยู่ในภาวะเยียวยาตัวเองจากอาการเมาค้างหลังวิกฤตโควิด-19 เพราะถึงเวลาแล้วที่องค์กรต้องกลับมาประเมินความต้องการด้านไอทีอย่างจริงจังอีกครั้ง ไม่ใช่อดทนใช้งานระบบอายุเท่าเด็กวัยเตรียมอนุบาล ที่สร้างไว้แบบรีบร้อนในช่วงคับขัน

Nutanix เปิดเผยทั้ง 3 แนวโน้มนี้ผ่านการอัปเดตข้อมูลประจำไตรมาส Nutanix Quarterly APJ Media Briefing โดย “แอรอน ไวท์” ผู้จัดการทั่วไปและรองประธานด้านการขายของนูทานิคซ์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น ได้แสดงความมั่นใจว่า Nutanix จะไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากภาวะเศรษฐกิจผันผวนที่อาจเกิดขึ้นทั่วโลก ตรงกันข้าม  Nutanix จะมีโอกาสงดงามเพราะความสำคัญของการลดต้นทุนที่จะทำให้ Nutanix ได้รับความสนใจมากขึ้นอีกในยุคที่เศรษฐกิจเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

การเปิดเผยแนวโน้มครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการแพร่สะพัดของข่าวลือดีลขายกิจการ Nutanix โดยช่วงธันวาคมปีที่แล้ว บริษัทเอชพีอี (HPE) หรือ Hewlett Packard Enterprise ได้ประกาศปฏิเสธว่าไม่ได้มีการจัดเจรจาซื้อกิจการกับ Nutanix อย่างที่มีรายงานข่าวออกมา ส่งให้หุ้นของ Nutanix ลดลงเกือบ 8% ในเวลานั้น ทั้งที่บริษัทสามารถดันยอดขายให้เติบโตเกิน 27% ในไตรมาส 1 ปีการเงิน 2023

***รายได้โตสวนทางดีลล่ม

ในไตรมาสที่ 1 ปีงบการเงิน 2023 ดาวรุ่งอย่าง Nutanix โชว์ความสำเร็จว่าสามารถทำยอดขายรวม (ACV) อยู่ที่ 232 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 27% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยยังคงทำสถิติประสบความสำเร็จในเชิงบวกทุกไตรมาส ท่ามกลางจำนวนลูกค้ารวมในประเทศต่างๆ ทั่ว APJ ที่เพิ่มขึ้นทุกปี เช่นประเทศไทยที่มีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น 15% ในปีที่ผ่านมา

สถิติสวยงามนี้กลับเกิดขึ้นบนความพลิกล็อก เพราะ Nutanix มีข่าวอยู่ระหว่างการเจรจาขายกิจการให้บริษัท HPE ตั้งแต่ตุลาคมปีที่แล้ว จนเมื่อ 2 เดือนผ่านไป โฆษกของ HPE จึงออกมาย้ำเมื่อธันวาคม 2022 ว่าไม่ได้มีการหารือใดกับ Nutanix  จุดนี้สามารถโยงได้กับ แหล่งข่าวของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ที่เตือนว่าทั้ง 2 บริษัทอาจไม่ประสบความสำเร็จในการตกลงราคาซื้อขายกิจการ

Nutanix นั้นเป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ในซานโฮเซ แคลิฟอร์เนีย ความโดดเด่นคือการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานแบบไฮเปอร์คอนเวอร์จ หรือ HCI รวมถึงอุปกรณ์ และซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผล การจัดเก็บข้อมูล และเครือข่าย ขณะเดียวกัน ก็พัฒนาซอฟต์แวร์การจัดการระบบที่ได้รับการออกแบบมาให้ปรับใช้และจัดการได้ง่ายกว่าอุปกรณ์ศูนย์ข้อมูลแบบเดิม

   แอรอน ไวท์ รองประธานและผู้จัดการทั่วไป ผู้ดูแลงานด้านการขายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น ของ Nutanix
นอกจากนี้ Nutanix ยังพัฒนาแพลตฟอร์มการจัดการสตอเรจ และระบบจัดการสภาพแวดล้อมคลาวด์สาธารณะโดยบริษัทนำเสนอซอฟต์แวร์ที่สามารถใช้จัดการทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์จากส่วนกลางได้ ซึ่งในปี 2019 ที่ผ่านมา Nutanix เคยร่วมมือกับ HPE เพื่อสร้างเครื่องมือซอฟต์แวร์หลายตัวให้ใช้งานได้ผ่านแพลตฟอร์ม GreenLake ของ HPE ด้วย

แม้ว่าทั้ง 2 บริษัทจะไม่ได้เจรจาซื้อขายกิจการอีกต่อไป แต่โอกาสที่ Nutanix จะปรับโครงสร้างครั้งใหญ่นั้นมีสูงมาก โดยเฉพาะมีรายงานว่าบริษัทอาจกำหนดเป้าหมายไปที่บริษัทหลักทรัพย์เอกชน ซึ่งในปีที่ผ่านมา มีรายงานว่าบริษัทหลักทรัพย์เอกชนได้เข้าซื้อผู้เล่นหลายบริษัทในตลาดซอฟต์แวร์สำหรับองค์กร และ Nutanix ก็เป็นบริษัทที่มีผลประกอบการในไตรมาสแรกที่แข็งแกร่งมากในปีงบประมาณ 2023

***3 เทรนด์แรง APJ


3 เดือนตลอดไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ 2023 ที่เพิ่งจบไป Nutanix พบว่ามี 3 แนวโน้มสำคัญที่สามารถสังเกตเห็นได้ทั่วเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะ APJ เป็นภูมิภาคที่องค์กรต้องต่อสู้กับจำนวนทราฟฟิกที่เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ รวมถึงจำนวนของข้อมูลที่ส่งให้มีการขยายฐานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง

จุดแรกที่เป็นเทรนด์สำคัญที่สืบเนื่องมาจากความเคลื่อนไหวในภูมิภาค ในช่วงต่อระหว่างปลายปีที่ผ่านมาถึงต้นปีนี้ รวมถึงข้อเสนอแนะที่ Nutanix ได้รับตรงมาจากลูกค้า คือองค์กรต่างๆ กำลังพยายามลดต้นทุนการใช้งานระบบไอทีที่ถูกเร่งสร้างช่วงโควิด-19 เนื่องจากก่อนหน้านี้ หลายองค์กรจำเป็นต้องรีบร้อนนำโซลูชันที่ช่วยให้ทำงานจากระยะไกลมาใช้ เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ในช่วงล็อกดาวน์

แอรอน ไวท์ รองประธานและผู้จัดการทั่วไป ผู้ดูแลงานด้านการขายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น ของ Nutanix กล่าวว่าความเร่งรีบสร้างระบบเพื่อรับมือความท้าทายใหม่ในเวลานั้นทำให้ระบบช่วงโควิด-19 ไม่ใช่ระบบที่ควรใช้งานต่อเนื่อง นอกจากนี้ การใช้ระบบคลาวด์ยังมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งทำให้ยากต่อการจัดการขึ้นไปอีก ขณะเดียวกัน กองทัพแอปพลิเคชันที่เกิดขึ้นในยุคนี้ยังต้องการโครงสร้างพื้นฐานแบบใหม่จึงจะตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้บริโภค

แอรอน ชี้ว่า องค์กรเริ่มรับรู้ว่าระบบคลาวด์เป็นรูปแบบการดำเนินงานไม่ใช่จุดหมายปลายทาง ดังนั้น เวลานี้จึงเป็นเวลาที่องค์กรต่างๆ ควรต้องถอยหลังกลับไปทบทวนและกำจัดสิ่งที่อยู่ไม่ถูกที่ โดยควรจะปรับใช้โซลูชันที่ปรับขนาดได้และเสถียรมากขึ้น เพื่อให้ยืนหยัดทำงานได้ดีในอนาคต

เทรนด์ที่ 2 นั้นต่อเนื่องจากเทรนด์แรก คือองค์กรทั่วโลกจะไม่อยู่นิ่งในขณะที่การเพิ่มจำนวนของแอปและฐานข้อมูลนั้นเติบโตก้าวกระโดด Nutanix มองว่าองค์กรควรหมั่นค้นหาเทคโนโลยีเพื่อปรับตัวรับการแข่งขัน ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ทั้งหมดล้วนทำให้การอยู่นิ่งๆ ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีในยุคนี้

ท้ายสุดคือเทรนด์ที่ 3 การเข้าสู่ช่วงเวลาที่แอปพลิเคชันและฐานข้อมูลขยายตัวสุดขีด ผลจากการมีแอปและฐานข้อมูลบนคลาวด์และสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ทำให้หลายองค์กรต้องปรับเพื่อให้มี “ทัศนวิสัยที่ดีพอ” ในการมองเห็นทุกจุดที่ข้อมูลไหลผ่าน บริษัทย้ำว่านี่คือเวลาที่องค์กรต้องใช้มัลติคลาวด์แบบไฮบริดมาใช้ช่วยให้องค์กรก้าวนำหน้า ปี 2023 จึงเป็นเวลาที่ทุกองค์กรเห็นความสำคัญของการมีสภาพแวดล้อมที่เป็นหนึ่งเดียว บนนโยบายและเครื่องมือเดียวกัน เพื่อการมองเห็นได้บนคลาวด์ทั้งหมดแบบอัตโนมัติ


กำลังโหลดความคิดเห็น