เริ่มต้นปี 2566 บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการประกาศบิ๊กดีลเข้าซื้อหุ้นสามัญในสัดส่วน 65.99% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดในบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ESSO) จาก ExxonMobil Asia Holdings Pte. Ltd. (ExxonMobil) ด้วยมูลค่ากิจการ (Enterprise Value) 5.55 หมื่นล้านบาท โดยบางจากฯ ชี้ว่าเป็นดีลที่สมเหตุสมผล ส่งผลดีต่อประเทศ ผู้บริโภค และตัวบริษัทบางจากฯ เอง
เนื่องจากหลังเข้าซื้อเอสโซ่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว บางจากฯ จะมีกำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 1.2 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 2.94 แสนบาร์เรลต่อวัน ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของไทย และมีสถานีบริการเพิ่มขึ้นอีกกว่า 700 แห่ง รวมเป็น 2,100 แห่ง ขยับขึ้นเป็นบริษัทน้ำมันที่มีสถานีบริการมากติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศ ทำให้มีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) ขายน้ำมันผ่านสถานีบริการขยับขึ้นเป็น 30% เข้าใกล้เบอร์ 1 อย่างบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) ที่มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 42%
วันที่รอคอย “โรงกลั่นน้ำมันแห่งที่ 2” ของบางจากฯ
แนวคิดความต้องการมีโรงกลั่นน้ำมันแห่งที่ 2 ของบางจากฯ ไม่ใช่เพิ่งเริ่มเกิดขึ้น แต่เป็นสิ่งที่ฝ่ายบริหารบางจากฯ คิดกันมานานร่วม 10 ปีที่แล้วในยุคซีอีโอ อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ที่เคยเกริ่นว่าจะศึกษาการตั้งโรงกลั่นน้ำมันแห่งที่ 2 เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากกำลังการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันบางจากฯจะไม่เพียงพอต่อการป้อนให้สถานีบริการน้ำมันในอนาคต แต่สุดท้ายแผนศึกษานี้ก็ยุติไปเนื่องจากมูลค่าการลงทุนที่สูงมาก
ขณะเดียวกันก็มีกระแสข่าวว่า ExxonMobil ต้องการขายกิจการเอสโซ่ (ประเทศไทย) เพื่อต้องการรุกธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าธุรกิจน้ำมัน โดยลือกันว่าบริษัทที่จะเข้าซื้อกิจการเอสโซ่ คือ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) ในเครือ ปตท. เนื่องจากโรงกลั่นของทั้ง 2 บริษัทอยู่ใกล้กัน แต่สุดท้ายไทยออยล์ออกมาสยบข่าวลือปฏิเสธเสียงแข็ง หลังจากนั้นไทยออยล์ก็ได้ตัดสินใจประกาศลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ซึ่งเป็นโครงการเพิ่มประสิทธิภาพโรงกลั่นและขยายกำลังการกลั่นน้ำมันจาก 2.75 แสนบาร์เรลต่อวันเป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน คาดว่าโครงการนี้จะทยอยเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2567 และดำเนินการเต็มรูปแบบในปี 2568 รวมทั้งไทยออยล์ได้ขยับไปลงทุนธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ โดยบริษัทได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเพื่อถือหุ้นในบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตปิโตรเคมีในประเทศอินโดนีเซียเมื่อปี 2564
ตลอดช่วง 10 ปีนี้ความคิดต้องการมีโรงกลั่นแห่งที่ 2 ของบางจากฯ ไม่ได้จางหายไปไหน จนกระทั่งเมื่อ 4 ปีก่อนบางจากฯ มีการหยิบเรื่องโรงกลั่นน้ำมันแห่งที่ 2 มาหารืออีกครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้ได้ข้อสรุปว่าจะไม่มีการลงทุนสร้างโรงกลั่นน้ำมันใหม่ แต่มองโอกาสการควบรวมหรือซื้อกิจการโรงกลั่นน้ำมันที่ดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์อยู่แล้ว ดังนั้นในช่วง 2 ปีนี้มีโรงกลั่นน้ำมัน 2-3 แห่งยื่นข้อเสนอขายกิจการ หนึ่งในนั้นคือ ExxonMobil ที่เสนอขายหุ้นเอสโซ่ (ประเทศไทย) ในมือทั้งหมด โดยทั้งสองบริษัทมีการเจรจากันมาเป็นเวลาเกือบ 1 ปี สุดท้ายบางจากฯ ก็ตัดสินใจเข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นเอสโซ่กับ ExxonMobil เมื่อเวลา 21.00 น.ของวันที่ 11 มกราคม 2566 ซึ่งบางจากฯ ยืนยันว่าเป็นดีลที่คุ้มค่ามาก
เนื่องจากมีการกำหนดมูลค่ากิจการเอสโซ่ไว้ที่ 5.55 หมื่นล้านบาท เกิดจากการทำการประเมินมูลค่าด้วยวิธีคิดลดกระแสเงินสด (Discounted Cash Flow) หากแยกสินทรัพย์ของเอสโซ่แล้วคำนวณมูลค่าคร่าวๆ ดังนี้ ปริมาณน้ำมันในถังเก็บรวม 7.4 ล้านบาร์เรล คิดราคาที่บาร์เรลละ 100 เหรียญสหรัฐ ที่อัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ คิดเป็นมูลค่ารวม 2.5 หมื่นล้านบาท, เงินลงทุนในบริษัทท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (แทปไลน์) สัดส่วน 21% และบริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ราว 7.06% คิดเป็นมูลค่ารวม 3 พันล้านบาท, ที่ดิน 800 ไร่ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ราคาไร่ละ 15 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท, สถานีบริการน้ำมันเอสโซ่กว่า 700 แห่ง เฉลี่ยลงทุนแห่งละ 20 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท รวมทั้งสิ้นแล้วเกือบเท่ามูลค่ากิจการที่ตั้งไว้ 1.55 หมื่นล้านบาท แทบไม่ได้ตีมูลค่าโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ กำลังผลิต 1.74 แสนบาร์เรลต่อวัน และโรงงานผลิตพาราไซลีน (PX) ขนาด 5 แสนตันต่อปี แม้ว่าขณะนี้โรงงานผลิตพาราไซลีนได้หยุดการผลิตชั่วคราวเนื่องจากมาร์จิ้นต่ำ แต่เมื่อสถานการณ์ราคาอะโรเมติกส์ดีขึ้น ก็สามารถกลับมาเดินเครื่องผลิตได้อีกครั้ง เท่ากับว่าบางจากฯ ได้ฟรีทั้งโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานผลิตพาราไซลีน
ขณะที่ ExxonMobil ยังคงดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หล่อลื่นและสารละลายการจำหน่ายเคมีภัณฑ์ภายใต้แบรนด์หรือยี่ห้อ ESSO เนื่องจากดีลนี้บางจากไม่ได้เข้าซื้อแบรนด์ ทำให้สถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ทั้งหมดจะต้องทยอยเปลี่ยนเป็นแบรนด์บางจากให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีนับจากปิดดีลซื้อขายแล้ว
สำหรับเงื่อนไขสัญญาการเข้าซื้อหุ้นสามัญของเอสโซ่ จำนวน 2,283,750,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 65.99% ของหุ้นทั้งหมดจาก ExxonMobil นั้น กำหนดว่าทางเอสโซ่จะต้องได้รับความเห็นชอบในสัญญาขยายและประกอบกิจการโรงกลั่นปิโตรเลียมจากกระทรวงพลังงานก่อน, บางจากได้รับความเห็นชอบตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกฎหมายป้องกันการผูกขาดและต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทเพื่อเข้าซื้อหุ้นในเอสโซ่ และการตกลงเกี่ยวกับราคาซื้อขายสุดท้ายได้ตามสัญญาซื้อขายหุ้น ซึ่งได้กำหนดกลไกปรับราคาซื้อขายหุ้นเอสโซ่ โดยอิงจากงบการเงินล่าสุดของเอสโซ่ก่อนเข้าซื้อ หากเอสโซ่มีค่าการกลั่นสูง ราคาน้ำมันเพิ่ม หนี้ลด ราคาซื้อหุ้นเอสโซ่ที่บางจากซื้อก็จะสูงขึ้น เมื่อเทียบกับการอ้างอิงตามงบการเงินไตรมาส 3/2565 ของเอสโซ่ จะได้ราคาเบื้องต้นประมาณ 8.84 บาท/1 หุ้น เมื่อทำการซื้อหุ้นเอสโซ่จาก ExxonMobil ได้แล้ว บางจากจะดำเนินการทำคำเสนอซื้อหุ้นเอสโซ่ที่เหลืออีก 1,177,108,000 หุ้น หรือคิดเป็น 34.01% ในราคาเดียวกัน ทั้งนี้ คาดว่าการทำธุรกรรมเข้าซื้อหุ้นเอสโซ่จะเสร็จสิ้นช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2566 หรืออย่างช้าภายในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BCP) กล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการเอสโซ่ในครั้งนี้ บางจากฯ จะไม่มีการเพิ่มทุนจดทะเบียน เนื่องจากมีวงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติจากสถาบันการเงินไทยรายใหญ่เต็มวงเงินในการชำระค่าหุ้นทั้งหมดและหนี้ของเอสโซ่รวมราว 6 หมื่นกว่าล้านบาท ขณะเดียวกันบางจากฯ และบริษัทลูกที่บางจากถือหุ้น 100% มีกระแสเงินสดอยู่ราว 2 หมื่นล้านบาท
ภายหลังการดำเนินการซื้อหุ้นเอสโซ่แล้วเสร็จ บางจากฯ จะมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) เพิ่มขึ้นเป็น 1.7 เท่าจากปัจจุบันอยู่ที่ 0.6 เท่า ซึ่งไม่ทำให้ฐานะการเงินบางจากตึงตัวแต่อย่างใด แต่จะทำให้บางจากมั่นคงขึ้น โดยสถานีบริการบางจากจะเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคโดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่ต้องการเติมน้ำมันคุณภาพในราคาเหมาะสม ที่ผ่านมาสถานีบริการน้ำมันบางจากขนาดมาตรฐานในต่างจังหวัดมีน้อย ส่วนใหญ่เป็นป๊มน้ำมันสหกรณ์ ขณะที่เอสโซ่ดำเนินธุรกิจในเมืองไทยมานาน มีสถานีบริการเอสโซ่จะอยู่ในตัวเมืองชั้นใน ดังนั้น ทำเลที่ตั้งของสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่และบางจากจึงซ้ำกันน้อย ทำให้ผู้บริโภคเติมน้ำมันบางจากได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันสมาชิกเอสโซ่จะเปลี่ยนเป็นสมาชิกบางจาก กรีนไมล์ คาดว่าสิ้นปีนี้ยอดสมาชิกบางจากจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านสมาชิก โดยแต้มคะแนนเอสโซ่ที่มีอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่ทำอย่างไรบางจากจะรักษาฐานลูกค้าเดิมเอสโซ่ให้มาเป็นฐานลูกค้าของบางจากแทน
นายชัยวัฒน์กล่าวต่อไปว่า แต่สิ่งที่บางจากฯ จะได้รับหลังปิดดีลซื้อหุ้นเอสโซ่ ทางบางจากฯ จะประหยัดค่าใช้จ่ายหลังมีการ synergy ร่วมกันราว 1.5-2 พันล้านบาทต่อปี ส่วนเป้าหมายกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ของบางจากที่ตั้งไว้ในปี 2573 อยู่ที่ระดับ 1 แสนล้านบาทยังคงเดิม เนื่องจากบางจากได้คำนวณรับรู้กำไรจากเอสโซ่เข้ามาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
การได้โรงกลั่นเอสโซ่เข้ามาเสริมยังช่วยปิดความเสี่ยงของโรงกลั่นบางจาก เนื่องจากโรงกลั่นบางจากจะหมดสัญญาเช่าที่ดินในปี 2576 และมีความเสี่ยงในการถูกเรียกร้องให้ย้ายโรงกลั่นออกจากกรุงเทพฯ ด้วย ขณะเดียวกัน บางจากฯ จะมีโรงกลั่นน้ำมันที่ติดกับทะเล ทำให้ค่าขนส่งน้ำมันดิบเข้าโรงกลั่นต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบโรงกลั่นบางจากที่ตั้งอยู่กรุงเทพฯ ทั้งนี้ บางจากได้ตกลงกับ ExxonMobil ให้เป็นผู้จัดหาน้ำมันดิบเข้าป้อนโรงกลั่นที่ศรีราชาด้วย
บางจากฯ มีน้ำมันเพิ่มรองรับการขยายปั๊ม
ปัจจุบันโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่มีการกลั่นน้ำมันแค่ 1.4-1.5 แสนบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่ากำลังการผลิตติดตั้ง (nameplate capacity) ที่ 1.74 แสนบาร์เรลต่อวัน สืบเนื่องจาก ExxonMobil มีการบริหารจัดการโรงกลั่นในเครือฯ 4-5 โรงเพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดตกอยู่ที่บริษัทแม่เป็นหลัก ดังนั้น เมื่อบางจากเข้ามาบริหารจัดการ มั่นใจว่าโรงกลั่นเอสโซ่จะเดินเครื่องได้เต็มที่ ทำให้มีปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น เพียงพอต่อแผนการขยายสถานีบริการน้ำมันบางจากในอนาคต
โดยยอมรับว่าขณะนี้ปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปที่ได้จากโรงกลั่นบางจากส่วนใหญ่ป้อนให้กับสถานีบริการน้ำมันบางจากเท่านั้นแทบจะไม่เหลือขายให้ภายนอก ซึ่งแต่ละปีบางจากมีแผนขยายสถานีบริการน้ำมันใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 70-80 แห่ง ถ้าเทียบกับบริษัทน้ำมันเบอร์ 1 ของไทยมีการขยายสาขาสถานีบริการปีละ 100 แห่งทั่วประเทศ
นอกจากนี้ บางจากพร้อมขยายธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (นอนออยล์) เข้าสู่สถานีเอสโซ่ อาทิ ร้านกาแฟอินทนิล ที่บางจากตั้งเป้าหมายในปี 2566 จะขยายสาขาไม่ต่ำกว่า 250 แห่ง จากสิ้นปีนี้อยู่ที่ 1,005 สาขา ดังนั้นหลังซื้อเอสโซ่แล้วจะเห็นการขยายสาขาอินทนิลในปี 2567 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย
การมีสถานีบริการน้ำมันของเอสโซ่เข้ามาเสริมทัพ ทำให้ธุรกิจการตลาดทั้งน้ำมันและธุรกิจนอนออยล์ของบางจากฯ จะเติบโตขึ้นมาก จึงมีโอกาสที่บางจากฯ จะแยกธุรกิจการตลาดเพื่อผลักดันเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เหมือนกับ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) ที่ทำธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และ บมจ.บีบีจีไอ (BBGI) ผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและก้าวสู่ Biotechnology ต่อยอดธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง
สยายปีกลุยธุรกิจ E&P เพิ่ม
นอกจากนี้ การเข้าซื้อเอสโซ่ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้บางจากรุกธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับกำลังการกลั่นน้ำมันที่เพิ่มขึ้น นับเป็นการดำเนินธุรกิจครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ จากปัจจุบันบางจากถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท OKEA ASA ประเทศนอร์เวย์ ที่ปีนี้จะมีกำลังการผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น 25,000-27,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในปี 2566-2567 หลังรับโอนกิจการแหล่งปิโตรเลียมในนอร์เวย์เพิ่มขึ้นอีก 3 แหล่ง ได้แก่ แหล่ง Brage แหล่ง Ivar Aasen และแหล่ง Nova ด้วยมูลค่ารวมสูงกว่า 4,000 ล้านบาท ทำให้ OKEA มีปริมาณปิโตรเลียมสำรองเพิ่มสูงขึ้น 30-40%
ก่อนหน้าบางจากฯ ตั้งเป้าธุรกิจ E&P จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนบาร์เรลต่อวันในปี 2573 มาจาก OKEA 50% ที่เหลือบางจากฯ จะลงทุนในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันของโรงกลั่นทั้ง 2 โรง ทำให้เป้าหมายการมีกำลังผลิตและจำหน่ายปิโตรเลียมน่าจะปรับเพิ่มเป้าหมายให้สูงขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกัน จึงไม่แปลกถ้าเราจะเห็นบางจากฯ ประกาศการลงทุนธุรกิจ E&P เพิ่มในอนาคต
แม้ว่าการตัดสินใจเข้าซื้อเอสโซ่ครั้งนี้สวนทางกระแสเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่กำลังมาแรง แต่เมื่อพิจารณาแล้วพบว่าปริมาณรถยนต์ใหม่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นปีละ 8-9 แสนคัน เป็นรถอีวีแค่ 2-3 หมื่นคัน ยังไม่รวมปริมาณรถยนต์ที่มีอยู่เดิมทั้งหมดในประเทศอีก 10 ล้านคัน และรถจักรยานยนต์อีก 10 ล้านคันที่ต้องใช้น้ำมัน ดังนั้น ปริมาณรถที่ต้องเติมน้ำมันคิดเป็นสัดส่วน 99.9% ดังนั้นการซื้อเอสโซ่จึงเป็นการช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลไปเป็นพลังงานสะอาด ซึ่งขณะนี้พบว่ามีบางประเทศที่เริ่มมีปัญหาน้ำมันขาดแคลน ซึ่งมองว่าน้ำมันยังมีความต้องการใช้ไปอีกนาน 35-40 ปีข้างหน้า
บางจากให้ความสำคัญต่อการสร้างสมดุลระหว่างความมั่นคงทางพลังงาน การเข้าถึงพลังงาน กับความยั่งยืนของโลก ตอกย้ำแนวทางการพัฒนานวัตกรรมธุรกิจอย่างยั่งยืนควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมสอดรับวิสัยทัศน์ “รังสรรค์โลกยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว” โดยบางจากฯ คงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2573 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี พ.ศ. 2593 นับเป็นการบาลานซ์เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่พลังงานสะอาด โดยทางกลุ่มบางจากฯ มีการลงทุนทั้งธุรกิจพลังงานหมุนเวียน แบตเตอรี่และผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง ล่าสุดได้ร่วมทุนกับพันธมิตรตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน หรือ Sustainable Aviation Fuel (SAF) ในพื้นที่โรงกลั่นบางจากฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 ทำให้ปัจจุบันสัดส่วนของธุรกิจสีเขียวคิดเป็นสัดส่วน 33% ของ EBITDA ในปี 2563-2568 ของกลุ่มบางจากฯ