xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” ขย่ม อัยการถูกแทรกแซงหรือไม่ เตะถ่วงคดีเลี่ยงภาษีจากแหล่งเจดีเอ ทำ ปชช.แบกภาระน้ำมันแพง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รสนา” ตั้งแง่ อัยการไม่ฟ้องบริษัทลูก ปตท.ที่หลีกเลี่ยงภาษีคอนเดนเซท จากแหล่งเจดีเอ จะเตะถ่วงให้คดีขาดอายุความ ใช่หรือไม่ ซัดถ้าอัยการปล่อยให้คดีขาดอายุความ เอาตัวคนผิดมาลงโทษไม่ได้ จะทำให้รัฐไทยไม่ได้ภาษีจากแหล่งเจดีเอ กลายเป็นรูรั่วใหญของกระเป๋าเงินของแผ่นดิน และทำให้ประชาชนต้องแบกรับราคาน้ำมันแพงต่อไป อย่างไร้ความเป็นธรรม

วันนี้ (15 ม.ค. 66) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก ระบุว่า มีกระบวนการแทรกแซง อัยการไม่ฟ้องบริษัทลูก ปตท.ที่หลีกเลี่ยงภาษีคอนเดนเซท ทั้งที่อัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องแล้วตั้งแต่ปี 2563 จะเตะถ่วงให้คดีขาดอายุความ ใช่หรือไม่

ช่วงนี้ชื่อของสำนักงานอัยการสูงสุดกำลังขึ้นหม้อ ได้รับความสนใจ เพราะถูกจับตาดูการทำคดีตู้ห่าว จีนพันธุ์สีเทาที่ทำผิดกฎหมายหลายคดี เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและทางการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่จะพิสูจน์ว่าอัยการมีความเป็นอิสระจากโลภคติ และภยาคติที่จะเข้ามาแทรกแซงการทำคดีเอาผิดนายตู้ห่าวหรือไม่ หรือเป็นเพียงองค์กรอิสระแต่ในนาม

ที่ตั้งคำถามว่า อัยการมีอิสระทำคดีโดยไม่ถูกแทรกแซงจากเงินและอำนาจหรือไม่ เพราะมีหลายคดีที่น่าสงสัย กรณีที่ดิฉันติดตามคือเรื่องการหลีกเลี่ยงภาษีปิโตรเลียมเหลวแหล่งเจดีเอตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งเป็นคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2553 จนบัดนี้สำนักอัยการยังปล่อยให้ข้อหาทยอยขาดอายุความไปจนเกือบหมด แบบกรณีนายบอสกระทิงแดง ทั้งที่ 2 กรณีมีการติดตามและอื้อฉาวข่าวดังเป็นพักๆ แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้าที่จะนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ ใช่หรือไม่

ความเดิมของคดีที่ดิฉันพูดถึง คือ แหล่งเจดีเอที่เป็นแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Joint Development Area: JDA) มีข้อตกลงระหว่างไทยกับมาเลเซีย ว่า คอนเดนเซท (ปิโตรเลียมเหลว) ที่ผลิตจากพื้นที่นี้เป็นรายได้ของไทย และมาเลเซีย แบ่งกันคนละ 50% หากมีการขายให้ไทยและมาเลเซียจะไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าขายให้ประเทศที่ 3 ต้องเก็บภาษี 10% ปรากฏว่า บริษัท Carigali-PTTEP Operating Sdn Bhd (CPOC) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทคาริคารี่ ของมาเลเซีย และบริษัทลูกของ ปตท.และ Carigali-Hess Operating Company Sdn Bhd (CHESS) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท คาริคารี่ และบริษัทลูกของบริษัท เฮสส์ อเมริกาได้สำแดงเอกสารเท็จว่าส่งคอนเดนเซท มาขายไทยจึงไม่ต้องเสียภาษี แต่ปรากฏบริษัท CPOC และ CHESS ได้ขายให้กับบริษัท KARNEL OIL ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ เพื่อส่งมาขาย ปตท. ตามข้อตกลงของเจดีเอ คอนเดนเซทที่ขายให้ประเทศที่ไม่ใช่ไทย และมาเลเซีย ต้องเสียภาษี 10% แต่มีการอ้างว่า KARNEL OIL จะส่งมาขายประเทศไทยอยู่แล้วเลยไม่ต้องเสียภาษี ทั้งที่ CPOC และ CHESS สามารถขายตรงมาที่ไทยโดยไม่ต้องขายผ่านตัวกลางแต่ประการใด การขายผ่านตัวกลางอีกทอดย่อมทำให้ปิโตรเลียมเหลวต้องถูกบวกค่าใช้จ่ายและกำไรเพิ่มขึ้นให้กับบริษัทที่ 3 ใช่หรือไม่

คดีนี้มีข้าราชการไทย 3 กระทรวงที่พยายามช่วยกันตีความว่าบริษัทเอกชนนั้นไม่ต้องเสียภาษี โดยอ้างว่าให้ดูแค่จุดหมายปลายทางว่าคือประเทศไทย จะมีการขายผ่านกี่ทอด (Physical movement) ก็ถือว่าไม่มีความต่างในเมื่อจุดหมายปลายทางคือประเทศไทย ดังนั้น จึงตีความว่าไม่ต้องเสียภาษี ทั้งที่การเสียภาษีเกิดขึ้นที่จุดของการส่งมอบสินค้า (Tax Point) ไม่ใช่เกิดที่จุดหมายปลายทาง ถ้าผู้รับมอบไม่ใช่บริษัทไทยแต่เป็นบริษัทประเทศที่ 3 ก็ต้องเสียภาษีทั้งสิ้น ถ้าการตีความถูกบิดเบือนจากข้อกฎหมายที่บัญญัติไว้ ต่อไปประเทศไทยจะเสียประโยชน์ที่จะไม่ได้ภาษีจากการขายน้ำมันดิบและคอนเดนเซทในแหล่ง JDA ตลอดไป เพราะผู้ค้าน้ำมันเอกชนจะตั้งพ่อค้าคนกลางมารับซื้อก่อนส่งมาให้ไทย เพื่อบวกโสหุ้ยและกำไรเพิ่ม ทำให้คนไทยต้องจ่ายค่าน้ำมันแพงขึ้นแทนที่จะได้ประโยชน์ได้น้ำมันดิบ และปิโตเลียมเหลวราคาถูกจากพื้นที่พัฒนาร่วมระหว่างไทย-มาเลเซีย ก็จะกลายเป็นว่าคนไทยต้องแบกภาระจ่ายแพงขึ้นโดยไม่จำเป็น เพราะเอกชนจะมีตัวกลางมารับช่วงเป็นพ่อค้าคนกลางกี่ทอดก็ได้ตามการตีความของข้าราชการหัวหมอจาก 3 กระทรวง ที่จะเปิดช่องทำให้เอกชนผู้ค้าน้ำมันขายน้ำมันคนไทยแพงขึ้น ได้กำไรมากขึ้น แต่สามารถหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ใช่หรือไม่

“รสนา” ตั้งคำถามฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือไม่? “บิ๊ก 3 กระทรวง” ช่วยบริษัทน้ำมันสิงคโปร์เลี่ยงภาษีฟันกำไรคนไทย

ดิฉันเขียนบทความให้ตรวจสอบกรณีนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2560-2564 ว่า มีการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีปิโตรเลียมเหลวจากแหล่งเจดีเอของบริษัทบริษัท CPOC และ บริษัท CHESS กรณีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2553 และคดีนี้สำนักงานอัยการสูงสุดได้แต่งตั้งพนักงานอัยการมาสอบสวนร่วมกับดีเอสไอตั้งแต่เริ่มต้นพบว่ามีความผิดจริง และอัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องแล้วตั้งแต่ 14 กันยายน 2563 แม้คดีนี้กว่าจะตรวจสอบเสร็จสิ้นจนอัยการสูงสุดสั่งฟ้อง ก็ใช้เวลาถึง 10 ปี ทำให้มีหลายข้อหาขาดอายุความไป แต่ก็ยังมีข้อหาที่ไม่ขาดอายุความเหลืออยู่ แต่พนักงานอัยการก็ยังไม่นำผู้ต้องหาสั่งฟ้องเพื่อให้อายุความหยุดลง ใช่หรือไม่

ดังปรากฏว่า เมื่อ 6 ตุลาคม 2564 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักอัยการสูงสุดมีหนังสือแจ้งคำสั่งยุติการดำเนินคดีกับบริษัทที่เกี่ยวข้องบางข้อหาที่ขาดอายุความไปแล้ว ดิฉันได้เขียนบทความทักท้วงไว้เมื่อ 16 พ.ย. 2564 ว่า คดีนี้ยังมีข้อหาที่ไม่หมดอายุความอยู่ และอัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องไปแล้วตั้งแต่ 14 กันยายน 2563 พนักงานอัยการจึงไม่ควรโยกโย้ ถ่วงเวลาให้ข้อหาขาดอายุความไปอีก แบบเดียวกับที่กำลังทำกับคดีของ บอส กระทิงแดง ใช่หรือไม่

เหตุใดกรมสอบสวนคดีพิเศษยังไม่นำตัวผู้ต้องหาคดีหลีกเลี่ยงภาษีคอนเดนเซท ส่งฟ้องศาลทั้งที่อัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องกว่า 1 ปีเเล้ว จะรอให้คดีขาดอายุความทั้งหมด หรืออย่างไร?!

มีข่าวมาว่า ขณะนี้มีผู้มีอำนาจระดับสูงซึ่งเป็นบุคคลภายนอก พยายามเข้ามาแทรกแซงคดี ทั้งที่คดีนี้ซึ่งเป็นคดีต่างประเทศ อัยการสูงสุดต้องเป็นผู้สั่งฟ้อง และก็ได้มีการสั่งฟ้องคดีแล้ว จึงถือว่าเป็นข้อยุติในชั้นสำนักงานอัยการตั้งแต่ 14 กันยายน 2563 พนักงานอัยการควรรีบนำผู้ต้องหาฟ้องศาลให้ศาลเป็นผู้พิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย แต่กลับถ่วงเวลานานกว่า 2 ปี เป็นการเปิดช่องทางในการวิ่งเต้นคดี และแทรกแซงการล้มคดี จนเกิดข้อครหาต่อสำนักงานอัยการ ใช่หรือไม่

ถ้าอัยการทำให้คดีนี้ล่าช้าต่อไป จนเกิดความเสียหายหรือคดีขาดอายุความอีก ย่อมแสดงว่ามีเจตนา จงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ใช่หรือไม่

องค์กรอัยการเป็นยุติธรรมต้นน้ำ ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ยุติธรรมต้นน้ำทั้ง 2 องค์กรกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าถูกแทรกแซงได้ จากเงินและอำนาจ ใช่หรือไม่

คดีนี้มีความสำคัญถ้าอัยการปล่อยให้คดีขาดอายุความ เอาตัวคนผิดมาลงโทษไม่ได้ จะทำให้รัฐไทยไม่ได้ภาษีจากแหล่งเจดีเอ กลายเป็นรูรั่วใหญของกระเป๋าเงินของแผ่นดิน และทำให้ประชาชนต้องแบกรับราคาน้ำมันแพงต่อไปอย่างไร้ความเป็นธรรม




กำลังโหลดความคิดเห็น