xs
xsm
sm
md
lg

ไว้ใจได้กา?? มะกันเดินหน้าผนึกกำลังเป็นหุ้นส่วนอินเดีย พัฒนาอุปกรณ์การทหาร-เอไอ-ชิป เพื่อแข่งขันจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ภาพจากแฟ้ม) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กระซิบกระซาบกับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ในช่วงเปิดประชุมซัมมิตกลุ่มจี20 ซึ่งจัดขึ้นที่เกาะบาหลี, อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2022
ทำเนียบขาวเริ่มเดินเครื่องแผนการใหม่ในการจับมือเป็นหุ้นส่วนกับอินเดียในวันอังคาร (31 ม.ค.) ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน วาดหวังว่าจะช่วยให้ทั้งสองประเทศสามารถแข่งขันกับจีนในด้านอุปกรณ์ทางการทหาร เซมิคอนดักเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)

วอชิงตันต้องการให้มีการใช้เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของฝ่ายตะวันตกในอินเดียเพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อเป็นการต่อต้านอิทธิพลของหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ของจีน ขณะเดียวกันก็แสดงความยินดีต้อนรับผู้ชำนาญการด้านชิปคอมพิวเตอร์ชาวอินเดียเดินทางไปทำงานในอเมริกา ตลอดจนสนับสนุนให้บริษัทของทั้งสองประเทศร่วมมือกันทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ เช่น ระบบปืนใหญ่และจรวดหลายลำกล้อง

อย่างไรก็ดี ในแต่ละด้านเหล่านี้ทำเนียบขาวต้องเผชิญความยากลำบากในการผลักดัน โดยที่ปัญหาก็รวมไปถึงพวกข้อจำกัดต่างๆ ของสหรัฐฯเองในเรื่องการถ่ายโอนเทคโนโลยีทางทหาร และการออกวีซ่าให้แรงงานต่างแดน ตลอดจนการที่อินเดียพึ่งพิงฮาร์ดแวร์ทางทหารของรัสเซียมายาวนาน

ในวันอังคาร (31 ม.ค.) เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว และอาจิต โดวัล เจ้าหน้าที่ตำแหน่งเดียวกันของฝ่ายอินเดีย เปิดการหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่อาวุโสจากทั้งสองประเทศที่ทำเนียบขาว เป็นการเริ่มต้นการจับมือเป็นพันธมิตรกันที่มีชื่อว่า “แผนการริเริ่มสหรัฐฯ-อินเดียว่าด้วยเทคโนโลยีสำคัญและเทคโนโลยีอุบัติใหม่” โดยที่ครอบคลุมถึงด้านอวกาศและควอนตัมคอมพิวติ้งด้วย

ซัลลิแวนกล่าวว่า ความท้าทายที่ใหญ่โตขึ้นทุกทีซึ่งมาจากจีน ไม่ว่าจะเป็นวิธีปฏิบัติทางด้านเศรษฐกิจ, การเคลื่อนไหวทางทหารอย่างก้าวร้าว และความพยายามครอบงำอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเพื่อควบคุมห่วงโซ่อุปทานแห่งอนาคตของแดนมังกร ต่างส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อความคิดที่มีกันอยู่ในแดนภารตะ

เขาสำทับว่า ความเป็นหุ้นส่วนนี้ถือเป็นอีกหนึ่งชิ้นส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์โดยรวมที่จะนำโลกประชาธิปไตยในอินโด-แปซิฟิกทั้งหมดไปสู่สถานะที่แข็งแกร่ง และก็เป็นเดิมพันทางยุทธศาสตร์ของผู้นำสหรัฐฯ และอินเดียเกี่ยวกับแนวคิดในการสร้างระบบนิเวศซึ่งลึกซึ้งยิ่งขึ้นที่จะตอบสนองผลประโยชน์ด้านยุทธศาสตร์ เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีของทั้งสองประเทศ

นอกจากนั้นทำเนียบขาวยังเผยว่า เจเนอรัล อิเล็กทริกกำลังขออนุญาตจากรัฐบาลอเมริกาในการร่วมกับอินเดียผลิตเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินที่ดำเนินการและผลิตโดยอินเดีย

ขณะที่ฝ่ายอินเดียบอกว่า รัฐบาลอเมริกาจะเร่งตรวจสอบคำขอของเจเนอรัล อิเล็กทริก และเสริมว่า สองประเทศจะมุ่งเน้นการร่วมกันผลิตอุปกรณ์สำคัญที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันด้านกลาโหม

ทั้งสองประเทศยังตกลงสร้างกลไกการประสานงานด้านเทคโนโลยีควอนตัม รวมทั้งจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจระหว่าง เซมิคอนดักเตอร์ มิชชั่นของอินเดีย ตลอดจนสมาคมเซมิคอนดักเตอร์อิเล็กทรอนิกส์อินเดีย (ไออีเอสเอ) กับสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์แห่งอเมริกา (เอสไอเอ) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศเซมิคอนดักเตอร์

ขณะเดียวกัน คำแถลงของฝ่ายอินเดียยังระบุว่า โครงการอวกาศของอินเดียจะร่วมกับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (นาซา) เกี่ยวกับโอกาสการบินมนุษย์อวกาศและโครงการอื่นๆ

ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ (30) ซัลลิแวนและโดวัล ได้ร่วมกิจกรรมของหอการค้าซึ่งมีผู้บริหารจากล็อกฮีด มาร์ติน, อดานี เอ็นเตอร์ไพรส์ และแอปพลายด์ แมตทีเรียลส์ เข้าร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่นานมานี้ นิวเดลียังคงสร้างความไม่พอใจให้แก่วอชิงตัน ด้วยการเข้าร่วมการซ้อมรบกับรัสเซีย ซ้ำยังเพิ่มการสั่งซื้อน้ำมันดิบซึ่งเป็นแหล่งทุนสำคัญที่รัสเซียใช้ทำสงครามในยูเครน กระนั้น สหรัฐฯก็เลือกใช้วิธีสงบปากสงบคำและคอยสะกิดเตือนอินเดียเรื่องรัสเซีย ควบคู่กับการอยู่เฉยๆ เมื่ออินเดียใช้จุดยืนแข็งกร้าวขึ้นกับจีน

ขณะเดียวกัน แม้อินเดียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (ไอพีอีเอฟ) ของคณะบริหารของไบเดนซึ่งเน้นเรื่องห่วงโซ่อุปทาน พลังงานสะอาด และการต่อต้านการทุจริต แต่นิวเดลีกลับเลือกไม่เข้าร่วมการเจรจาหลักๆ ในทางการค้าของไอพีอีเอฟ

(ที่มา: รอยเตอร์, เอเจนซีส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น