xs
xsm
sm
md
lg

เชิญร่วมวง! เลขาฯ นาโต้ยุเกาหลีใต้เอาอย่างชาติอื่น ยกระดับสนับสนุนทางทหารแก่ยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต้ เรียกร้องเมื่อวันจันทร์(30 ม.ค.) ให้เกาหลีใต้ให้เพิ่มการสนับสนุนทางทหารแก่ยูเครน ตามประเทศอื่นๆ ที่ปรับเปลี่ยนนโยบายหลังรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครน จากเดิมที่จะไม่มอบอาวุธแก่ประเทศที่อยู่ในความขัดแย้ง

สโตลเทนเบิร์ก แวะในกรุงโซลเป็นที่แรก ส่วนหนึ่งโปรแกรมเดินทางเยือนภูมิภาคแถบนี้ ในนั้นรวมถึงญี่ปุ่น โดยมีเป้าหมายเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรทั้งหลายของสหรัฐฯ ท่ามกลางวิกฤตสงครามในยูเครนและการแผ่ขยายอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ของจีน

ระหว่างพบปะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเกาหลีใต้ สโตลเทนเบิร์ก อ้างว่าเหตุการณ์ต่างๆ ในยุโรปและอเมริกาเหนือมีความเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นๆ และพันธมิตรนาโต้ต้องการช่วยจัดการภัยคุกคามระดับโลกด้วยการยกระดับความร่วมมือในภูมิภาคเอเชีย

สโตลเทนเบิร์ก พูดที่สถาบัน Chey Institute for Advanced Studies ในกรุงโซล โดยกล่าวขอบคุณเกาหลีใต้ ที่มอบความช่วยเหลือแบบที่ไม่นำไปสู่การฆ่าชีวิต (non-lethal) แก่ยูเครน แต่เรียกเร้าโซลให้ทำมากกว่านั้น พร้อมระบุ "มีความต้องการเร่งด่วนสำหรับกระสุน"

เกาหลีใต้ลงนามในข้อตกลงสำคัญๆ สำหรับมอบรถถัง อากาศยาน และอาวุธอื่นๆ หลายร้อยรายการ แก่ โปแลนด์ สมาชิกนาโต้ นับตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้น แต่ประธานาธิบดียุน ซุกยอล บอกว่า กฎหมายของประเทศห้ามจัดหาอาวุธแก่ประเทศต่างๆ ที่อยู่ในความขัดแย้ง ดังนั้น การส่งมอบอาวุธแก่ยูเครนจึงทำได้ยาก

สโตลเทนเบิร์ก เน้นว่าประเทศต่างๆ อย่างเช่น เยอรมนี สวีเดน และนอร์เวย์ เคยมีนโยบายแบบเดียวกัน แต่ตอนนี้พวกเขาได้เปลี่ยนไปแล้ว "ถ้าเราไม่ต้องการเห็นเผด็จการและทรราชเป็นผู้ชนะ เมื่อนั้น (ยูเครน) จำเป็นต้องมีอาวุธ นั่นคือความเป็นจริง" เขากล่าว

ถ้อยแถลงที่เผยแพร่โดยสื่อมวลชนแห่งรัฐในวันจันทร์ (30ม.ค.) เกาหลีเหนือ คู่อริของเกาหลีใต้ เรียกการเดินทางเยือนโซลของ สโตลเทนเบิร์ก ว่า "เป็นการโหมโรงการเผชิญหน้าและสงคราม" และเป็นการนำพาเมฆหมอกสีดำทะมึนของ "สงครามเย็นใหม่" มายังภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

เมื่อปีที่แล้ว เกาหลีใต้ส่งตัวคณะผู้แทนทูตไปประจำที่นาโต้เป็นครั้งแรก พร้อมประสานยกระดับความร่วมมือแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในด้านไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ การป้องกันทางไซเบอร์ ต่อต้านก่อการร้าย รับมือหายนะและขอบเขตด้านความมั่นคงอื่นๆ

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น