xs
xsm
sm
md
lg

เอเชียร้อนระอุ! โซลขู่ติดอาวุธนิวเคลียร์ หากความตึงเครียดเปียงยางไม่ซาลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โซลอาจติดอาวุธตนเองด้วยอาวุธนิวเคลีย์ทางเทคนิค หากว่าความตึงเครียดกับเปียงยางยังคงร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ จากคำเตือนของประธานาธิบดี ยุน ซุกยอล แห่งเกาหลีใต้เมื่อช่วงกลางสัปดาห์

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มีขึ้นหลังจาก คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือกล่าวในช่วงต้นเดือนว่า ประเทศของเขาจะพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีปใหม่ ท่ามกลางความพยายามโดดเดี่ยวและบีบรัดเปียงยางของทางสหรัฐฯ และเกาหลีใต้

"หากว่าปัญหานี้ (นิวเคลียร์เกาหลีเหนือ) ร้ายแรงยิ่งขึ้น สาธารณรัฐเกาหลีอาจประจำการอาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิค หรือถึงขั้นมีอาวุธนิวเคลียร์ของตนเองในครอบครอง" ยุนกล่าวระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันพุธ (11 ม.ค.) ตามรายงานของสื่อมวลชนท้องถิ่น

ยุน กล่าวต่อว่า "ถ้ามันเกิดขึ้น มันจะใช้เวลาไม่นานนัก และด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเรา เราอาจมีอาวุธนิวเคลียร์ในเวลาที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว"

สหรัฐฯ ถอนกองกำลังนิวเคลียร์ออกจากเกาหลีใต้ในปี 1991 ตามหลังการเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์กับเปียงยางและมอสโก

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่นั้นความสัมพันธ์ได้เสื่อมทรามลง เกาหลีเหนือยกระดับทดสอบขีปนาวุธในปีที่แล้ว และได้ผ่านกฎหมายฉบับใหม่ในเดือนกันยายน ที่ประกาศตนเป็นรัฐผู้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งรวมถึงเน้นย้ำสิทธิในการใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีศัตรูเพื่อป้องกันตนเอง รวมทั้งกำหนดว่าหากมีการโจมตีผู้นำรัฐบาล หรือระบบควบคุมและสั่งการนิวเคลียร์ อาวุธนิวเคลียร์ของพวกเขาจะโจมตีโดยอัตโนมัติในทันทีเพื่อทำลายศัตรู

สถานการณ์ที่ลุกลามบานปลายดังกล่าวก่อความวิตกแก่โซล ซึ่งเวลานี้กำลังหาทางกระชับความเป็นพันธมิตรทางทหารกับสหรัฐฯ และยกระดับความร่วมมือแน่นแฟ้นขึ้นกับญี่ปุ่น

ยุน กล่าวในวันอังคาร (10 ม.ค.) ว่าบรรดาพันธมิตรกำลังหารือเกี่ยวกับการจัดซ้อมรบร่วมรอบใหม่ ในนั้นรวมถึงการซ้อมรบแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ เช่นเดียวกับการซ้อมรบที่เกี่ยวข้องกับการช่องทางต่างๆ ในการปล่อยอาวุธนิวเคลียร์

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในวันจันทร์ (9 ม.ค.) ปฏิเสธคำกล่าวอ้างที่ระบุว่าวอชิงตันกำลังพิจารณาซ้อมรบทางนิวเคลียร์ร่วมกับเกาหลีใต้

เปียงยาง ยืนกรานว่าการยิงทดสอบขีปนาวุธของพวกเขาเป็นการตอบโต้การซ้อมรบร่วมระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ ซึ่งทางเกาหลีเหนือมองว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคง

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น