สหรัฐฯ ไม่ได้หารือในเรื่องซ้อมรบร่วมทางนิวเคลียร์กับเกาหลีใต้ จากคำพูดของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในวันจันทร์ (2 ม.ค.) ความคิดเห็นที่สวนทางกับคำกล่าวอ้างของประธานาธิบดี ยุน ซุกยอล แห่งเกาหลีใต้ ท่ามกลางความตึงเครียดขั้นสูงกับเกาหลีเหนือ
ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดี ยุน ซุกยอล เพิ่งออกมาบอกว่าโซล และวอชิงตันกำลังหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการซ้อมรบร่วมที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางนิวเคลียร์ของอเมริกา เพื่อตอบโต้โครงการปรมาณูและขีปนาวุธที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ของเกาหลีเหนือ ในขณะที่ คิม จองอึน ผู้นำเปียงยาง ตราหน้าเกาหลีใต้ว่าเป็น "ศัตรูโดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ"
"ไม่" ไบเดนตอบ หลังพวกผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาวถามว่า เวลานี้เขาอยู่ระหว่างพูดคุยหารือเกี่ยวกับการซ้อมรบนิวเคลียร์กับเกาหลีใต้หรือไม่ ทั้งนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพิ่งกลับจากไปพักผ่อนที่หมู่เกาะเวอร์จิน ซึ่งมี เจค ซุลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแหงชาติ ร่วมเดินทางไปด้วย
คำพูดของยุน เกี่ยวกับการซ้อมรบนิวเคลียร์ นับเป็นการแสดงถึงท่าทีอันแข็งกร้าวล่าสุดของเขาในประเด็นเกาหลีเหนือ หลังจากเร็วๆ นี้ เขาเรียกร้องให้กองทัพเตรียมพร้อมสำหรับสงครามด้วยศักยภาพที่เหนือกว่า ตามหลังขวบปีที่เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธมากสุดเป็นประวัติการณ์และโดรนเกาหลีเหนือเพิ่งล่วงล้ำเข้าสู่เกาหลีใต้ในสัปดาห์ที่แล้ว
"อาวุธนิวเคลียร์เป็นของสหรัฐฯ แต่การวางแผน แบ่งปันข้อมูล ควรเป็นการฝึกซ้อมและฝึกฝนร่วมกันระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ" ประธานาธิบดีเกาหลีใต้กล่าวระหว่างใหัสัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์โชซุน อิลโบ
หนังสือพิมพ์ฉบับนี้อ้างคำสัมภาษณ์ของ ยูน ระบุต่อว่า การวางแผนและการซ้อมรบร่วมจะมีเป้าหมายเพื่อนำยุทธศาสตร์ป้องปรามอย่างครอบคลุมของสหรัฐฯ มาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมกล่าวว่าวอชิงตันมีท่าทีตอบสนองในแง่บวกอย่างมากต่อแนวคิดดังกล่าว
คำจำกัดความ "การป้องปรามอย่างครอบคลุม" หมายถึงศักยภาพด้านทหารของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองกำลังนิวเคลียร์ สำหรับป้องปรามการโจมตีบรรดาพันธมิตรของอเมริกา
นานมาแล้วที่สหรัฐฯ ขยายขอบเขตการเจรจาด้านการป้อมปรามกับญี่ปุ่น สู่การพูดคุยในประเด็นนิวเคลียร์ และริเริ่มพูดคุยแบบเดียวกันกับเกาหลีใต้ในปี 2016 จากการเปิดเผยของ โธมัส คันทรีแมน อดีตรักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้านควบคุมอาวุธ ซึ่งเป็นประธานการประชุมครั้งแรกของการเจรจาดังกล่าว
"ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ถ้อยแถลงของประธานาธิบดียูน นั้นมีอะไรใหม่ และอะไรบ้างที่เป็นการพูดซ้ำสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้ว" คันทรีแมนกล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในวันจันทร์ (2 ม.ค.)
คันทรีแมน ซึ่งเวลานี้นั่งเก้าอี้ประธานบอร์ดสมาคมควบคุมอาวุธ แสดงความคิดเห็นต่อว่า คำพูดของยูน ซึ่งเป็นการส่งสารโดยตรงถึงประชาชนชาวเกาหลีใต้ ดูเหมือนเป็นการตอบโต้สิ่งที่ คันทรีแมน เรียกว่าท่าทีและโวหารยั่วยุจากเกาหลีเหนือ
"ที่ผมเห็นคือ ความพยายามของทั้งประธานาธิบดียูน และรัฐบาลไบเดน ในการสร้างความอุ่นใจแก่รัฐบาลและประชาชนชาวเกาหลีใต้ ว่าพันธสัญญาของสหรัฐฯ ยังคงเข้มแข็ง" คันทรีแมน กล่าว
ความเห็นของยุน ถูกเผยแพร่ขึ้น 1 วัน หลังจากสื่อมวลชนแห่งรัฐเกาหลีเหนือรายงานว่า คิม จองอึน ผู้นำเปียงยาง เรียกร้องพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีปใหม่ (ICBM) และยกระดับคลังแสงนิวเคลียร์ของประเทศเป็นทวีคูณ เพื่อตอบโต้ในสิ่งที่เขาให้คำจำกัดความว่าพฤติกรรมปรปักษ์จากสหรัฐฯ และเกาหลีใต้
คิม จองอึน กล่าวกับที่ประชุมพรรคแรงงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่า เวลานี้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศศัตรูของเขาอย่างไม่ต้องสงสัย และเปิดเผยเป้าหมายใหม่ด้านการทหาร แย้มว่าในปี 2023 จะเป็นอีกขวบปีแห่งการทดสอบอาวุธอย่างเข้มข้นและเต็มไปด้วยความตึงเครียด
ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติเกาหลีตึงเครียดมาช้านาน แต่สถานการณ์ร้อนแรงยิ่งขึ้นนับตั้งแต่ ยุน เข้ารับตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม
ในวันอาทิตย์ (1 ม.ค.) เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้นอกชายฝั่งทางตะวันออกของประเทศ นับเป็นการทดสอบอาวุธในวันขึ้นปีใหม่แบบที่ไม่พบเห็นบ่อยนัก หลังจากก่อนหน้านี้หนึ่งวันเพิ่งทำการทดสอบขีปนาวุธแบบทิ้งตัว 3 ลูก จารึกสถิติเป็นปีที่มีการทดสอบขีปนาวุธมากสุดเป็นเป็นประวัติการณ์
สำนักข่าวเคซีเอ็นเอ รายงานว่าขีปนาวุธถูกยิงอกจากระบบยิงจรวดหลายลำกล้องขนาดใหญ่มากของพวกเขา ซึ่ง คิม กล่าวอ้างว่าทั้งแผ่นดินเกาหลีใต้อยู่ภายในพิสัยการโจมตี และมีศักยภาพบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ทางเทคนิค
การเร่งพัฒนาโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ โหมกระพือประเด็นถกเถียงรอบใหม่เกี่ยวกับการติดอาวุธนิวเคลียร์ของทางเกาหลีใต้เอง ด้วยชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่อยากให้หันมาพัฒนาโครงการอาวุธปรมาณูในประเทศ แต่ประธานาธิบดียุน ยืนกรานว่าสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ยังคงมีความสำคัญ
(ที่มา : รอยเตอร์)