(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
America’s strategy of failure comes to Ukraine
By BRANDON J WEICHERT
17/01/2023
ด้วยความเขลาในทางยุทธศาสตร์ สหรัฐฯ จึงกำลังเกิดสภาวการณ์ “ภารกิจถูกเบี่ยงเบนไปอย่างช้าๆ” ขึ้นในยูเครน ซึ่งอเมริกาได้เคยทำความผิดพลาดถึงชีวิตเช่นนี้มาก่อนแล้ว ในการรณรงค์ทำสงครามที่ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงทั้งในอัฟกานิสถาน และในอิรัก
ตั้งแต่ที่ภารกิจทางทหารของสหรัฐฯ ประสบความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าในสถานที่ต่างๆ อย่างเช่นอัฟกานิสถานและอิรัก –และในชาติมุสลิมอื่นๆ อีกหลายๆ แห่งอย่างเช่น ลิเบีย— พวกนักวิพากษ์วิจารณ์ภารกิจของสหรัฐฯ ใน “สงครามระดับโลกเพื่อต่อสู้ลัทธิก่อการร้าย” ก็คร่ำครวญโวยวายเรื่องการขาดไร้ยุทธศาสตร์ที่มีความเกาะเกี่ยวสัมพันธ์กัน
อย่างที่วลีซึ่งถูกอ้างอิงเอาไว้ซ้ำซากจนน่าเบื่อหน่ายของ คาร์ล ฟอน เคลาเซวิตซ์ (Carl von Clausewitz) พูดเอาไว้นั่นแหละ “สงครามคือส่วนต่อขยายของการเมืองที่ใช้วิธีการอื่นๆ” (“war is an extension of politics through other means.”) ด้วยเหตุนี้ การทำสงครามโดยเนื้อแท้แล้วจึงเป็นการกระทำทางการเมือง พูดกันให้ถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้น มันคือการใช้ความรุนแรงโดยรัฐหรือตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ เพื่อสร้างความกระทบกระเทือนต่อผลลัพธ์ทางการเมือง
ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่มีการใช้กำลังทหาร คณะผู้นำทางการเมืองซึ่งออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารดังกล่าวจักต้องกำหนดจุดหมายปลายทางที่ต้องการเอาไว้แล้วอย่างชัดเจน จุดหมายปลายทางทางการเมืองที่มีการกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนแล้วเหล่านี้ต้องได้รับการส่งเสริมเกื้อหนุนโดยหนทางวิธีการต่างๆ ที่น่าเชื่อถือเพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ทางการเมืองที่สอดคล้องกับความเป็นจริงดังกล่าว หนทางวิธีการจึงเป็นทรัพยากรที่ต้องนำเอามาคำนึงเพื่อให้สามารถประสบผลในการบรรลุจุดหมายปลายทางทางการเมือง
ยิ่งไปกว่านั้น วัตถุประสงค์ทางการเมืองเหล่านี้ทางคณะผู้นำทางการเมืองและทางการทหารต้องกำหนดออกมาให้แน่นอนคงเส้นคงวา มันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงในระหว่างกลางของการดำเนินภารกิจได้ (แต่นี่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการดำเนินการในระดับยุทธวิธี ซึ่งต้องมีความยืดหยุ่นพลิกแพลง)
หนึ่งในความบกพร่องล้มเหลวที่ฉกาจฉกรรจ์ที่สุดของสหรัฐฯ ในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศแบบเข้าแทรกแซงในทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ได้แก่สิ่งที่อดีตรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ โรเบิร์ต เกตส์ (Robert Gates) เรียกว่า “การที่ภารกิจถูกเบี่ยงเบนไปอย่างช้าๆ” (mission creep) นี่ก็ทำนองเดียวกันกับการโยกย้ายเสาประตูในขณะที่เกมกำลังแข่งขันกันอยู่นั่นเอง ทำให้เกมดังกล่าวกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีทางเอาชนะได้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://content.time.com/time/nation/article/0,8599,1917232,00.html)
ดังที่การปฏิบัติการที่ประสบความล้มเหลวของอเมริกาในอัฟกานิสถาน อิรัก ลิเบีย และซีเรีย และที่อื่นๆ อีกมากมายนับตั้งแต่ปี 1945 ได้แสดงให้เห็นอยู่แล้ว สภาวการณ์ที่ “ภารกิจถูกเบี่ยงเบนไปอย่างช้าๆ” สามารถกลายเป็นความวิบัติหายนะทั้งต่อชื่อเสียงเกียรติภูมิของฝ่ายทหารสหรัฐฯ และทั้งต่อความพรักพร้อมของฝ่ายทหารสหรัฐฯ ในการดำเนินภารกิจที่ใหญ่โตยิ่งขึ้นเพื่อป้องปรามพวกรัฐคู่ปรับระดับยิ่งใหญ่จริงๆ ของสหรัฐฯ อันได้แก่ จีน รัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ
อัฟกานิสถาน : ความสูญเสียที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน
ในฐานะที่ครั้งหนึ่งเป็นฐานที่มั่นแห่งการปฏิบัติการของกลุ่มอัลกออิดะห์และพันธมิตรตอลิบานของพวกเขา หลังจากเหตุการณ์โจมตีสหรัฐฯ ในวันที่ 11 กันยายน 2001 แล้ว อัฟกานิสถานก็กลายเป็นเป้าหมายอันดับแรกแห่งการสำแดงความเคียดแค้นอย่างสมเหตุสมผลของอเมริกา
โดยอาศัยมือปฏิบัติการของหน่วยรบพิเศษเพียงไม่กี่คน พวกเจ้าหน้าที่ในกองกำลังกึ่งทหารของสำนักงานข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) ชาวชนเผ่าท้องถิ่นที่เป็นพันธมิตรจำนวนมาก และกำลังทางอากาศของฝ่ายอเมริกันที่ปฏิบัติการอย่างสุขุมมีเหตุมีผล ฝ่ายทหารสหรัฐฯ ก็สามารถโค่นล้มพวกตอลิบาน (จากอำนาจปกครองประเทศ) และกวาดล้างที่มั่นของอัลกออิดะห์ในประเทศนั้นได้อย่างทรงประสิทธิภาพ ภายในระยะเวลาประมาณ 2 เดือน นั่นคือจากเดือนตุลาคมจนถึงเดือนธันวาคม 2001
ถ้าหากไม่เป็นเพราะการวางแผนอย่างห่วยแตกในเดือนธันวาคมปีนั้น การสู้รบขัดแย้งคราวนี้ก็น่าที่จะถึงบทสรุปด้วยการจับตัวหรือการสังหาร อุซามะห์ บิน ลาดิน ได้แล้ว ขณะที่เขาหลบหนีกองกำลังอเมริกันเข้าไปอยู่ในบริเวณเชิงเขาโตราโบรา (Tora Bora)
กระทั่งว่าไม่สามารถจับกุม บิน ลาดิน ได้ แต่เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิของปี 2002 กองกำลังสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานก็ประสบความสำเร็จสามารถกระทำสิ่งที่ประชาชนชาวอเมริกันต้องการให้พวกเขาทำแล้ว อันได้แก่ พวกเขาได้ทำให้เครือข่ายก่อการร้ายในประเทศนั้นแตกกระเจิดกระเจิง และนำความยุติธรรมมาสู่กลุ่มต่างๆ ซึ่งต้องรับผิดชอบสำหรับเหตุการณ์ 9/11
แต่ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ ปรากฏว่าอเมริกันกลับยังคงตุหรัดตุเหร่อยู่ที่นั่นเป็นเวลาอีก 20 ปี ทำให้กองทหารของตนต้องหลั่งเลือด อาวุธในคลังแสงและเงินทองงบประมาณก็แห้งเหือดไปในท่ามกลางกองหินผาของอัฟกานิสถาน
เพื่อวัตถุประสงค์อะไรกันล่ะ? เริ่มแรกทีเดียว มันเป็นเรื่องของการที่พวกเขาเองต้องการแก้แค้นเหล่าร้ายที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ 9/11 แต่ทันทีที่เรื่องนี้ประสบผลสำเร็จเป็นส่วนใหญ่แล้ว ทำไมสหรัฐฯ จึงยังต้องเพิ่มเติมรอยเท้าและขยายพันธะผูกพันกับดินแดนซึ่งได้รับสมญานามมานานแล้วว่า เป็น “สุสานฝังพวกจักรวรรดิใหญ่ทั้งหลาย” (Graveyard of Empires) แห่งนี้ต่อไปอีก? เหตุผลประการหนึ่งย่อมเป็นเรื่องของการขาดไร้ยุทธศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมและที่มีความเกาะเกี่ยวสอดคล้องกัน
อิรัก : ความปลาบปลื้มยินดีของคนโง่
ในอิรัก เหตุผลข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมสำหรับการทำสงครามมีความชัดเจนมาก ได้แก่ การที่คณะบริหารของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช มีความแน่ใจว่า ซัดดัม ฮุสเซน ได้ดำเนินโครงการพัฒนาพวกอาวุธที่มีอานุภาพทำล้ายรายแรง (weapons of mass destruction หรือ WMD) โดยเฉพาะอาวุธนิวเคลียร์อย่างลับๆ ขึ้นมาเป็นจำนวนมหาศาล รวมทั้งมีการร่วมมือเป็นหุ้นส่วนกับพวกอัลกออิดะห์
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nybooks.com/articles/2021/07/22/why-did-we-invade-iraq/)
ในทันทีที่กองทัพสหรัฐฯ สามารถนอนหลับพักผ่อนอย่างสบายอกสบายใจในบริเวณหัวใจของดินแดนซึ่งได้รับฉายานามว่า “ดินแดนเสี้ยววงเดือนแห่งความอุดมสมบูรณ์ (fertile crescent) มันก็กลับกลายเป็นที่ชัดเจนแจ่มแจ้งว่าข้อกล่าวหาทั้งคู่ที่คณะบริหารบุชใช้มาเล่นงานซัดดัม ฮุสเซน นั้น เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่จริง หรือปลอมแปลงเสกสรรขึ้นมา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าคุณถามเรื่องนี้กับใคร
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.vox.com/2016/7/9/12123022/george-w-bush-lies-iraq-war)
แทนที่จะถอยออกมาและพยายามรักษาแสนยานุภาพของตนเอาไว้ นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งซึ่งฝ่ายอเมริกันกลับเลือกที่จะตุหรัดตุเหร่อยู่ที่นั่นโดยที่ตัวเองถูกหมายหัวตกเป็นเป้าใหญ่เบ้อเริ่มซึ่งจะต้องถูกเล่นงานโจมตี –ทั้งหมดเหล่านี้เกิดขึ้นขณะที่คณะบริหารจอร์จ ดับเบิลยู บุช เปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของตนอย่างเงียบๆ จากการมุ่งถอดถอนระบอบปกครองที่กำลังสร้างอาวุธมหาประลัย WMD อย่างขะมักเขม้น อีกทั้งทำงานร่วมมือกับกลุ่มอัลกออิดะห์ กลายมาเป็นการมุ่งเผยแพร่ประชาธิปไตยให้กว้างขวางไปในตะวันออกกลาง เพื่อยุติลัทธิก่อการร้าย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cfr.org/backgrounder/iraq-justifying-war)
ในอิรัก โลกได้เห็นความโง่เขลาเบาปัญญาทางยุทธศาสตร์ของอเมริกาที่มีมากมายเกินปกติชนิดสุดๆ กล่าวคือ อเมริกาได้เข้ารุกรานประเทศๆ หนึ่งโดยอิงอาศัยเหตุผลข้ออ้างที่ผิดพลาดไม่เป็นจริง เวลาเดียวกันก็ใช้กองกำลังที่มีขนาดเล็กเกินไปเป็นอย่างยิ่งสำหรับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยให้ประเทศนั้นปลอดพ้นจากพวกผู้แข็งข้อก่อความไม่สงบ มิหนำซ้ำอเมริกายังเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของตนจากอะไรบางอย่างที่สามารถบรรลุได้ (การยุติระบอบปกครองที่ถูกกล่าวหาว่ากำลังวางแผนโจมตีสหรัฐฯ ด้วยอาวุธ “นุก”) มาเป็นอะไรบางอย่างที่สอดคล้องกับความเป็นจริงน้อยลงไปนักหนา (การเผยแพร่ประชาธิปไตย) และแล้วอเมริกันก็ตกอยู่ในภาวะถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม –เพราะในกระบวนการดังกล่าวมันกลับกลายเป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่พวกศัตรูของตน (อิหร่านที่เป็นพวกอิสลามิสต์ และกลุ่มไอเอส)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.brookings.edu/research/sizing-up-an-invasion-of-iraq/)
ความงงงวยและสับสนในยูเครน
หลังจากประสบความล้มเหลวอย่างทั่วถ้วนในสงครามครั้งต่างๆ ในตะวันออกกลางของตน เวลานี้อเมริกันก็นำเอาผลิตภัณฑ์อันน่าขยะแขยงของโรงงานที่ล้มเหลวไม่เป็นท่าของตน ออกมาจัดส่งไปยังสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยหลังจากฝ่ายรัสเซียรุกรานยูเครนในปีที่แล้ว อเมริกันก็ทุ่มเทอาวุธและความสนับสนุนในรูปแบบอื่นๆ อย่างทะลักทลายเข้าไปในประเทศที่ถูกศัตรูโจมตีอย่างหนักหน่วงแห่งนี้
แต่ว่าแผนการของอเมริกาคืออะไรล่ะ? เริ่มแรกทีเดียว มันดูเหมือนกับวัตถุประสงค์ของสหรัฐฯ คือการปลุกระดมบรรดาหุ้นส่วนชาตินาโต้ของตนให้ร่วมกันขับไล่ไสส่งรัสเซียที่รุกรานเข้าไปในภาคตะวันตกของยูเครนในปี 2022 นี่เป็นยุทธศาสตร์ที่สมเหตุสมผล –และมันก็ใช้ได้ผล กองทหารรุกรานของฝ่ายรัสเซียจำนวน 160,000 คนซึ่งต้องถือว่ายังค่อนข้างมีขนาดเล็ก พังครืนไม่เป็นท่าภายใต้แรงกดดันอย่างต่อเนื่องยั่งยืนของบรรดาผู้พิทักษ์ปกป้องของยูเครน
ทันทีที่ เคียฟ มีความมั่นคงปลอดภัย และแน่ใจได้แล้วว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี จะอยู่รอดต่อไปได้ เส้นทางแห่งการปฏิบัติการที่สมเหตุสมผลย่อมต้องเป็นการเพรียกหาสันติภาพ ด้วยการเจรจาจัดทำข้อตกลงซึ่งจะทำให้ภาคตะวันตกยูเครนยังคงเป็นอิสระ และสละแคว้นต่างๆ ของภาคตะวันออกของยูเครนที่พูดภาษารัสเซียและดินแดนแหลมไครเมียไปให้แก่ฝ่ายรัสเซียอย่างเป็นทางการ
ทว่า ณ จังหวะเวลาเหมาะเหม็งที่ฝ่ายอเมริกันบรรลุเป้าหมายซึ่งตนเองปรารถนาแล้ว วอชิงตันกลับเพิ่มความพยายามอย่างใหญ่โตและส่งเสริมสนับสนุนฝ่ายยูเครนให้เปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของพวกเขาจากการพิทักษ์ปกป้องดินแดนอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง กลายมาเป็นความพยายามอย่างวิปลาสที่จะฟื้นฟูอำนาจควบคุมอย่างสมบูรณ์ของยูเครนเหนือดินแดนทั้งภาคตะวันออกของยูเครน และแหลมไครเมียที่รัสเซียจัดทำแนวป้อมกันเอาไว้อย่างแน่นหนา
ช่วงหลังๆ มานี้ พวกผู้นำฝ่ายตะวันตกเริ่มพูดจากันอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับความปรารถนาของพวกเขาที่จะเห็นประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ถูกโค่นล้ม และสหพันธรัฐรัสเซียถูกแบ่งแยกออกเป็นเสี่ยงๆ ถึงแม้เรื่องนี้ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นมาได้ กระทั่งในสภาวการณ์ที่เอื้ออำนวยอย่างที่สุด ยกเว้นแต่จะเกิดสงครามโลกแบบเบ็ดเสร็จเท่านั้น แต่พวกนักเพ้อฝันในวอชิงตนกลับลวงตัวเองและยูเครนให้หลงเชื่อ และเข้าสู่พันธกรณีแห่งการฆ่าตัวตายทางยุทธศาสตร์ซึ่งยึดโยงอยู่กับความฝันที่ไม่มีทางบรรลุได้เหล่านี้
(ดูเพิ่มเติมเรื่องความปรารถนาที่จะเห็น ปูติน ถูกโค่นได้ที่ https://www.cnbc.com/2022/03/30/can-putin-be-overthrown-russias-leader-has-sought-to-prevent-a-coup.html และเรื่องการแยกรัสเซียออกเป็นเสี่ยงๆ ได้ที่ https://gefira.org/en/2022/09/30/partitioning-russia/)
ด้วยการเดินตามพวกอเมริกันที่เป็นพวกไร้การศึกษาในด้านยุทธศาสตร์ ทั้งหมดทั้งสิ้นที่ชาวยูเครนกำลังจะกระทำก็คือการทำให้พวกเขาเองหมดเนื้อหมดตัว –โดยที่ห้องบรรจุทรัพย์สมบัติและคลังอาวุธของนาโต้ก็จะเหือดแห้งไปด้วยเช่นกัน— และทำให้พวกเขาเองยิ่งอ่อนแอหวั่นไหวต่อการตอบโต้กลับอย่างมโหฬารของฝ่ายรัสเซีย แน่นอนทีเดียวว่าสภาพเช่นนี้คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในยูเครน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://amgreatness.com/2023/01/13/russia-not-yet-defeated/)
ต้องขอบคุณการที่พวกเขามีการคบค้าสมาคมอย่างใกล้ชิดกับพวกไร้เดียงสาทางภูมิรัฐศาสตร์ในวอชิงตัน ยูเครนถูกหลอกลวงให้กระโจนพรวดอย่างไม่ยั้งคิดเข้าสู่สงครามที่พวกเขาไม่สามารถเอาชนะได้ในการต่อกรกับรัสเซียที่ติดอาวุธนิวเคลียร์พรั่งพร้อม ในขณะที่ฝ่ายตะวันตกเองก็แทบไม่ได้มีการเตรียมตัวเพื่อรับมือกับสงครามที่ขยายใหญ่โตยิ่งขึ้นซึ่งพวกเขาเองเป็นผู้กระตุ้นยั่วยุให้เกิดขึ้นมา
สหรัฐฯ จะทำยังไงต่อไป
ถ้าหากมีผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะสักคนหนึ่งอยู่ในวอชิงตันระหว่างที่เกิดวิกฤตการณ์ในปัจจุบันคราวนี้ หรือว่าอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้รับผิดชอบอยู่ในช่วงเวลานี้ มันก็มีความเป็นไปได้สูงที่ว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนทั้งสงครามครั้งนี้จะสามารถหลีกเลี่ยงไม่ต้องปะทุขึ้นมา น่าสังเวชที่ชนชั้นปกครองวอชิงตันนั้นขาดไร้ศักยภาพแห่งการตื่นตัวมีความสำนึกเกี่ยวกับตนเอง
ประดาเจ้าชายผู้ได้รับการประคบประหงมมาโดยตลอดเหล่านี้ จักต้องเสียเครื่องสังเวยให้แก่เทพเจ้าแห่งสงครามสำหรับสภาวการณ์ที่มิได้วางอยู่บนความเป็นจริงของพวกเขา พวกเขากำลังสังเวยด้วยเลือดเนื้อของชายหญิงชาวยูเครน –และในที่สุดแล้วก็จะเป็นเลือดเนื้อของเยาวชนชาวอเมริกันด้วย
ชนชั้นปกครองของวอชิงตันได้กระทำความผิดพลาดอย่างสะเพร่าไร้ความยั้งคิดในระดับทางยุทธศาสตร์มาหลายสิบปีแล้ว ด้วยความวิบัติหายนะทางนโยบายการต่างประเทศแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นมา ฐานะโดยรวมของอเมริกาในการยืนโดดเด่นอยู่ข้างบนสุดของระบบโลกก็ได้เสื่อมทรามลง จวบจนกระทั่งมาถึงระดับตกต่ำสุดๆ ของตนในปัจจุบัน
จากสงครามครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งเป็นเหมือนไฟไหม้ป่าที่เกิดขึ้นอย่างไร้แผนการ ควบคุมไม่อยู่ ทำนายคาดการณ์ไม่ได้ และไม่มีจุดสิ้นสุดเหล่านี้ พลังอำนาจและจุดยืนในโลกของอเมริกาจึงกำลังถูกตอนถูกสกัดกั้นอย่างน่าหดหู่ เวลานี้สหรัฐฯ จึงต้องตัดสินใจเลือกอย่างเด็ดเดี่ยวแล้วว่าจะทำอะไรต่อไป
ถ้าหากวอชิงตันไม่พยายามอย่างเต็มเหนี่ยวเพื่อสร้างปาฏิหาริย์ขึ้นในยูเครนแล้ว ฝ่ายรัสเซียก็จะบดขยี้ยูเครน และจากนั้นก็ทำให้กลุ่มพันธมิตรนาโต้แตกออกเป็นเสี่ยง –ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นการปิดฉากยุติฐานะทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในยุโรป และน่าที่จะเป็นการให้กำเนิดระเบียบโลกใหม่ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง โดยที่จะมีศูนย์อำนาจขึ้นมาหลายๆ แห่ง แทนที่จะมีอเมริกาเป็นศูนย์อำนาจหนึ่งเดียวเท่านั้น
ชะตากรรมเช่นนี้น่าจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ ถ้าหากที่ผ่านมาสหรัฐฯ ให้ความใส่ใจเพิ่มมากขึ้นกับเรื่องยุทธศาสตร์แทนที่จะมุ่งแต่เรื่องอุดมการณ์ กระนั้นก็ตาม ไม่ว่ายังไงสหรัฐฯ ก็กำลังหวนกลับคืนสู่โลกความเป็นจริงอยู่ดี มันจะไม่ใช่สิ่งที่สวยงามหรอกเมื่อสหรัฐฯ มีความตระหนักขึ้นมาว่าตนเองได้ตกต่ำหล่นฮวบลงมาไกลถึงขนาดไหนแล้ว
แบรนดอน เจ ไวเชิร์ต เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Winning Space : How America Remains a Superpower เขาเป็นนักวิเคราะห์เชิงภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งบริหารจัดการสิ่งพิมพ์ออนไลน์เน้นหนักการเมืองโลกที่ใช้ชื่อว่า The Weichert Report: World News Done Right ผลงานของเขามีปรากฏอย่างสม่ำเสมอในสื่ออย่าง The Washington Times และ Real Clear Politics ไวเชิร์ต เป็นอดีตเจ้าหน้าที่รัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งสำเร็จการศึกษาได้ปริญญาโท MA ด้านการบริหารรัฐกิจและกิจการความมั่นคงแห่งชาติ จากสถาบันการเมืองโลก (Institute of World Politics) ในกรุงวอชิงตัน และเป็นสมาชิกสมทบของวิทยาลัยนิวคอลเลจ (New College) แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด