xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : ไร้วี่แววเจรจา! สหรัฐฯ-พันธมิตรแห่เติมอาวุธช่วย ‘ยูเครน’ รัสเซียยกระดับ ‘3 เหล่านิวเคลียร์’ พลิกเกมสงคราม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กลุ่มควันจากการสู้รบในเมืองบัคห์มุต (Bakhmut) ทางตะวันออกของยูเครน หลังจากที่รัสเซียประกาศหยุดยิง 36 ชั่วโมงเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสออร์โธดอกซ์ เมื่อวันที่ 7 ม.ค.
รัสเซียเตรียมยกระดับกองกำลังนิวเคลียร์ทั้ง 3 เหล่า (nuclear triad) ของประเทศ รวมถึงปรับปรุงคลังแสงและเพิ่มพูนเทคโนโลยีการบิน หลังจากประสบความพ่ายแพ้ต่อเนื่องในสมรภูมิยูเครน ขณะที่องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ประกาศจับมือสหภาพยุโรป (อียู) อัดฉีดอาวุธช่วยเคียฟ ท่ามกลางสัญญาณเตือนว่ารัสเซียอาจเปิดแนวรบใหม่ในอีกไม่ช้า

ปฏิบัติการรุกรานยูเครนที่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. ปีที่แล้ว ได้ฉุดภูมิภาคยุโรปเข้าสู่ความขัดแย้งครั้งรุนแรงที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และถือเป็นการเผชิญหน้าครั้งใหญ่ที่สุดระหว่างมอสโกกับโลกตะวันตกนับตั้งแต่วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาในปี 1962 ซึ่งเป็นช่วงที่สหภาพโซเวียตและสหรัฐฯ หมิ่นเหม่จะเปิดสงครามนิวเคลียร์กัน

ตลอดระยะเวลาเกือบ 11 เดือน กองทัพแดนหมีขาวต้องเผชิญกับความปราชัยที่น่าอับอายหลายครั้ง และเสียรู้กลศึกให้ยูเครนที่แม้จะมีแสนยานุภาพด้อยกว่าหลายเท่า แต่ได้รับการสนับสนุนทั้งด้านอาวุธ และข่าวกรองจากสหรัฐฯ และพันธมิตรยุโรป

สงครามรัสเซีย-ยูเครนคร่าชีวิตทหารและพลเรือนทั้งสองฝ่ายไปแล้วนับหมื่นๆ คน และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้ เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายยังคงเดินหน้าเติมอาวุธให้กองกำลังของฝ่ายตนเองอย่างไม่มีใครยอมใคร

สัปดาห์ที่แล้ว ขบวนรถไฟที่ขนทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์จากรัสเซียเดินทางเข้าไปถึง “เบลารุส” ซึ่งทำให้หลายฝ่ายจับตาว่ามอสโกอาจจะใช้ดินแดนของพันธมิตรรายนี้โจมตียูเครนจากทางด้านเหนือ

กระทรวงกลาโหมเบลารุสออกมายืนยันการมาถึงของกองกำลังรัสเซียเมื่อวันศุกร์ที่ 6 ม.ค. พร้อมเผยว่า ประธานาธิบดี อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ได้เดินทางไปเยี่ยมฐานทัพที่ทหารรัสเซียประจำการอยู่ด้วยตนเอง

เซียร์เก ชอยกู รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย กล่าวกับบรรดานายพลระดับสูงว่ากองทัพหมีขาวจำเป็นต้องศึกษาบทเรียนจากทั้งสงครามในยูเครนและสงครามกลางเมืองซีเรีย ซึ่งรัสเซียได้ยื่นมือเข้าแทรกแซงเพื่อช่วยค้ำจุนฐานอำนาจให้ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด

“เราจำเป็นต้องวิเคราะห์ประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งในยูเครนและซีเรียอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยให้สามารถร่างแผนการฝึกยุทธวิธีให้บุคลากร รวมถึงวางแผนในการขนส่งเสบียงอาวุธ” ชอยกู ระบุ

รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซียยังประกาศเดินหน้าพัฒนากองกำลังนิวเคลียร์ทั้ง 3 เหล่า ซึ่งได้แก่ ขีปนาวุธทิ้งตัว กองเรือดำน้ำ และฝูงบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากอาวุธเหล่านี้ถือเป็น “เครื่องมือหลักที่จะช่วยรับประกันอธิปไตยของชาติ”

ฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถามกับ ชอยกู ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า เหตุใดรัสเซียจึงล้มเหลวในการสำแดงศักยภาพด้านการบินที่เหนือชั้นกว่าในยูเครน เหตุใดเหล่านายพลจึงก่อความผิดพลาดทางเทคนิคอย่างร้ายแรงเช่นนั้น และเหตุใดทหารรัสเซียจึงถูกส่งออกไปรบโดยปราศจากทั้งอาวุธที่ดีพอ ข่าวกรอง หรือแม้กระทั่งชุดปฐมพยาบาล

ชอยกู ยืนยันว่านับแต่นี้ไปรัสเซียจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับกองทัพอากาศ ยกระดับศักยภาพด้านการโจมตี รวมถึงปรับปรุงสายบัญชาการ การสื่อสาร และการฝึกฝนกำลังพลให้ดียิ่งขึ้น

"รัสเซียจะเพิ่มศักยภาพการสู้รบของกองกำลังการบินและอวกาศ ทั้งในแง่ของภารกิจฝูงบินขับไล่และฝูงบินทิ้งระเบิดในพื้นที่ต่างๆ ที่มีระบบป้องกันภัยทางอากาศล้ำสมัยปฏิบัติการอยู่ และในแง่ของการปรับปรุงอากาศยานไร้คนขับ" ชอยกู กล่าว

สื่อ CNN อ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายสหรัฐฯ และยูเครนซึ่งระบุว่า อัตราการยิงปืนใหญ่ของรัสเซียนั้นลดลงมากที่สุดในรอบ 11 เดือน โดยบางพื้นที่ลดลงถึง 75% ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่าคลังอาวุธของมอสโกกำลังร่อยหรอลงเรื่อยๆ หรือไม่ก็คือยูเครนสามารถยึดพื้นที่คืนได้มากขึ้น ข้อมูลนี้ยังจุดประเด็นคำถามเกี่ยวกับความพร้อมรบของรัสเซีย หลังจากที่มีเจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐฯ ออกมาให้ข้อมูลว่ากระสุนปืนใหญ่ที่รัสเซียใช้อยู่เป็นของเก่าเก็บตั้ง 40 ปีมาแล้ว

ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย
- การเผชิญหน้าระหว่าง ‘รัสเซีย’ กับ ‘นาโต’

นิโคไล พาทรูเชฟ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งรัสเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดของ ปูติน ออกมายอมรับในสัปดาห์นี้ว่า สงครามในยูเครนไม่ใช่การสู้รบระหว่างมอสโกกับเคียฟอีกต่อไป หากแต่กลายเป็นการเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียกับนาโต

“สถานการณ์ในยูเครนตอนนี้ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างมอสโกและเคียฟ แต่เป็นการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างรัสเซียกับนาโต ซึ่งมีสหรัฐฯ และอังกฤษเป็นตัวการใหญ่อยู่เบื้องหลัง” พาทรูเชฟ ให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ Argumenti Fakti

“แผนการของพวกตะวันตกคือการฉีกรัสเซียออกเป็นส่วนๆ และลบรัสเซียออกจากแผนที่การเมืองโลกในที่สุด”

ในฐานะอดีตสายลับโซเวียตที่สนิทสนมกับ ปูติน มาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 แนวคิดของ พาทรูเชฟ นับว่ามีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการกำหนดนโยบายของผู้นำระดับสูงในเครมลิน เขายังเคยวิจารณ์นักการเมืองชั้นนำของตะวันตกว่ามีนิสัยฉ้อฉล และถูกควบคุมโดยกลุ่มธุรกิจข้ามชาติที่วางแผนปลุกปั่นให้เกิด “การปฏิวัติสี” ในทั่วทุกมุมโลก

“รัฐอเมริกันก็แค่เปลือกนอกของกลุ่มองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีอำนาจปกครองประเทศ และพยายามที่จะครอบงำโลก” พาทรูเชฟ กล่าว

เขาชี้ว่า สหรัฐฯ เข้าไปยุยงให้เกิดความแตกแยกวุ่นวายทั้งในอัฟกานิสถาน เวียดนาม และตะวันออกกลาง อีกทั้งยังพยายามมาหลายปีที่จะบ่อนทำลายวัฒนธรรมและภาษาอันโดดเด่นของชาวรัสเซีย

พาทรูเชฟ ยังอ้างว่ารัสเซียกำลังเป็น “เหยื่อ” ของชาติตะวันตกที่ต้องการบีบเส้นพรมแดนรัสเซียให้เหลือไม่ต่างจากในยุค “แกรนด์ดัชชีมอสโก” ในช่วงศตวรรษที่ 15 และชี้ว่าตะวันตกจงใจทำให้ยูเครนสูญเสียมากที่สุดเพื่อบั่นทอนกำลังของรัสเซีย

เขายืนยันว่ารัสเซียจะก้าวไปสู่ความมีอธิปไตยทางเศรษฐกิจและการพึ่งพาตนเองในทางการเงิน และจะยกระดับแสนยานุภาพกองทัพและหน่วยรบพิเศษเพื่อต่อต้านผู้รุกรานไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม

ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า นาโต และสหรัฐฯ ได้เข้ามาเป็นฝักฝ่ายหนึ่งในสงครามยูเครน “ทางอ้อม” ด้วยการจัดส่งทั้งอาวุธ เทคโนโลยี และข่าวกรองให้เคียฟ

สหรัฐฯ ปฏิเสธว่าไม่เคยมีเจตนาทำลายล้างรัสเซียซึ่งเป็นชาติผู้ผลิตทรัพยากรธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลก ขณะที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ก็เตือนว่าความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและนาโตเสี่ยงที่จะเป็นชนวนนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3

เยน สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการนาโต เปิดแถลงข่าวร่วมกับ อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 11 ม.ค.
- นาโต-อียูจับมือหนุน ‘ยูเครน’

นาโตและสหภาพยุโรป (อียู) ออกคำแถลงร่วมเมื่อวันอังคาร (10) ว่าจะยกระดับความร่วมมือเพื่อมอบความช่วยเหลือแก่ยูเครนมากขึ้นไปอีก หลังจากที่ผ่านมา ทั้ง 2 องค์กรซึ่งมีรัฐสมาชิกร่วมกันอยู่ 21 ประเทศ ได้สนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่เคียฟแล้วเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า ยูเครนจำเป็นต้องได้เครื่องไม้เครื่องมือ “ทุกอย่างที่จำเป็น” ซึ่งรวมถึงระบบป้องกันภัยทางอากาศและอาวุธที่ทันสมัยอื่นๆ เพื่อที่จะสามารถปกป้องแผ่นดินแม่เอาไว้ได้ ขณะที่ เยน สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการนาโต กล่าวหลังลงนามในคำแถลงร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอียูว่า “เราจำเป็นที่จะต้องยกระดับความเป็นหุ้นส่วนระหว่างนาโตและอียูให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และจะต้องสนับสนุนยูเครนอย่างเข้มแข็งยิ่งกว่าที่เป็นอยู่”

สโตลเตนเบิร์ก เผยด้วยว่า ผู้นำชาติตะวันตกจะมีการหารือกับรัฐมนตรีกลาโหมยูเครนในสัปดาห์หน้า เพื่อระบุให้ชัดเจนว่าอาวุธชนิดใดบ้างที่จำเป็น และกลุ่มพันธมิตรจะสามารถจัดหาให้ได้ด้วยวิธีใดบ้าง

สหรัฐฯ เยอรมนี และฝรั่งเศส ออกมาประกาศมอบยานเกราะต่อสู้ให้ยูเครน ทว่าเคียฟยังคงรบเร้าขอให้ชาติมหาอำนาจเหล่านี้ส่ง “รถถังหนัก” ที่มีประสิทธิภาพทันสมัยให้ด้วย

ผู้นำโปแลนด์ประกาศในวันพุธ (11) ว่าพร้อมจะส่งรถถัง Leopard-2 ให้ยูเครน โดยเป็นส่วนหนึ่งของความช่วยเหลือร่วมกับกลุ่มพันธมิตรนาโต

รัฐบาลแคนาดาประกาศซื้อระบบป้องกันขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศขั้นสูง (National Advanced Surface-to-Air Missile Systems - NASAMS) ที่ผลิตโดยบริษัท เรย์ธีออน ของสหรัฐฯ เพื่อมอบแก่ยูเครน โดยการตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นหลังจากนายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด ได้พบปะพูดคุยกับประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่กรุงเม็กซิโกซิตีเมื่อวันอังคาร (10)

อานิตา อนันด์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมแคนาดา ระบุว่านี่เป็นครั้งแรกที่แคนาดาได้บริจาคระบบป้องกันภัยทางอากาศให้แก่ยูเครน โดยการบริจาคครั้งนี้มีมูลค่าราว 406 ล้านดอลลาร์แคนาดา หรือประมาณ 10,100 ล้านบาท และเป็นส่วนที่เพิ่มเติมจากเงินช่วยเหลือ 500 ล้านดอลลาร์แคนาดาที่ออตตาวารับปากว่าจะมอบให้ยูเครนเมื่อเดือน พ.ย.

สำหรับระบบ NASAMS นั้นเป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศยิงจากภาคพื้น มีระยะทำการพิสัยใกล้ไปจนถึงปานกลาง และสามารถใช้ต่อต้านการโจมตีไม่ว่าจะเป็นโดรน ขีปนาวุธ หรืออากาศยานก็ตาม

ขณะเดียวกัน กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ประกาศเมื่อวันอังคาร (10) ว่าอเมริกาจะช่วยฝึกฝนบุคลากรของยูเครนที่ฐานทัพแห่งหนึ่งในรัฐโอคลาโฮมา เพื่อให้กำลังพลยูเครนเรียนรู้วิธีใช้งานและซ่อมบำรุงระบบป้องกันขีปนาวุธ MIM-104 Patriot ที่วอชิงตันกำลังส่งมอบแก่เคียฟ

ประธานาธิบดี ไบเดน รับปากจะส่งมอบขีปนาวุธแพทริออตให้แก่ยูเครนเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งถือได้ว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของเคียฟที่พยายามกดดันร้องขอระบบดังกล่าวจากสหรัฐฯ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ระบบแพทริออตนั้นผ่านการพิสูจน์ประสิทธิภาพมาแล้วในซาอุดีอาระเบีย โดยสามารถยิงสกัดขีปนาวุธทิ้งตัวที่ออกแบบโดยอิหร่านและยิงออกมาจากเยเมน ขณะที่เรย์ธีออนซึ่งเป็นผู้ผลิตเผยว่า ระบบนี้ช่วยยิงสกัดขีปนาวุธทิ้งตัวระหว่างการสู้รบในสมรภูมิทั่วโลกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 150 ลูกตั้งแต่เดือน ม.ค.

ปฏิบัติการซ้อมรบร่วมระหว่างกองทัพบก กองกำลังเนชันแนลการ์ด และกองกำลังความมั่นคงยูเครน (SBU) ใกล้พรมแดนเบลารุส เมื่อวันที่ 11 ม.ค.

ยานเกราะและรถถังของสหรัฐฯ เดินทางโดยเรือมาขึ้นฝั่งที่เนเธอร์แลนด์เมื่อวันที่ 11 ม.ค. และจะถูกส่งไปประจำการในโปแลนด์และลิทัวเนียตามแผนเสริมกำลังทหารบริเวณพรมแดนฝั่งตะวันออกของนาโต
กำลังโหลดความคิดเห็น