xs
xsm
sm
md
lg

สุมไฟใส่เอเชีย!? อเมริกา-ญี่ปุ่นกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคง ตั้งกรมนาวิกโยธินชายฝั่ง ขยายสัญญาร่วมป้องกันให้ครอบคลุม‘อวกาศ’ มุ่งหน้าสู้กับจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่น ยาซูกาสึ ฮามาดะ, รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น โยชิมาสะ ฮายาชิ , รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน, และรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการหารือกันที่กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันในกรุงวอชิงตันเมื่อวันพุธ (11 ม.ค.)
อเมริกา-ญี่ปุ่น ประกาศในวันพุธ (11 ม.ค.) ขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับจีน รวมทั้งเป็นการสานต่อจากการที่โตเกียวประกาศขยายแสนยานุภาพทางทหารของตนครั้งสำคัญในเดือนที่แล้ว โดยที่วอชิงตันจะจัดตั้งกรมทหารนาวิกโยธินชายฝั่งขึ้นมาจากกำลังซึ่งประจำการที่โอกินาวาในปัจจุบัน พร้อมติดตั้งระบบอาวุธเพิ่มเติม เช่น ขีปนาวุธต่อสู้เรือ นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยังจะขยายความร่วมมือครอบคลุมด้านอวกาศ

ภายหลังการหารือระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีกลาโหมของญี่ปุ่น-สหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตัน เมื่อวันพุธ (11) ทั้งสองฝ่ายออกคำแถลงร่วมซึ่งระบุว่า สองประเทศนำเสนอวิสัยทัศน์แห่งการจับมือเป็นพันธมิตรกนชนิดที่ปรับปรุงให้ทันสมัย เพื่อชัยชนะในยุคใหม่แห่งการแข่งขันทางยุทธศาสตร์

ในคำแถลงร่วมฉบับนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน, รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน พร้อมกับผู้ดำรงตำแหน่งเดียวกันของฝ่ายญึ่ปุ่น คือ โยชิมาสะ ฮายาชิ และ ยาซูกาสึ ฮามาดะ กล่าวว่า จีนกำลังเป็นภัยคุกคามต่อระเบียบระหว่างประเทศ “อย่างชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน” และพวกเขาจะใช้ความพยายามเพิ่มขึ้นอย่างจริงจังเพื่อรับมือ

“นโยบายการต่างประเทศของจีน มุ่งหาทางปรับเปลี่ยนระเบียบระหว่างประเทศให้กลายเป็นผลประโยชน์ของตน และเพื่อบรรลุการสร้างเสริมอำนาจของจีนที่กำลังเติบโตขึ้นทุกทีทั้งในทางการเมือง, เศรษฐกิจ, การทหาร, และทางเทคโนโลยี” คำแถลงร่วมบอก “พฤติกรรมนี้ก่อให้เกิดความกังวลอย่างจริงจังแก่กลุ่มพันธมิตรนี้ และแก่ประชาคมระหว่างประเทศโดยรวม และเป็นตัวแทนความท้าทายทางยุทธศาสตร์ที่ใหญ่โตที่สุดในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และกว้างไกลยิ่งกว่านั้นอีก”

ทั้งนี้ปักกิ่งเองตอบโต้ข้อกล่าวหาเช่นนี้ของสหรัฐฯและพันธมิตรว่า วอชิงตันต่างหากที่กำลังพยายามรักษาฐานะความเป็นเจ้าเหนือกว่าใครๆ ในโลกอย่างสุดฤทธิ์ พร้อมกับชี้ถึงข้อเท็จจริงที่ว่า สหรัฐฯคือผู้ที่มาตั้งฐานทัพต่างๆในเอเชีย ดินแดนซึ่งอยู่ห่างจากอเมริกาเป็นพันๆ กิโลเมตร

คำแถลงร่วมฉบับนี้ยังระบุว่า จากสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันรุนแรง กำลังทหารอเมริกันซึ่งมีอยู่ในญี่ปุ่นควรได้รับการปรับปรุงยกระดับ ด้วยการประจำการของกองกำลังซึ่งปรับตัวง่าย ยืดหยุ่น และเคลื่อนที่ได้รวดเร็วมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มสมรรถนะทางด้านข่าวกรอง การเฝ้าตรวจ และการลาดตระเวน ตลอดจนการขนส่ง

โดยที่สองฝ่ายเห็นพ้องกันจะปรับเปลี่ยนทหารอเมริกัน ซึ่งประจำอยู่ที่เกาะโอกินาวา ทางภาคใต้ของญี่ปุ่นอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งของการปรับเปลี่ยนนี้ จะมีการเพิ่มสมรรถนะในการต่อสู้เรือ ซึ่งจะเป็นสิ่งจำเป็นในเหตุการณ์ที่จีนบุกไต้หวัน หรือก่อพฤติการณ์เป็นศัตรูอื่นๆ ในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก

นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายยังระบุอย่างชัดเจนเป็นทางการว่า ในสนธิสัญญาความมั่นคงสหรัฐฯ-ญี่ปุ่นที่จัดทำกันมาหลายสิบปีแล้วนั้น จะครอบคลุมถึงอวกาศด้วย โดยถ้าหากเกิด “การโจมตีใส่, โจมตีจาก, และโจมตีภายในอวกาศ” ต่อประเทศทั้งสอง ก็ถือว่าเป็นชนวนนำไปสู่การบังคับใช้สนธิสัญญาฉบับนี้ซึ่งระบุว่า การโจมตีประเทศหนึ่งเท่ากับเป็นการโจมตีทั้งสองประเทศ

ระหว่างการแถลงข่าวร่วมภายหลังการหารือ รัฐมนตรีกลาโหมออสตินของสหรัฐฯ พูดถึงแผนการจัดตั้งกรมทหารนาวิกโยธินชายฝั่งขึ้นที่เกาะโอกินาวา ซึ่งอยู่ใกล้เกาะไต้หวัน ภายในปี 2025 พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์สำคัญต่างๆ ที่รวมถึงขีปนาวุธต่อสู้เรือ

กรมนาวิกโยธินชายฝั่งของสหรัฐฯ สามารถปฏิบัติการป้องกันข้าศึกได้ทั้งทางทะเลและทางอากาศ โดยสำหรับกรณีนี้จะเป็นการปรับเปลี่ยนกรมทหารนาวิกโยธินที่ 12 ซึ่งประจำการอยู่ในโอกินาวาอยู่แล้ว ให้เป็นกรมทหารนาวิกโยธินชายฝั่งที่ 12 ที่จะมีขจนาดเล็กลงแต่เคลื่อนที่ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯลายรายกล่าวว่า จะไม่มีการเพิ่มจำนวนนาวิกโยธินสหรัฐฯบนเกาะโอกินาวา และไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใดๆ ในเรื่องสมรรถนะด้านอาวุธ

สำนักข่าวเอพีบอกว่า กรมนาวิกโยธินชายฝั่ง 1 กรม จะมีทหารนาวิกโยธินราว 2,000 คน โดยในจำนวนนี้จะมีทีมสู้รบซึ่งควบคุมดูแลการใช้ระบบขีปนาวุธต่อสู้เรือ, กองพันส่งกำลังบำรุง, และกองพันป้องกันภัยทางอากาศ ขณะที่กรมนาวิกโยธินซึ่งประจำอยู่ที่โอกินาวาเวลานี้มีนาวิกโยธินและกลาสีราวๆ 3,400 คน

พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯยังเผยด้วยว่า สหรัฐฯยังจะส่งกำลังทหารบก 1 กองร้อย ซึ่งประกอบด้วยทหาร 300 คน และเรือ 13 ลำไปประจำการในญี่ปุ่นในฤดูใบไม้ผลินี้ เพื่อช่วยในเรื่องการขนส่งทหารและอาวุธของสหรัฐฯและญี่ปุ่น จะได้เคลื่อนย้ายกำลังได้อย่างรวดเร็ว

ก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน ญี่ปุ่นยังได้แถลงว่าจะเริ่มต้นก่อสร้างรันเวย์ 2 รันเวย์คู่กัน ขึ้นบนเกาะมาเงชิมะ ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ ทางภาคใต้ของญี่ปุ่น เพื่อใช้สำหรับการซ้อมรบร่วมระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ โดยที่จะมีทั้งการฝึกที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบินขับไล่เทคโนโลยีสเตลธ์แบบ เอฟ-35 บี, การปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก, และการสกัดกั้นขีปนาวุธ ทั้งนี้กำหนดกันคร่าวๆ ว่าจะเริ่มขึ้นได้ภายในเวลา 4 ปี

เกาะมาเงชิมะ ซึ่งอยู่นอกชายฝั่งทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองคาโงชิมะ อันเป็นเมืองที่อยู่ทางใต้ที่สุดของเกาะคิวชู จะถูกใช้เป็นฮับสำหรับกำลังทหารและเครื่องกระสุนสัมภาระ ในกรณีที่เกิดการสู้รบขัดแย้งขึ้นมา อย่างเช่น เกิดเหตุฉุกเฉินที่ไต้หวัน

ภายหลังการหารือในวันพุธแล้ว ออสตินยังจะพูดคุยกับ รัฐมนตรีกลาโหมฮามาดะของญี่ปุ่นอีกครั้งในวันพฤหัสฯ (12) ที่เพนตากอน ก่อนที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะพบกับนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่นที่ทำเนียบขาวในวันรุ่งขึ้น (13)

เจ้าหน้าที่อาวุโสในคณะบริหารสหรัฐฯ คาดว่า ไบเดนและคิชิดะจะหารือกันเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงและเศรษฐกิจโลก และอาจรวมถึงการควบคุมการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ให้จีน หลังจากปีที่แล้ววอชิงตันประกาศมาตรการจำกัดการส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอย่างเข้มงวด

การกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างโตเกียวกับวอชิงตันครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากเมื่อเดือนที่แล้วญี่ปุ่นประกาศขยายแสนยานุภาพทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งถือเป็นการเดินหมากครั้งสำคัญในการยุติลัทธิสันตินิยมของญี่ปุ่นที่ดำเนินมา 7 ทศวรรษ

แผนการระยะ 5 ปีดังกล่าวจะเพิ่มงบการใช้จ่ายทางการทหารเป็น 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สอดคล้องกับเป้าหมายของชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต)

นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีแผนจัดหาขีปนาวุธที่สามารถโจมตีเรือและเป้าหมายภาคพื้นดินในพิสัย 1,000 กิโลเมตร

บลิงเคนกล่าวในวันพุธว่า อเมริกาสนับสนุนการเพิ่มงบประมาณการทหารและการตัดสินใจสร้างแสนยานุภาพในการโต้ตอบของญี่ปุ่น

อย่างไรก็ดี ออสตินตั้งข้อสังเกตว่า แม้จีนเพิ่มกิจกรรมทางทหารใกล้ช่องแคบไต้หวัน แต่เขาไม่คิดว่า ความเคลื่อนไหวเหล่านั้นเป็นการส่งสัญญาณว่า จีนมีแผนบุกไต้หวันเร็วๆ นี้

การเจรจาระหว่างอเมริกากับญี่ปุ่นยังเกิดขึ้นก่อนการเดินทางเยือนปักกิ่งของบลิงเคน ที่กล่าวว่า ไบเดนมุ่งมั่นที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความตึงเครียด และย้ำว่า อเมริกาไม่ต้องการความขัดแย้งและจะจัดการการแข่งขันอย่างมีความรับผิดชอบ

(ที่มา: เอพี, รอยเตอร์, เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น