คณะกรรมการกำกับดูแล (Oversight Board) ของเมตา บริษัทแม่เฟซบุ๊ก ตัดสินใจเลิกแบนสโลแกน ‘death to Khamanei’ ที่ถูกใช้เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำสูงสุดอิหร่าน โดยให้เหตุผลว่าคำพูดดังกล่าวไม่ถือเป็นการละเมิดกฎห้ามข่มขู่ใช้ความรุนแรง
คณะกรรมการซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก เมตา แต่ปฏิบัติงานในฐานะองค์กรอิสระชี้แจงว่า ข้อความดังกล่าวมักจะถูกใช้ในความหมายเดียวกับ ‘down with Khamenei’ ซึ่งหมายถึงการขับไล่ อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำทางจิตวิญญาณสูงสุดของอิหร่าน ซึ่งอนุมัติให้หน่วยงานความมั่นคงใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงอย่างหนักหน่วงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
ทางคณะกรรมการยังเรียกร้องให้ เมตา ปรับปรุงนโยบายควบคุมคอนเทนต์ให้คำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้มากขึ้น และมีข้อกำหนดที่ชัดเจนว่าข้อความโจมตีประมุขรัฐลักษณะไหนบ้างที่ได้รับอนุญาตให้โพสต์ได้
“ในบริบทของข้อความนี้ รวมไปถึงสถานการณ์ทางสังคม การเมือง และภาษาศาสตร์ในอิหร่าน คำว่า ‘marg bar Khamenei’ สมควรถูกตีความเท่ากับ ‘down with’ และให้นับเป็นสโลแกนทางการเมือง ไม่ใช่การข่มขู่เอาชีวิต” คณะกรรมการระบุในคำวินิจฉัย
เหตุประท้วงในอิหร่านมีต้นตอมาจากกรณีของ มะห์ซา อามินี (Mahsa Amini) หญิงเชื้อสายเคิร์ด วัย 22 ปี ซึ่งเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 16 ก.ย. หลังถูกตำรวจศีลธรรมอิหร่านควบคุมตัวฐานคลุมฮิญาบไม่เรียบร้อย ก่อนจะลุกลามบานปลายจนกลายเป็นกระแสลุกฮือต่อต้านรัฐบาลจากทุกๆ ภาคส่วนของสังคม และทำให้ฐานอำนาจของผู้ปกครองทางศาสนาในอิหร่านถูกสั่นคลอนมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติอิสลามขึ้นเมื่อปี 1979
รัฐบาลอิหร่านกล่าวโทษ “ต่างชาติ” ว่าสนับสนุนผู้ประท้วงให้ก่อจลาจล โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อบั่นทอนเสถียรภาพของเตหะราน
เมตา มีนโยบายห้ามใช้ภาษาที่ปลุกปั่นยุยงความรุนแรง แต่ก็พยายามบังคับใช้กฎเฉพาะกับข้อความที่เป็นการข่มขู่อย่างจริงจังและน่าเชื่อถือเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ตอนที่รัสเซียส่งทหารบุกยูเครนเมื่อปีที่แล้ว เมตาก็เคยอนุญาตให้โพสต์ข้อความสาปแช่งประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน “ไปตาย” ได้เช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานในภูมิภาคดังกล่าวได้ระบายความคับแค้นใจเกี่ยวกับสงคราม ก่อนจะกลับมาแบนข้อความดังกล่าวอีกครั้งหลังสื่อนำเรื่องราวมาตีแผ่
ที่มา : รอยเตอร์