รัฐบาลอิหร่านเรียกทูตฝรั่งเศสเข้าพบเมื่อวันพุธ (4 ม.ค.) เพื่อประท้วงกรณีนิตยสารเสียดสีสังคม “ชาร์ลีเอ็บโด” (Charlie Hebdo) วาดการ์ตูนล้อเลียน อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำทางจิตวิญญาณสูงสุดของอิหร่าน ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสออกมาแถลงโต้ทันควัน โดยแนะให้อิหร่านกลับไป “ย้อนดูพฤติกรรมตัวเอง”
นิตยสารรายสัปดาห์ของฝรั่งเศสได้ตีพิมพ์ภาพการ์ตูน คอเมเนอี หลายสิบภาพ โดยอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของการ “ประกวด” ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ธ.ค. เพื่อแสดงออกถึงการสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงในอิหร่านที่ออกมาแสดงพลังต่อต้านรัฐ
“สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านจะไม่ยอมให้มีการดูหมิ่นเหยียดหยามสิ่งซึ่งเป็นที่เคารพสักการะและค่านิยมของอิสลาม ของศาสนา และของชาติในทุกๆ รูปแบบ” นัสเซอร์ คานานี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน บอกกับทูตฝรั่งเศสตามรายงานของสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ ขณะที่ ฮอสเซน อามีร์อับดอลลาไฮน์ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน เตือนว่าการ “ดูหมิ่นอย่างไร้ศีลธรรม” เช่นนี้จะต้องเผชิญมาตรการตอบโต้ พร้อมทั้งตำหนิรัฐบาลฝรั่งเศสว่า “ทำเกินไป”
แคทเธอรีน โคลอนนา รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ได้ออกมาตอบโต้ท่าทีของอิหร่านในวันพฤหัสบดี (5) โดยขอให้อิหร่าน “ดูสถานการณ์ในบ้านตัวเอง” ก่อนที่จะมาวิจารณ์ฝรั่งเศส
ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสและอิหร่านย่ำแย่ลงมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังความพยายามฟื้นเจรจานิวเคลียร์ไม่ได้ผล และเตหะรานได้จับกุมพลเมืองฝรั่งเศสไว้ถึง 7 คน
โคลอนนา ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ LCI TV โดยตำหนิรัฐบาลอิหร่านว่าดำเนินนโยบาย “เลวร้าย” ใช้ความรุนแรงกับประชาชน และกักขังพลเมืองฝรั่งเศส
“อย่าลืมว่าฝรั่งเศสให้เสรีภาพแก่สื่อมวลชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับอิหร่าน และเสรีภาพเหล่านี้ถูกกำกับดูแลโดยผู้พิพากษาภายใต้กรอบของกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระ ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป็นสิ่งที่อิหร่านคงไม่เข้าใจดีพอ”
โคลอนนา ยังย้ำด้วยว่า ฝรั่งเศสไม่มีกฎหมายห้ามลบหลู่ดูหมิ่นทางศาสนา (blasphemy laws)
กระทรวงการต่างประเทศอิหร่านแถลงวานนี้ (5) ว่าได้สั่งให้สถาบันวิจัยฝรั่งเศสในอิหร่าน (French Institute of Research in Iran) หยุดปฏิบัติงานแล้ว และจะพิจารณาทบทวนกิจการด้านวัฒนธรรมของฝรั่งเศสในอิหร่านด้วย
กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสระบุว่า “ยังไม่ทราบ” ความเคลื่อนไหวดังกล่าว แต่หากเป็นเรื่องจริงก็นับว่า “น่าเสียดาย”
เหตุประท้วงในอิหร่านมีต้นตอมาจากกรณีของ มะห์ซา อามินี (Mahsa Amini) หญิงเชื้อสายเคิร์ด วัย 22 ปี ซึ่งเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 16 ก.ย. หลังถูกตำรวจศีลธรรมอิหร่านควบคุมตัวฐานคลุมฮิญาบไม่เรียบร้อย ก่อนจะลุกลามบานปลายจนกลายเป็นกระแสลุกฮือต่อต้านรัฐบาลจากทุกๆ ภาคส่วนของสังคม และทำให้ฐานอำนาจของผู้ปกครองทางศาสนาในอิหร่านถูกสั่นคลอนมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติอิสลามขึ้นเมื่อปี 1979
รัฐบาลอิหร่านกล่าวโทษ “ต่างชาติ” ว่าสนับสนุนผู้ประท้วงให้ก่อจลาจล โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อบั่นทอนเสถียรภาพของเตหะราน
ที่มา : รอยเตอร์