อิหร่านแขวนคอผู้ต้องขังอีก 2 รายในวันเสาร์ (7 ม.ค.) ตามคำกล่าวหาสังหารสมาชิกกองกำลังด้านความมั่นคงรายหนึ่ง ระหว่างการประท้วงทั่วประเทศ ตามหลังการตายของมะห์ซา อามินี หญิงเชื้อสายเคิร์ดวัย 22 ปี ที่เสียชีวิตขณะถูกตำรวจควบคุมตัวเมื่อวันที่ 16 กันยายน การประหารชีวิตนักโทษล่าสุดที่เรียกเสียงประณามจากอียู สหรัฐฯ และประเทศตะวันตกอื่นๆ
ชาย 2 คนถูกประหารชีวิตในวันเสาร์ (7 ม.ค.) จากคำพิพากษาว่ามีความผิดฐานสังหารสมาชิกรายหนึ่งของกองกำลังกึ่งทหาร "บาซิจ" นอกจากนี้ ในคดีนี้ยังมีอีก 3 คนที่ถูกพิพากษาประหารชีวิตเช่นกัน และอีก 11 คน ต้องโทษจำคุก
"โมฮัมหมัด เมห์ดี คารามี และเซย์เยด โมฮัมหมัด ฮอสเซนี ผู้กระทำผิดหลักของอาชญากรรมนี้ ที่นำมาซึ่งการตายโดยไม่ชอบธรรมของ รูโฮลเลาห์ อจาเมียน ถูกแขวนคอแล้วในตอนเช้าวันนี้" ศาลยุติธรรมเปิดเผยในถ้อยแถลงที่เผยแพร่โดยสำนักข่าวไออาร์เอ็นเอ สื่อมวลชนแห่งรัฐ
การลงทัณฑ์ล่าสุด ทำให้ตัวเลขอย่างเป็นทางการของผู้ประท้วงที่ถูกประหารชีวิตตามหลังเหตุการณ์ความไม่สงบในอิหร่าน เพิ่มเป็น 4 คน
โจเซฟ บอร์เรล หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป ในวันเสาร์ (7 ม.ค.) ประณามการประหารชีวิตครั้งล่าสุดนี้ และเรียกร้องอิหร่าน หยุดดำเนินการลงโทษพวกผู้ประท้วงด้วยการประหารชีวิต และขอให้ยกเลิกการลงโทษที่ตัดสินไปแล้ว "นี่คือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่พวกเจ้าหน้าที่อิหร่านใช้ความรุนแรงปราบปรามการแสดงออกของพลเรือน"
โรเบิร์ต มัลลีย์ เจ้าหน้าที่ทูตพิเศษของสหรัฐฯ ในด้านอิหร่าน ก็ประณามการประหารชีวิตเช่นกัน โดยบอกว่ามันมีขึ้นตามหลังกระบวนการพิจารณาคดีที่น่าอดสู "ต้องหยุดการประหารนี้" มัลลีย์กล่าวบนทวิตเตอร์
เจมส์ เคลเวอร์ลีย์ รัฐมนตรีต่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักร ในวันเสาร์ (7 ม.ค.) ประณามการประหารชีวิต และเรียกร้องให้อิหร่านหยุดใช้ความรุนแรงกับประชาชนของตนเองในทันที
ส่วนกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส เรียกการประการนี้ว่า "น่าขยะแขยง" และเร่งเร้าให้เจ้าหน้าที่อิหร่านใส่ใจกับความปรารถนาที่ถูกต้องตามกฎหมายของประชาชนชาวอิหร่าน ขณะที่รัฐบาลดัตช์เผยว่าจะเรียกเอกอัครราชทูตอิหร่านประจำเนเธอร์แลนด์เข้าพบเป็นครั้งที่ 2 ในรอบเดือน เพื่อหยิบยกความกังวลเกี่ยวกับการประการผู้ประท้วงมาพูดคุย และขอให้ประเทศอื่นๆ ในอียูดำเนินการแบบเดียวกัน
องค์การนิรโทษกรรมสากลกล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า เจ้าหน้าที่อิหร่านกำลังหาทางประหารชีวิตคนอื่นๆ อีกอย่างน้อย 26 ราย ในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า "การพิจารณาคดีที่น่าอดสู" ที่ออกแบบมาเพื่อข่มขู่พวกผู้ประท้วง
ทางองค์กรแห่งนี้ระบุด้วยว่าพวกที่เผชิญกับบทลงโทษประหารชีวิต ล้วนถูกปฏิเสธสิทธิในการแก้ต่างตนเองอย่างเพียงพอ และถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงทนายความที่พวกเขาเลือก โดยจำเลยเหล่านี้จำเป็นต้องพึ่งทนายความที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐแทน ซึ่งแทบไม่ทำอะไรเพื่อปกป้องพวกเขาเลย
นอกจากนี้ องค์การนิรโทษกรรมสากล บอกด้วยว่า ศาลยังลงโทษประหารชีวิต โดยการใช้คำรับสารภาพของ คารามี ที่เกิดจากการถูกข่มขู่บังคับ ขณะที่ทนายความส่วนตัวของ ฮอสเซนี เปิดเผยในวันที่ 18 ธันวาคม ว่าลูกความของเขาถูกทรมานรุนแรง และบอกว่าคำรับสารภาพที่รีดจากการทรมาน ไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายรองรับ
มะห์ซา อามินี เสียชีวิตขณะอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของตำรวจในเดือนกันยายน หลังจากถูกตำรวจศีลธรรมอิหร่านจับฐานคลุมฮิญาบไม่เรียบร้อย ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายการแต่งกายของประเทศ การประท้วงสืบเนื่องจากการตายของเธอ เป็นตัวแทนของหนึ่งในความท้าทายใหญ่หลวงที่สุดที่มีต่อสาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้ นับประกาศตนเป็นสาธารณรัฐอิสลามในปี 1979
กองกำลังกึ่งทหารบาซิจ ซึ่งอยู่ในสังกัดของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการปราบปรามส่วนใหญ่ที่เล็งเป้าหมายจัดการกับพวกผู้ประท้วง ในขณะที่ อิหร่านกล่าวโทษเหตุความไม่สงบว่าเป็นฝีมือของศัตรูต่างชาติ ในนั้นรวมถึงสหรัฐฯ และระบุการปราบปรามของพวกเขาเป็นการพิทักษ์ไว้ซึ่งอธิปไตยของชาติ
กลุ่มสิทธิมนุษยชน HRANA เปิดเผยว่าจนถึงวันศุกร์ (6 ม.ค.) มีผู้ประท้วงเสียชีวิตระหว่างเหตุความไม่สงบ 517 คน ในนั้นเป็นเยาวชน 70 คน แต่บอกว่ามีกองกำลังด้านความมั่นคงเสียชีวิตไป 68 นายเช่นกัน และเชื่อว่ามีพวกผู้ประท้วงมากสุดถึง 19,262 คน ที่ถูกควบคุมตัว
ส่วนเจ้าหน้าที่อิหร่านระบุว่า มีผู้เสียชีวิตสูงสุดราว 300 คน ในนั้นรวมถึงกองกำลังด้านความมั่นคงด้วย
(ที่มา : รอยเตอร์)