xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์ “นอกหน้าต่าง” : พวกผู้เชี่ยวชาญยุโรปพากันข้องใจสงสัย จำกัดผู้เดินทางจากจีนเพื่อสกัดโควิดจะ ‘ได้ผล’ หรือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มาตรการของหลายๆ ประเทศที่ประกาศใช้กับนักเดินทางซึ่งมาจากจีน น่าที่จะแทบไม่มีประสิทธิภาพเลยในการควบคุมโรคโควิด บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขของยุโรปพูดเอาไว้เช่นนี้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 มกราคม พร้อมกับชี้ว่า ตัวกลายพันธุ์ตัวใหม่ที่กำลังอุบัติขึ้นในสหรัฐฯ ดูจะเป็นภัยคุกคามก่อให้เกิดอันตรายได้มากกว่า

มีสิบกว่าประเทศที่ประกาศมาตรการกำหนดให้ผู้มาเยือนซึ่งออกมาจากจีนต้องแสดงผลการตรวจไวรัสโคโรนา โดยอ้างเหตุผลความกังวลเกี่ยงกับการขาดความโปร่งใสในข้อมูลการระบาดของปักกิ่ง และความเสี่ยงที่อาจมีตัวกลายพันธุ์ใหม่ของไวรัสโคโรนานี้อุบัติขึ้นมา

ขณะที่จีน ซึ่งกำลังประสบกับเคสผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นมาอย่างระเบิดระเบ้อภายหลังยกเลิกมาตรการ “โควิดเป็นศูนย์” ที่บังคับใช้มายาวนาน ได้ประณามการจำกัดควบคุมของประเทศเหล่านี้ว่าเป็นสิ่งที่ “ยอมรับไม่ได้” อีกทั้งประกาศจะดำเนินมาตรการตอบโต้

ทำไมหลายประเทศเห็นว่าต้องออกมาตรการจำกัดควบคุมใหม่ๆ?

จีนรายงานอย่างเป็นทางการว่ามีผู้เสียชีวิตจากไวรัสนี้เพียงไม่กี่คนในช่วงไม่กี่วันมานี้ –แต่จากการที่แดนมังกรยุติมาตรการบังคับตรวจหาเชื้อจากผู้คนจำนวนมากๆ รวมทั้งปรับหลักเกณฑ์สำหรับการนับว่าเป็นผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดให้แคบลงกว่าเดิม ตัวเลขเหล่านี้จึงไม่เป็นที่เชื่อถือกันอีกต่อไปว่าสะท้อนถึงความเป็นจริง

เวลาเดียวกัน มีรายงานว่าพวกโรงพยาบาลและสถานฌาปนกิจต่างๆ มีผู้ไปใช้บริการกันเต็มล้น ทำให้เกิดความกังวลกันว่าเคสการติดเชื้อในจีนกำลังทะยานขึ้นพรวดพราด

หลายประเทศที่บังคับใช้มาตรการตรวจหาเชื้อจากผู้เดินทางซึ่งมาจากจีน เป็นต้นว่า สหรัฐฯ และฝรั่งเศส ให้เหตุผลว่าหวาดกลัวเรื่องประชากรจีน 1,400 ล้านคนอาจมีผู้ติดเชื้อโควิดกันอย่างมหาศาล และเปิดทางให้ไวรัสนี้เกิดการกลายพันธุ์จนกลายเป็นไวรัสตัวกลายพันธุ์ตัวใหม่ๆ ขึ้นมา

มีหลายๆ ประเทศประกาศตรวจหาเชื้อด้วยวิธี PCR กับผู้เดินทางจากจีนเมื่อพวกเขาเดินทางมาถึง ซึ่งเมื่อนำผลตรวจเหล่านี้ไปดำเนินการแยกลำดับทางพันธุกรรมก็อาจเปิดทางให้ทางการสาธารณสุขของพวกเขาสามารถที่จะติดตามตัวกลายพันธุ์ใหม่ๆ ที่อาจอุบัติขึ้นมา

การใช้มาตรการเหล่านี้มีเหตุผลความชอบธรรมหรือไม่?

ศูนย์เพื่อการป้องกันและการควบคุมโรคแห่งยุโรป (European Centre for Disease Prevention and Control หรือ ECDC) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสาธารณสุขของสหภาพยุโรป ออกคำแถลงในช่วงสิ้นปี 2022 ระบุว่า การที่อียูทั้งกลุ่มจะกำหนดให้ตรวจหาเชื้อจากผู้เดินทางซึ่งมาจากจีน “เป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยเหตุผลความเป็นธรรม” เมื่อคำนึงว่ายุโรปมีภูมิคุ้มกันในระดับสูงอยู่แล้วทั้งจากการฉีดวัคซีน และจากการติดเชื้อไปก่อนหน้านี้

ต่อมา ในวันที่ 3 มกราคมนี้ ECDC ก็ยังคงมีความเห็นเช่นนี้อยู่ (ดูเพิ่มเติมได้ว่า https://www.ecdc.europa.eu/en/news-events/impact-surge-china-covid-19-cases)

อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปนได้เริ่มกำหนดให้ตรวจหาเชื้อกันแล้ว และในสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มรับมือวิกฤตการณ์ทางการเมืองแบบบูรณาการ (Integrated Political Crisis Response หรือ IPCR) ซึ่งเป็นกลไกของสหภาพยุโรปสำหรับรับมือกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ก็ประชุมกันในหัวข้อนี้เมื่อวันพุธ (4) และมีมติเสนอแนะบรรดาชาติสมาชิกอียูกำหนดให้ผู้โดยสารซึ่งบินจากจีนเข้าอียู ต้องแสดงผลตรวจโควิดว่าเป็นลบก่อนที่พวกเขาจะขึ้นเครื่องบิน จากนั้นก็มีอีกหลายประเทศสหภาพยุโรป เช่น เยอรมนี กรีซ เนเธอร์แลนด์ และโปรตเกส ทำตามคำแนะนำ

ก่อนหน้านั้น มาห์มูด ซูเรค นักระบาดวิทยาชาวฝรั่งเศส ให้ความเห็นกับเอเอฟพีว่า มาตรการเช่นนี้ “มีเหตุผลความชอบธรรม ถ้าหากเกิดระลอกการระบาดไปทั่วประเทศอย่างไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ มาก่อน มันเป็นเรื่องลำบากที่จะปล่อยให้เครื่องบินลงจอดโดยที่ 1 ในทุกๆ 2 คนบนเครื่องเป็นผู้ติดเชื้อ แล้วไม่ได้ทำอะไรเลย”

แต่เขาเสริมว่า ถ้าจะให้มาตรการเช่นนี้ใช้ได้ผลในยุโรป “อย่างน้อยที่สุดพวกเขาควรนำเอามาใช้กันตลอดทั่วทั้งพื้นที่เชงเกน (Schengen area)” ซึ่งประกอบด้วยทั้ง 27 รัฐสมาชิกอียู

ทางด้าน โดมินิก คอสตาเกลียลา นักระบาดวิทยาชาวฝรั่งเศสอีกคนหนึ่ง แสดงความเห็นเชิงวิพากษ์มาตรการเช่นนี้มากขึ้นไปอีก

เธอบอกว่า เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ฝรั่งเศสเองเวลานี้กำลังลดศักยภาพของตนในการตรวจแยกลำดับทางพันธุกรรมภายในประเทศาตัวเอง การตรวจผู้เดินทางที่มาจากจีน จึงดูแทบไม่ได้มีอะไรมากกว่าเป็นการดำเนินการเพื่อ “การประชาสัมพันธ์”

“มันไม่ได้มีประโยชน์อะไรมากหรอก นอกไปจากการสร้างความประทับใจขึ้นมาว่าเรากำลังลงมือทำอะไรบางอย่างกันอยู่” เธอกล่าว

แม้กระทั่งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญโรคโควิดของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้เสนอแนะรัฐบาลให้บังคับใช้มาตรการคัดกรองโควิด ยังยอมรับว่า มาตรการนี้ไม่น่าที่จะชะลอการแพร่กระจายของการติดเชื้อหรือตัวกลายพันธุ์จากจีนได้

“มาตรการจำกัดต่างๆ ที่บังคับใช้กับแอฟริกาใต้ ระหว่างการอุบัติขึ้นมาของตัวกลายพันธุ์ “โอมิครอน” เมื่อปลายปี 2021 มีผลกระทบน้อยมากๆ ต่อวิวัฒนาการของการระบาดในยุโรป” คณะกรรมการชุดนี้ชี้เอาไว้ในคำแถลงเมื่อช่วงสิ้นปี 2022

ภัยคุกคามจากตัวกลายพันธุ์ใหม่ๆ มาจากไหนกันแน่?

ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา พวกสายพันธุ์ย่อยๆ ของตัวกลายพันธุ์โอมิครอนจำนวนหนึ่งกำลังแข่งขันกันเพื่อกลายเป็นเชื้อที่ครอบงำการระบาดในตลอดทั่วโลก

พวกผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขชาวจีน พูดเอาไว้ในระยะไม่นานมานี้ว่า สายพันธุ์ย่อย BA.5.2 และ BF.7 ของตัวกลายพันธุ์โอมิครอน คือเชื้อที่ตรวจพบมากที่สุดในปักกิ่ง แต่สำหรับในชาติตะวันตกแล้ว เชื้อ 2 ตัวนี้ได้ถูกสายพันธุ์ย่อยตัวอื่นๆ ที่ติดต่อแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าเข้าแทนที่เรียบร้อยแล้ว

ดังนั้น กระทั่งถ้าหากว่าสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้ถูกแพร่จีนไปยังพวกชาติตะวันตก มันก็จะ “ไม่มีผลกระทบอะไรมากมาย ณ พื้นที่ควบคุมชายแดน” หรอก นี่เป็นความเห็นของ พอล ฮันเตอร์ ศาสตราจารย์ด้านแพทยศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย ของอังกฤษ

แทนที่จะจ้องมองไปที่จีน ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสหลายรายบอกว่าพวกเขาให้ความสนใจไปที่สหรัฐฯ และตัวกลายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนที่มีชื่อว่า XBB.1.5 มากกว่า

ทั้งนี้ ตั้งกลางเดือนธันวาคมเป็นต้นว่า XBB.1.5 กระโจนพรวดจากระดับไม่ถึง 10% ของเคสผู้ติดเชื้อโควิดทั่วสหรัฐฯ มาเป็นกว่า 40% แล้ว ทั้งนี้ตามรายงานผลการติดตามตัวกลายพันธุ์ของศูนย์เพื่อการป้องกันและการควบคุมโรคของสหรัฐฯ (US CDC)

ฮันเตอร์กล่าวว่า “ความกังวลสนใจหลักในอนาคตสำหรับ UK ในปัจจุบันก็คือตัวกลายพันธุ์ XXB.1.5 ซึ่งบางทีอาจถูกนำเข้ามายัง UK เรียบร้อยแล้ว และเวลานี้กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ”

สามารถป้องกันไม่ให้ตัวกลายพันธุ์เหล่านี้บุกเข้ามาได้หรือไม่?

ทอม เวนเซเลียร์ส นักชีววิทยาวิวัฒนาการ แห่งมหาวิทยาลัยลูเวน ในเบลเยียม โพสต์ทางทวิตเตอร์ว่า การสุ่มตรวจตัวอย่างซึ่งได้จากผู้เดินทางไปถึงประเทศต่างๆ ในตลอดทั่วโลก “บางทีน่าจะมีประโยชน์กว่ามาก เมื่อเทียบกับการแค่ตรวจพวกผู้เดินทางจากจีน”

ขณะที่ เจมส์ เนสมิธ แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ตั้งคำถามว่า “เราสามารถป้องกันไม่ให้ตัวกลายพันธุ์ใหม่ๆ บุกเข้ามาได้หรือ?”

“นี่เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในเวลานี้ใน UK และไม่มีหลักฐานใดๆ เลยว่า นี่เป็นเรื่องที่ UK อาจจะสามารถทำได้” เขากล่าว

สำหรับความห่วงใยเกี่ยวกับตัวกลายพันธุ์ XBB.1.5 แองเจลา รัสมุสเซน นักไวรัสวิทยาชาวสหรัฐฯ ทวีตว่า มันไม่ได้เป็น “ตัวกลายพันธุ์ระดับซูเปอร์ที่จะทำให้เกิดความหายนะขึ้นมา” หรอก

เธอชี้ถึงการศึกษาวิจัยในระยะหลังๆ มานี้ ซึ่งบ่งชี้ว่าการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม ด้วยวัคซีนไบวาเลนต์ (bivalent) รุ่นใหม่ จะทำให้ร่างกายสามารถผลิตภูมิคุ้มกันซึ่งสามารถสู้กับ XBB.1.5 ได้

(เก็บความจากเรื่อง Experts sceptical that China travel curbs will be effective ของสำนักข่าวเอเอฟพี และเพิ่มเติมด้วยข่าวอัปเดตของ เอเอฟพี, รอยเตอร์ ตลอดจนเว็บไซต์ของ ECDC)
กำลังโหลดความคิดเห็น