ผู้เชี่ยวชาญหลายคนในยุโรปมองว่า มาตรการควบคุมนักเดินทางจากจีนมีผลน้อยมากในการสกัดโควิด ซ้ำระบุว่า ไวรัสกลายพันธุ์ในอเมริกาอาจน่ากลัวยิ่งกว่า ด้านสื่อที่เป็นกระบอกเสียงของทางการปักกิ่งย้ำในวันพุธ (4 ม.ค.) จีนจะชนะศึกครั้งสุดท้ายกับโรคระบาดอย่างแน่นอน
การยุติมาตรการสกัดไวรัสอย่างเข้มงวดของจีนเมื่อเดือนที่แล้ว ถูกบางประเทศโดยเฉพาะโลกตะวันตกตีความว่าเท่ากับเป็นการปลดปล่อยโควิดให้สามารถเข้าถึงประชาชน 1,400 ล้านคนทั่วประเทศที่มีภูมิต้านทานตามธรรมชาติต่ำเนื่องจากได้รับการปกป้องอย่างเข้มแข็งภายใต้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ตลอด 3 ปีที่ผ่านมานับจากที่ไวรัสร้ายนี้อุบัติขึ้นครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น
ขณะที่ทางการจีนเองบอกว่าช่วงเวลานี้เชื้อไวรัสโคโรนาที่ระบาดในโลกมีความรุนแรงลดลงมากแล้ว จึงเป็นจังหวะอันเหมาะสมสำหรับการหันมาใช้นโยบายอยู่ร่วมกับโควิด พร้อมกับให้ตัวเลขคาดการณ์ว่าจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มพรวดเป็นหลายสิบหลายร้อยล้านคน แต่อาการไม่ร้ายแรง
ทั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบด้านการแพทย์ของจีนและสื่อตะวันตกต่างรายงานว่า เวลานี้โรงพยาบาลตามเมืองใหญ่ๆ จำนวนมากในจีนมีผู้ใช้บริการแน่นขนัด รวมทั้งฌาปนสถานต่างๆ ก็มีรถบรรทุกศพเข้าแถวรอกันยาว ขณะเดียวกัน มีการจุดชนวนความกังวลกันว่า อาจมีการระบาดระลอกใหญ่และทำให้ไวรัสกลายพันธุ์ และมีผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศบางรายคาดว่า ปีนี้จีนอาจมีผู้เสียชีวิตจากโควิดอย่างน้อย 1 ล้านคน พร้อมกับวิจารณ์ว่า ทางการจีนไม่ค่อยยอมเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดให้โลกภายนอกทราบ
ฝ่ายจีนเองตั้งแต่ที่หันมาใช้นโยบายใหม่เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ได้เปลี่ยนคำจำกัดความการเสียชีวิตจากโควิดเสียใหม่ โดยนับเฉพาะรายที่ตายจากอาการทางระบบทางเดินหายใจ ไม่นับผู้วายชนม์ซี่งติดเชื้อแต่น่าจะเสียชีวิตเพราะโรคอย่างอื่นๆ ตัวเลขในรายงานของจีนจึงอยู่ในระดับต่ำมากๆ นอกจากนั้น พวกผู้รับผิดชอบของจีนก็พยายามคลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาด
เหรินหมินรึเป้า หรือพีเพิลส์เดลี่ ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ออกบทบรรณาธิการในฉบับวันพุธ (4) ว่า จีนและประชาชนชาวจีนจะชนะศึกครั้งสุดท้ายกับโรคระบาดอย่างแน่นอน
จีนยังวิจารณ์บางประเทศที่ออกกฎควบคุมการเดินทางของพลเมืองจีนว่า ไร้เหตุผลและไม่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์รองรับ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ตอบโต้ว่า อเมริกาออกมาตรการควบคุมสำหรับผู้ที่เดินทางจากจีนเนื่องจากไม่มีข้อมูลที่โปร่งใสและเหมาะสมจากจีน และกังวลว่า เมื่อมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากอาจทำให้ไวรัสกลายพันธุ์ พร้อมยืนยันว่า แนวทางนี้อิงกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ล้วนๆ
ด้านญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศล่าสุดที่บังคับให้ผู้ที่เดินทางจากจีนต้องตรวจโควิดก่อนออกเดินทาง เช่นเดียวกับอเมริกา อังกฤษ เกาหลีใต้ และอีกหลายประเทศ
สำหรับสหภาพยุโรป เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจาก 27 ชาติอียู มีกำหนดหารือในวันพุธเกี่ยวกับมาตรการรับมือการเดินทางจากจีนร่วมกัน โดยมีรายงานสมาชิกส่วนใหญ่สนับสนุนการตรวจโควิดก่อนออกเดินทางจากจีน
กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขหลายคนในยุโรปมองว่า มาตรการควบคุมนักเดินทางจากจีนของนานาชาติมีผลน้อยมากในการสกัดโควิด ซ้ำระบุว่า ไวรัสกลายพันธุ์ในอเมริกาอาจน่ากลัวยิ่งกว่า
สัปดาห์ที่แล้ว อีซีดีซี หน่วยงานด้านสาธารณสุขของอียู แสดงความเห็นว่า การตรวจโควิดนักเดินทางจากจีนไม่มีความจำเป็นเนื่องจากยุโรปมีภูมิคุ้มกันสูงจากอัตราการฉีดวัคซีน และจำนวนผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้
ทางด้าน มาห์มูด ซูเรค นักระบาดวิทยาฝรั่งเศส ชี้ว่า มาตรการดังกล่าวจะเหมาะสมหากเกิดการระบาดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนทั่วประเทศ และอย่างน้อยต้องใช้บังคับทั่วเขตเชงเก้น ซึ่งประกอบด้วย 27 ชาติสมาชิกอียู เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงในยุโรป
ส่วน โดมินิก คอสตาเกลียลา นักระบาดวิทยาฝรั่งเศสอีกคน เห็นด้วยว่า ถ้าปัจจุบันฝรั่งเศสลดศักยภาพในการตรวจสอบรหัสพันธุกรรมไวรัสลงแล้ว การตรวจผู้ที่เดินทางมาจากจีนจะเป็นเพียงการฝึกทางด้านการประชาสัมพันธ์เท่านั้น
แม้แต่คณะกรรมาธิการผู้เชี่ยวชาญด้านโควิดของฝรั่งเศสที่เคยแนะนำให้รัฐบาลบังคับคัดกรองผู้ติดโควิด ยังระบุว่า มาตรการดังกล่าวไม่มีแนวโน้มชะลอการระบาด หรือไวรัสกลายพันธุ์จากจีน โดยยกตัวอย่างมาตรการจำกัดที่ใช้กับแอฟริกาใต้ช่วงที่โอมิครอนอุบัติขึ้นเมื่อปลายปี 2021 ที่มีผลน้อยมากในการป้องกันการระบาดในยุโรป
เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เชี่ยวชาญจีนเผยว่า ไวรัสสายพันธุ์ที่แพร่หลายในประเทศมากที่สุดคือ บีเอ.5.2 และบีเอฟ.7 ซึ่งมีความสามารถในการแพร่เชื้อน้อยกว่าตัวกลายพันธุ์ในโลกตะวันตก ด้วยเหตุนี้พอล ฮันเตอร์ ศาสตราจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย ของอังกฤษ จึงลงความเห็นว่า มาตรการควบคุมพรมแดนจะไม่มีผลมากนัก แม้ไวรัสสายพันธุ์ที่ระบาดในจีนแพร่หลายไปถึงชาติตะวันตก
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังแนะนำว่า แทนที่จะเฝ้าระวังจีน ควรจับตาอเมริกาและโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยเอ็กซ์บีบี.15 มากกว่า เนื่องจากนับจากกลางเดือนธันวาคม สายพันธุ์ย่อยนี้เพิ่มสัดส่วนการระบาดจากไม่ถึง 10% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ เป็นกว่า 40%
ทอม เวนเซเลียร์ส นักชีววิทยาวิวัฒนาการของมหาวิทยาลัยลูเวน ในเบลเยียม ทวีตว่า การสุ่มตรวจนักเดินทางจากทั่วโลกอาจมีประโยชน์กว่าการตรวจนักเดินทางจากจีนเท่านั้น
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์)