xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : จับตาโควิด-19 ระลอกใหม่ในจีน ระเบิดลูกใหญ่ท้าทายเศรษฐกิจโลกปี 2023

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตัวเลขผู้ติดเชื้อในจีนที่พุ่งสูงขึ้นหลังจากที่รัฐบาลปักกิ่งผ่อนปรนมาตรการควบคุมโควิด-19 กำลังเป็นสถานการณ์ที่ทั่วโลกจับตามอง ท่ามกลางความกังวลว่าวิกฤตโรคระบาดในชาติที่มีประชากรมากถึง 1.4 พันล้านคน อาจบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกในปีหน้า

ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนเลือกใช้นโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ซึ่งหมายถึงความพยายามยุติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการระดมตรวจเชื้อขนานใหญ่ และล็อกดาวน์ปิดพื้นที่ซึ่งมีการพบผู้ติดเชื้ออย่างเข้มงวด ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันช่วยให้จีนสามารถคุมจำนวนผู้ป่วยหนักให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้ แม้ต้องแลกมาด้วยความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และผลกระทบต่อสภาพจิตใจของประชาชนก็ตาม

กระแสประท้วงต้านล็อกดาวน์ที่ปะทุขึ้นในหลายเมืองทั่วจีนในช่วงไม่กี่เดือนก่อนทำให้รัฐบาลปักกิ่งยอมผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มลง ทว่า การปรับนโยบายอย่างกะทันหันนี้ก็ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขที่เปราะบางตั้งรับไม่ทัน โรงพยาบาลจีนหลายแห่งเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนเตียง และเลือดเนื่องจากมีคนป่วยเข้ารักษาตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ร้านขายยาก็มีชาวจีนแห่ไปเข้าคิวซื้อยาแก้ปวดแก้ไข้กันจนแทบหมดชั้นวาง

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนประเมินว่า จีนอาจจะมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เกิน 1 ล้านคนภายในปีหน้า

ล่าสุด ทางการจีนยังได้ปรับนิยามการเสียชีวิตจากโควิด-19 เสียใหม่ โดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) แถลงเมื่อวันอังคาร (20) ว่า นับแต่นี้ไปผู้ที่เสียชีวิตจากอาการปอดบวม (pneumonia) หรือระบบหายใจล้มเหลว (respiratory failure) หลังติดเชื้อโควิดเท่านั้นที่จะถูกนับว่าเป็นการตายเพราะโควิด-19 ซึ่งการปรับนิยามนี้ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิดในจีนลดลงเป็น “ศูนย์” เมื่อวันอังคาร (20) ส่วนยอดตายตั้งแค่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดยังอยู่ที่ 5,241 คน หรือเพียงเศษเสี้ยวของหลายๆ ประเทศที่มีประชากรน้อยกว่าจีนหลายเท่า

อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ได้ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับการปกปิดข้อมูล ขณะที่รอยเตอร์อ้างแหล่งข่าวซึ่งระบุว่า ฌาปนสถานในกรุงปักกิ่งมีศพที่เข้าคิวรอเผาเป็นจำนวนมาก และชาวปักกิ่งส่วนใหญ่ต้องใช้เวลารอหลายวันกว่าจะได้ทำศพญาติมิตร หรือไม่ก็ต้องยอมเสียค่าบริการเพิ่ม

เบนจามิน เมเซอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านพยาธิวิทยา จากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ชี้ว่า การแก้ไขนิยามผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ให้แคบลงมากนี้อาจทำให้ผู้เสียชีวิตจำนวนมาก “ไม่ถูกนับ” โดยเฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว ซึ่งมีโอกาสที่จะเสียชีวิตจากอาการปอดบวมน้อยมาก

เมเซอร์ เผยด้วยว่า มีผู้ป่วยโควิดจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (blood clots) ความผิดปกติของหัวใจ และภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (sepsis) เป็นต้น

“มันเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลที่จะมัวยึดติดกับแนวคิดแบบปี 2020 ที่ว่า คนที่ตายเพราะโควิดต้องมีอาการปอดบวมเท่านั้น อันที่จริงยังมีโรคแทรกซ้อนอีกหลายอย่างที่สามารถเกิดขึ้นและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้” เมเซอร์ กล่าว


ผู้เชี่ยวชาญในจีนเองก็ยอมรับว่า ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 อาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคตอันใกล้ โดย หวัง กวงฟา (Wang Guangfa) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจจากโรงพยาบาล Peking University First Hospital ให้สัมภาษณ์สื่อโกลบอลไทม์ส ว่า จีนจำเป็นต้องเร่งเปิดคลินิกรักษาไข้ และระดมทรัพยากรฉุกเฉินเพื่อรองรับผู้ป่วยอาการหนักที่อาจพุ่งกระฉูดในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

หวัง ประเมินว่า โควิด-19 ระลอกใหม่ในจีนจะถึง “จุดพีก” ในช่วงปลายเดือน ม.ค. และประชาชนจะกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้ในราวๆ ปลายเดือน ก.พ.-ต้นเดือน มี.ค.

ขณะที่ทั่วโลกออกมาแสดงความเป็นห่วงว่าสถานการณ์โควิดในจีนอาจนำไปสู่การเกิด “เชื้อกลายพันธุ์” ที่รุนแรงยิ่งกว่าเดิม แต่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีนได้ออกมาเบรกข้อสันนิษฐานนี้ โดยระบุว่า โอกาสที่เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์จนสามารถก่อโรครุนแรงขึ้นนั้น “มีน้อยมาก”

พอล ทัมบยา (Paul Tumbya) ประธานสมาคมจุลชีววิทยาคลินิกและโรคติดเชื้อแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Society of Clinical Microbiology and Infection) ออกมาสนับสนุนมุมมองของจีน โดยระบุว่า “ผมไม่คิดว่ามันจะเป็นภัยคุกคามต่อทั่วโลก และมีความเป็นไปได้มากกว่าที่ไวรัสจะมีการปรับตัวเช่นเดียวกับไวรัสชนิดอื่นๆ คือสามารถแพร่กระจายได้เร็วขึ้น ทว่าความรุนแรงในการก่อโรคน้อยลง”

นักวิทยาศาสตร์จากองค์การอนามัยโลก (WHO) บอกกับรอยเตอร์ว่า โควิด-19 ระลอกใหม่ในจีนอาจทำให้โลกยังไม่สามารถประกาศการสิ้นสุดของโรคระบาดใหญ่ได้ในเร็วๆ นี้ ขณะที่เจ้าหน้าหน้าที่สหรัฐฯ และยุโรปบางคนเริ่มออกมาเสนอมอบความช่วยเหลือแก่จีนเพื่อลดความเสี่ยงที่การระบาดครั้งนี้จะส่งผลซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จีนจะยอมรับความช่วยเหลือจากต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากันอย่างสหรัฐฯ คงเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปักกิ่งเองก็ลงทุนมหาศาลไปกับนโยบายการทูตโควิด (covid diplomacy) ที่รวมถึงการส่งออกวัคซีนจีนไปยังประเทศอื่นๆ

“มันเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกประเทศจะต้องรณรงค์ให้ผู้คนได้ฉีดวัคซีน และทำให้การตรวจหาเชื้อและการรักษาเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่าย” เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ในสัปดาห์นี้ พร้อมเตือนว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นในจีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกจะสร้างความสูญเสียทั้งในแง่ของทรัพยากรมนุษย์ และเศรษฐกิจ

“สหรัฐฯ เป็นประเทศผู้บริจาควัคซีนรายใหญ่ที่สุดในโลก และเรายังคงพร้อมที่จะสนับสนุนผู้คนทั่วโลก รวมถึงจีน ด้วยวัคซีน และด้วยความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขอื่นๆ ที่เกี่ยวกับโควิด” เขากล่าว

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจจีนปีนี้ว่าจะเติบโตเพียง 2.7% และ 4.3% ในปี 2023 ซึ่งลดลงจากตัวเลข 2.8% และ 4.5% ตามลำดับที่เคยประกาศไว้เมื่อเดือน ก.ย. โดยอ้างถึงผลกระทบจากการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิดอย่างกะทันหัน ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงซบเซา

ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น แถลงเตือนในสัปดาห์นี้ว่า ยอดป่วยโควิด-19 ในจีนที่พุ่งสูงขึ้นจะเป็นปัจจัยลบที่สร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโลก ขณะที่รัฐบาลไต้หวันยกให้การระบาดของโควิด-19 ในจีนเป็นหนึ่งใน “ความไม่แน่นอน” ที่กำลังคุกคามเศรษฐกิจไทเป

กระนั้นก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า หากจีนสามารถรับมือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปรับนโยบายโควิด-19 ซึ่ง เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เคยออกมาเรียกว่าเป็น “ปัญหาที่ซับซ้อนมาก” มันจะช่วยกระตุ้นทั้งเศรษฐกิจภายในจีนเอง และยังเผื่อแผ่อานิสงส์ไปถึงเศรษฐกิจโลกโดยรวมด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น