ยูเครนรวมถึงพวกชาติพันธมิตรในแถบบอลติกเคืองหนัก หลังประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เสนอให้ตะวันตกพิจารณารับประกันความมั่นคงของรัสเซีย หากมอสโกตกลงเจรจายุติสงคราม นอกจากนั้นที่ปรึกษาเซเลนสกี้ยังฉุนที่ อีลอน มัสก์ เสนอ “ทางออกเรียบง่ายอย่างน่าอัศจรรย์” ด้วยการที่ เคียฟ ยกไครเมียให้เครมลินเพื่อแลกกับสันติภาพ ในอีกด้านหนึ่ง รัสเซียซึ่งย้ำไม่ยอมรับแผนจำกัดราคาน้ำมันแดนหมีขาวของฝ่ายตะวันตก กล่าวในวันจันทร์ (5 ธ.ค.) แผนการนี้มีแต่ทำให้ตลาดพลังงานทั่วโลกปั่นป่วนไร้เสถียรภาพ แต่จะไม่ส่งผลต่อความสามารถในการทำสงครามของตนในยูเครน
ในการให้สัมภาษณ์สถานีทีวีทีเอฟ 1 ของฝรั่งเศสในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีมาครง กล่าวว่า ยุโรปจำเป็นต้องเตรียมโครงสร้างสถาปัตยกรรมความมั่นคงสำหรับอนาคต และคิดหาวิธีรับประกันความมั่นคงสำหรับรัสเซียด้วย หากรัสเซียกลับสู่โต๊ะเจรจาเพื่อยุติสงครามในยูเครน
ทว่า เมื่อวันอาทิตย์ (4) มิกไคโล โปโดลยัค ผู้ช่วยระดับสูงของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ของยูเครน ตอบโต้ว่า โลกต้องการให้รัสเซียรับประกันความมั่นคงมากกว่าที่จะต้องไปรับประกันความมั่นคงให้รัสเซีย
โอเลคซี ดานิลอฟ เลขาธิการสภาความมั่นคงและกลาโหมแห่งชาติยูเครน ขานรับว่า การปลดอาวุธนิวเคลียร์และทำให้รัสเซียเป็นเขตปลอดทหารเป็นการรับประกันสันติภาพที่ดีที่สุดไม่เฉพาะสำหรับยูเครน แต่รวมถึงทั่วโลก
ทั้งนี้ หลังจากหารือกันหลายรอบในช่วงต้นสงคราม เคียฟและมอสโกก็ไม่สามารถเปิดเจรจาเพื่อยุติการสู้รบขัดแย้งกันได้ โดยเคียฟตั้งเงื่อนไขว่า จะยอมเจรจาสันติภาพเมื่อรัสเซียหยุดโจมตีและถอนทหารออกจากยูเครนเท่านั้น ขณะที่เครมลินบอกว่า เงื่อนไขก่อนอื่นคือ ตะวันตกต้องยอมรับการประกาศผนวกดินแดนของรัสเซียในยูเครนเมื่อเดือนกันยายน
สัปดาห์ที่แล้ว มาครง หารือเรื่องสงครามในยูเครนกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระหว่างเขาไปเยือนสหรัฐฯซึ่งให้เกียรติต้อนรับเขาแบบเต็มรัฐพิธี และผู้นำสหรัฐฯ กล่าวหลังจากนั้นว่า ไม่ควรมีเงื่อนไขสำหรับการหารือเพื่อยุติความขัดแย้งในยูเครนระหว่างอเมริกากับรัสเซีย
ด้าน วิกตอเรีย นูแลนด์ ปลัดกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านกิจการทางการเมือง กล่าวภายหลังพบกับเซเลนสกี้ที่เคียฟในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การที่รัสเซียยืนกรานให้ยอมรับการผนวกดินแดนฟ้องว่า ปูตินไม่ได้จริงจังกับการเจรจาสันติภาพ
ความคิดเห็นของมาครงยังสร้างความขุ่นเคืองให้บางประเทศในแถบบอลติกที่หลายประเทศเคยเป็นสาธารณรัฐในสหภาพโซเวียต
อเล็กซานเดอร์ สตับบ์ อดีตนายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ บอกว่าไม่เห็นด้วยกับมาครงและยืนยันว่า รัสเซียต้องรับประกันก่อนว่า จะไม่โจมตีประเทศอื่น
ส่วน ลีนัส ลิงเกเวเชียส อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศลิทัวเนีย ทวิตว่า รัสเซียจะได้รับการรับประกันความมั่นคง ตราบที่ไม่โจมตี เข้าผนวก หรือยึดครองประเทศเพื่อนบ้าน และสำทับว่า ใครก็ตามที่ต้องการสร้างโครงสร้างสถาปัตยกรรมความมั่นคงใหม่ที่อนุญาตให้รัฐก่อการร้ายใช้วิธีข่มขู่ต่อไป ควรคิดอีกครั้ง
ในช่วงกว่า 9 เดือนที่ผ่านมา มาครงกับเซเลนสกี้หารือกันบ่อยครั้ง โดยผู้นำเคียฟขอบคุณประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่พยายามหาทางออกทางการทูต แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธข้อเสนอแนะของมาครงให้เคียฟเตรียมพร้อมประนีประนอม
เมื่อเดือนพฤษภาคมมาครง ก็ถูกวิจารณ์เช่นกันจากการเสนอแนะว่า ไม่ควรทำให้รัสเซียอับอาย เพื่อที่ว่าหลังการต่อสู้ในยูเครนยุติลงจะได้มีทางออกทางการทูต
ในวันอาทิตย์ โปลโดยัค ยังวิจารณ์อีลอน มัสก์ เจ้าของใหม่ของแพลตฟอร์มสื่อสังคม ทวิตเตอร์ ที่เสนอ “ทางออกที่เรียบง่ายและอัศจรรย์” นั่นคือ การให้ยูเครนยกแหลมไครเมียให้รัสเซียเพื่อแลกกับสันติภาพ โดยบอกว่า นั่นจะเป็นเพียงสันติภาพที่ลวงตา
ยูเครนมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนกับมัสก์ มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก นับจากที่ถูกรัสเซียรุกรานเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ โดยแรกเริ่มนั้น มัสก์ได้รับการยกย่องที่จัดหาอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายดาวเทียมสตาร์ลิงก์ ของ สเปซเอ็กซ์ นับพันชุดให้ยูเครนฟรี แต่มิตรภาพเริ่มมีปัญหาในเดือนตุลาคมเมื่อมัสก์ประกาศสนับสนุนเงื่อนไขการเจรจาสันติภาพที่เคียฟคัดค้าน
นักธุรกิจพันล้านผู้นี้เรียกร้องให้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ไครเมียที่มอสโกเข้าผนวกในปี 2014 เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และให้มีการจัดทำประชามติซึ่งสหประชาชาติเป็นผู้กำกับดูแล ว่ารัสเซียควรอยู่ต่อหรือถอนออกจากดินแดนยึดครองแห่งอื่นๆ ในยูเครน
หลังจากข้อเสนอนี้ถูกโจมตี มัสก์เริ่มโอดครวญเกี่ยวกับต้นทุนการให้บริการสตาร์ลิงก์แก่ยูเครนฟรีโดยไม่มีกำหนด และเปิดเผยว่า ได้ค่าบริการจากตัวรับสัญญาณสตาร์ลิงก์แค่ 10,630 ชุดจากทั้งหมด 25,300 ชุดที่ส่งให้ยูเครน
ด้านเคียฟยอมรับว่า ได้รับอุปกรณ์รับสัญญาณบางส่วนฟรีแต่ไม่ได้ระบุจำนวนที่ชัดเจน
กระนั้น กลางเดือนตุลาคม มัสก์ เปลี่ยนท่าทีโดยประกาศว่า สเปซเอ็กซ์จะยังคงให้บริการสตาร์ลิงก์ฟรีแก่ยูเครนต่อไป
ในอีกด้านหนึ่ง พันธมิตรฝ่ายตะวันตกของยูเครนพยายามเดินเกมกดดันรัสเซียทางด้านเศรษฐกิจต่อไป โดยเมื่อวันศุกร์ (2) กลุ่มจี7 ประกาศว่า จะอนุญาตให้รัสเซียขนส่งน้ำมันให้ประเทศที่สามโดยใช้ เรือบรรทุกน้ำมัน, บริษัทประกันภัย, และสถาบันสินเชื่อของจี7 ต่อเมื่อเป็นซื้อน้ำมันจากรัสเซียที่ราคาไม่เกิน 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเท่านั้น จากนั้นสหภาพยุโรปก็มีมติเช่นเดียวกันนี้ โดยที่คำสั่งนี้ทั้งของ จี7 และอียู จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันจันทร์ (5)
ทว่า เมื่อวันอาทิตย์ รองนายกรัฐมนตรีอเล็กซานเดอร์ โนวัคของรัสเซีย ย้ำอีกครั้งว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการแทรกแซงกฎการค้าเสรีและบ่อนทำลายเสถียรภาพของตลาด นอกจากนี้รัสเซียกำลังดำเนินการเพื่อยับยั้งการจำกัดราคาดังกล่าว และจะขายน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากน้ำมันให้ประเทศที่ร่วมมือกับรัสเซียภายใต้เงื่อนไขตลาดเท่านั้น แม้จำเป็นต้องลดกำลังผลิตลงก็ตาม
ขณะที่ ดมิตริ เปสคอฟ โฆษกของเครมลิน แถลงในวันจันทร์ (5) ว่า รัสเซียกำลังเตรียมการเพื่อตอบโต้ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ของโลกตะวันตก พร้อมกับบอกว่า รัสเซียและเศรษฐกิจของรัสเซียมีศักยภาพที่จะรับมือกับความจำเป็นและความเรียกร้องต้องการต่างๆ ของสงครามในยูเครน ซึ่งฝ่ายรัสเซียเรียกว่า “การปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ตรงกันข้าม การกระทำเช่นนี้คือก้าวเดินไปสู่การทำลายเสถียรภาพในตลาดพลังงานโลก
(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี)