เซเลนสกีออกมาโวยวายเมื่อวันเสาร์ (3 ธ.ค.) ว่ามาตรการของกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี7) และออสเตรเลีย ที่เห็นพ้องตั้งเพดานราคาน้ำมันรัสเซียที่ขนส่งทางทะเลไว้ที่บาร์เรลละ 60 ดอลลาร์ ไม่จริงจังและก่อผลกระทบเพียงเล็กน้อยในการป้องปรามรัสเซียจากการทำสงครามในยูเครน แต่ขณะเดียวกันมาตรการดังกล่าวก็เรียกเสียงเดือดดาลจากฝั่งเครมลินเช่นกัน โดยบอกว่าจะไม่ยอมรับเพดานราคาใดๆ สำหรับน้ำมันของพวกเขา และเวลานี้อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางตอบโต้
เวลานี้สหภาพยุโรปเตรียมลงมติเห็นชอบกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียที่ขนส่งทางทหาร 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากจี 7 และออสเตรเลีย บรรลุข้อตกลงในวันศุกร์ (2 ธ.ค.) มาตรการนี้มีเป้าหมายลดรายได้จากการขายน้ำมันของรัสเซีย พร้อมกับสกัดไม่ให้ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงไปมากกว่าที่เป็นอยู่
"พวกคุณไม่สามารถเรียกมันว่าเป็นการตัดสินใจที่จริงจังในการจำกัดราคาน้ำมันรัสเซียเช่นนี้ ซึ่งทำให้รัฐก่อการร้ายหนึ่งมีงบประมาณอย่างสบายๆ" เซเลนสกีกล่าว "ไม่ว่าอย่างไร ก็จะถึงเวลาที่ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่หนักหน่วงขึ้นอยู่แล้ว มันน่าเศร้าที่คราวนี้เสียเวลาไปเปล่าๆ"
อันดรีย์ เยอร์มัค หัวหน้าคณะทำงานทำเนียบประธานาธิบดียูเครน บอกก่อนหน้านี้ว่า เพดานราคาควรอยู่ที่ 30 ดอลลาร์ เพื่อทำลายเศรษฐกิจของศัตรูรวดเร็วยิ่งขึ้น
เซเลนสกี คร่ำครวญว่าโลกแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอในกรณีกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย 60 ดอลลาร์ ซึ่งเขาบอกว่ามันจะช่วยให้รัสเซียมีงบประมาณเพิ่มขึ้นกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ในแต่ละปี "เงินเหล่านี้จะถูกส่งไปก่อความไร้เสถียรภาพในประเทศต่างๆ เหล่านั้น ที่เวลานี้พยายามหลีกเลี่ยงไม่ยอมตัดสินใจอย่างจริงจัง"
ไม่เพียงแต่ฝ่ายยูเครน ทางมอสโกเองก็ไม่พอใจต่อความเคลื่อนไหวกำหนดเพดานราคาเช่นกัน โดยเครมลินเผยว่ารัสเซีย "จะไม่ยอมรับ" ต่อการกำหนดเพดานราคาใดๆ ต่อน้ำมันของพวกเขา และกำลังวิเคราะห์หาหนทางในการตอบโต้ จากความคิดเห็นในวันเสาร์ (3 ธ.ค.) ตอบสนองต่อข้อตกลงของบรรดามหาอำนาจตะวันตกที่เล็งเป้าหมายสกัดแหล่งเงินทุนหลักในการทำสงครามในยูเครน
ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกวังเครมลินบอกว่ามอสโกได้เตรียมการต่างๆ ไว้แล้วสำหรับวิเคราะห์และตอบโต้คำแถลงกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียของจี7 สหภาพยุโรปและออสเตรเลีย "เราจะไม่ยอมรับเพดานนี้" เขากล่าวกับสำนักข่าวอาร์ไอเอ พร้อมระบุว่ารัสเซียจะดำเนินการวิเคราะห์ข้อตกลงดังกล่าวอย่างรวดเร็วและทำการตอบโต้หลังจากนั้น
รัสเซียยืนกรานมาตลอดว่าพวกเขาจะไม่ป้อนอุปทานน้ำมันแก่ประเทศต่างๆ ที่บังคับใช้มาตรการกำหนดเพดานราคา ท่าทีที่ได้รับการเน้นย้ำอีกครั้งผ่านข้อความของ มิคาอิล อูลยานอฟ เอกอัครราชทูตมอสโกประจำองค์กรระหว่างประเทศในเวียนนา ที่โพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์ในวันเสาร์ (3 ธ.ค.) "เริ่มตั้งแต่ปีนี้ยุโรปต้องอยู่โดยไม่มีน้ำมันรัสเซียอีกต่อไป"
มาตรการเพดานราคาน้ำมันของทางจี7 จะยังคงอนุญาตให้บรรดาประเทศนอกอียูนำเข้าน้ำมันดิบรัสเซียที่ขนส่งทางทะเลต่อไป แต่บรรดาสถาบันการเงิน บริษัทเดินเรือ บริษัทประกันวินาศภัย และบริษัทประกันภัยต่อ จะไม่สามารถให้บริการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าน้ำมันรัสเซียที่มีราคาสูงกว่าเพดานที่ G7 และพันธมิตรกำหนดไว้ จนกว่ามันจะถูกขายต่ำกว่า 60 ดอลลาร์ ซึ่งมันอาจก่อความยุ่งยากซับซ้อนต่อการขนส่งน้ำมันดิบรัสเซียที่ขายเกินเพดานราคา แม้กระทั่งในการขนส่งไปประเทศต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในข้อตกลงก็ตาม
น้ำมันดับอูราลของรัสเซีย ซื้อขายกันที่ประมาณ 67 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในวันศุกร์ (2 ธ.ค.)
เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เชื่อว่าเพดานราคานำมันรัสเซียจะก่อประโยชน์บางส่วนแก่บรรดาประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง ซึ่งต้องเผชิญกับราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูง "ด้วยเศรษฐกิจรัสเซียหดตัวลงแล้ว และงบประมาณของพวกเขาตึงตัวมากยิ่งขึ้น เพดานราคาจะตัดแหล่งรายได้ที่สำคัญที่สุดของประธานาธิบดีปูตินในทันที" เธอกล่าว
(ที่มา : รอยเตอร์)