xs
xsm
sm
md
lg

อียูใกล้เห็นพ้องตั้งเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย แต่แค่ $60 ต่ำกว่าตลาดเล็กน้อย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ใกล้เห็นพ้องกันจำกัดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวด้านการทูตในวันพฤหัสบดี (1 ธ.ค.) โดยเวลานี้เหลือเพียงรอความยินยอมพร้อมจากโปแลนด์เป็นรายสุดท้ายเท่านั้น

ยุโรปจะเริ่มบังคับใช้มาตรการจำกัดการส่งออกน้ำมันทางเรือของรัสเซีย ตั้งแต่วันจันทร์ (5 ธ.ค.) เป็นต้นไป ดังนั้น มาตรการกำหนดเพดานราคาจะบังคับใช้กับน้ำมันที่รัสเซียส่งออกทางทะเลไปยังท่าเรือต่างๆ ทั่วโลก

มาตรการนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อสกัดเรือบรรทุกทั้งหลายจากการขนส่งน้ำมันของรัสเซียที่จำหน่ายในราคาสูงกว่าเพดานราคาดังกล่าว ในนั้นรวมถึงการไม่อนุญาตให้บรรดาบริษัทประกันภัยสหราชอาณาจักร และอียู รับทำประกันภัยทางทะเลและการขนส่งแก่เรือที่ขนน้ำมันรัสเซีย

ก่อนหน้านี้ อียูเห็นพ้องกับวอชิงตัน ในความจำเป็นที่ต้องกำหนดเพดานราคาที่ลูกค้าตะวันตกจะจ่ายสำหรับซื้อน้ำมันรัสเซีย เพื่อป้องกันไม่ให้มอสโกโกยเงินจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูง อันมีต้นตอจากปฏิบัติการรุกรานยูเครนของรัสเซียเอง

คณะกรรมาธิการยุโรปบ่งชี้ว่า มาตรการเพดานราคา จะมาพร้อมกับคำสั่งที่ระบุว่าหากราคาที่ซื้อขายลดต่ำกว่า 60 ดอลลาร์ เมื่อนั้นเพดานราคาจะถูกปรับลดตามไปด้วย จนกว่ามันจะลดต่ำกว่าราคาตลาด 5%

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงคือราคาน้ำมันดิบอูราล ซึ่งเป็นน้ำมันดิบส่งออกหลักของรัสเซีย ซื้อขายกันอยู่ที่ราวๆ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ระหว่างที่บรรดาคณะผู้แทนทูตยุโรปพบปะหารือกันเกี่ยวกับระดับเพดานราคาที่จะกำหนดกับน้ำมันของรัสเซีย

โปแลนด์ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนตัวยงของยูเครน ในการสู้รบต้านทานการรุกรานของกองกำลังรัสเซีย ต้องการให้กำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียต่ำกว่านี้ ท่ามกลางรายงานข่าวว่าพวกเขาอยากเห็นเพดานราคาน้ำมันรัสเซียอยู่ที่แค่ราวๆ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

กระนั้นก็ดี ระหว่างที่ยังคงมีการเจรจากันในบรัสเซลส์ คณะผู้แทนทูตของหลายรัฐสมาชิก เผยว่าโปแลนด์ ไม่ได้คัดค้านอย่างหนักแน่นต่อข้อเสนอกำหนดเพดานราคาที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และคาดหมายว่าจะสามารถตกลงกันได้เร็วๆ นี้

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เตือนว่า ความพยายามใดๆ ของตะวันตกในการจำกัดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย จะก่อผลกระทบร้ายแรงต่อตลาดโลก แต่วอชิงตันและพันธมิตรทั้งหลาย ในนั้นรวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำ7ประเทศ (จี7) อียูและออสเตรเลีย ประกาศเดินหน้ามาตรการนี้

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น