(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Foreign tech companies swarm to Shanghai exhibition
By SCOTT FOSTER
11/11/2022
บริษัทอเมริกันกว่า 200 แห่ง ซึ่งรวมถึงกิจการด้านเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำด้วย ท้าทายนโยบาย “หย่าร้างตัดขาด” จากจีนของคณะบริหารโจ ไบเดน ด้วยการนำผลิตภัณฑ์ของพวกเขาไปร่วมแสดงในงานนิทรรศการครั้งใหญ่ของแดนมังกร
บริษัทเทคต่างชาติทั้งหลาย ไล่ตั้งแต่เอเอ็มดี (AMD) ไปจนถึงไซส์ (Zeiss) พากันนำผลิตภัณฑ์ของพวกตนมาจัดแสดงที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมแห่งชาติ (National Exhibition and Convention Center) ในมหานครเซี่ยงไฮ้ ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมุ่งโปรโมตส่งเสริมธุรกิจในจีนซึ่งต่อสู้ได้มาด้วยความยากลำบากของพวกเขา ขณะที่นักการเมืองบางคนบางฝ่ายเที่ยวหาทางที่จะทำลาย
นิทรรศการสินค้าระหว่างประเทศที่นำเข้าสู่จีน (China International Import Exhibition หรือ CIIE) จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 5 แล้ว มีขึ้นระหว่างวันที่ 5-10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และปรากฏว่ามีผู้ไปร่วมแสดงผลิตภัณฑ์หลายร้อยรายจากประเทศ ดินแดน และองค์การระหว่างประเทศ รวม 145 แห่ง ในจำนวนนี้รวมถึงบริษัทอเมริกันเกือบๆ 200 แห่ง ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของ เคร็ก แอลเลน (Craig Allen) ประธานสภาธุรกิจสหรัฐฯ-จีน (US-China Business Council) บริษัทอเมริกันเหล่านี้ หลายๆ รายเป็นพวกบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น เอเอ็มดี อินเทล (Intel) เคแอลเอ (KLA) แลม รีเสิร์ช (Lam Research) เทกซัส อินสตรูเมนต์ส (Texas Instruments) และควอลคอมม์ (Qualcomm)
ในระหว่างงานนิทรรศการ เทกซัส อินสตรูเมนต์ส ประกาศแผนการที่จะเพิ่มศักยภาพในด้านการประกอบชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์และการทดสอบผลิตภัณฑ์ของตนในจีนขึ้นไปเป็นกว่า 2 เท่าตัว รวมทั้งจะอัปเกรดพวกสิ่งปลูกสร้างทางด้านโลจิสติกส์ในแดนมังกรของบริษัทอีกด้วย ขณะที่ตัวนิทรรศการของ เทกซัส อินสตรูเมนต์ส ในงาน CIIE คราวนี้ มีทั้งพวกเทคโนโลยีแอนะล็อก และเทคโนโลยีประมวลผลที่แฝงฝังอยู่ในผลิตภัณฑ์ ซึ่งใช้อยู่ในด้านพลังงานหมุนเวียน ยานยนต์ไฟฟ้า และหุ่นยนต์
พวกบริษัทเทคชั้นนำจากประเทศอื่นๆ ก็มาจัดนิทรรศการอย่างโดดเด่นเตะตา โดยมีทั้ง แคนนอน (Canon) เอปสัน (Epson) โอลิมปัส (Olympus) พานาโซนิค (Panasonic) และ เรเนซัส (Renesas) จากญี่ปุ่น ซัมซุง จากเกาหลีใต้ และเอเอสเอ็มแอล (ASML) โนเกีย ซีเมนส์ (Siemens) และไซส์ จากยุโรป
ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ มีมาจากทั้งโตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน ยามาฮ่า มอเตอร์ ฮุนได ออดี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ และจีเอ็ม ซึ่งนำเอารถคาดิลแลคที่เป็นรถไฟฟ้ามาโชว์ ส่วนออมรอน (Omron) ผู้ชำนาญการพิเศษเรื่องระบบอัตโนมัติในโรงงาน เสนอหุ่นยนต์ที่สามารถเล่นปิงปองได้ของบริษัท
แมกซิมิเลียน เฟิร์สต์ (Maximilian Foerst) ซีอีโอของไซส์ บริษัทเลนซ์ และออปโตอิเล็กทรอนิกส์ชื่อดังจากเยอรมนี บอกกับสื่อมวลชนว่า “เราคาดเอาไว้แล้วถึงการที่จีนจะมีการปรากฏตัวในระดับโลกที่แข็งแกร่ง เพราะอุปสงค์และแนวโน้มต่างๆ ของเศรษฐกิจจีนและสังคมจีน ซึ่งก็เหมาะเจาะสอดคล้องเข้ากับสมรรถนะต่างๆ ของบริษทของเรา” เขาเรียก จีน ว่าเป็น “บ้านแห่งที่สองของไซส์” นิทรรศการของบริษัทในงานนี้มีทั้งเรื่องเทคโนโลยีทางด้านเลนส์และสายตา ออปโตอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีด้านการแพทย์ อุตสาหกรรม และเซมิคอนดักเตอร์
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไซส์ ประกาศแผนการที่จะสร้างสถานดำเนินการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนโรงงานผลิตแห่งใหม่ขึ้นมาในอุทยานอุตสาหกรรมซูโจว ทางภาคตะวันออกของจีน ขณะที่ธุรกิจของไซส์ ในจีนนั้น รวมไปถึงการร่วมพัฒนาระบบอิมเมจจิ้งสำหรับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายยักษ์สัญชาติจีนอย่างวีโว่
ฮิเดกิ โอซาวะ (Hideki Ozawa) ประธานของบริษัท แคนนอน (จีน) กล่าวว่า แวดวงต่างๆ ที่เป็นธุรกิจเกี่ยวข้องกับ (เทคโนโลยี มิกซ์ เรียลิตี) ของแคนนอน ในจีน กำลังขยายตัวออกไปอย่างสม่ำเสมอ สามารถที่จะพูดได้ว่ามันไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ B2B (Business-to-Business) และ B2C (Business-to-Consumer) เท่านั้น แต่ยังกำลังขยายตัวไปในทุกๆ ด้านเลย
“ทั้งผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี และบริการเป็นจำนวนมากที่เราพัฒนาขึ้นมาในญี่ปุ่น เวลานี้กำลังขยายตัวไปได้อย่างต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นๆ เรื่อยๆ สู่ประเทศจีน ทำให้มัน “กลายเป็นจีน” ขึ้นมา ทำการพัฒนาต่อไปอีก และทำให้บรรลุผลลัพธ์ในตลาดจีน”
แคนนอนยังจัดส่งพวกอุปกรณ์เครื่องพิมพ์ lithography ให้แก่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และอุตสาหกรรมจอแสดงผลแบบจอแบนของจีนอีกด้วย ทั้งนี้ จอ LCD กว่าครึ่งหนึ่งของโลกผลิตขึ้นในประเทศจีน ที่เหลือซึ่งรวมถึงพวกจอแสดงผล OLED ที่สลับซับซ้อนกว่าผลิตในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน สื่อในจีนรายงานว่า บริษัท แคนนอน ออปติคอล อินดัสเตรียล อีควิปเมนต์ (เซี่ยงไฮ้) (Canon Optical Industrial Equipment (Shanghai) กำลังว่าจ้างวิศวกรเพิ่มเติมเพื่อตอบสนองอุปสงค์ในเครื่องจักรอุปกรณ์ lithography ของบริษัที่กำลังเพิ่มสูง
นี่ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งกำลังขับดันนโยบายของวอชิงตัน ให้มีการ “การหย่าร้างแยกขาด” (decoupling) จากจีน ต้องการที่จะได้ยินอย่างแน่นอน
สำหรับพวกที่ปรารถนาจะหยุดยั้งไม่ให้จีนมีการเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีต่อไปตามเส้นทางของพวกเขาด้วยแล้ว นี่คือข้อมูลที่ฟังดูเลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก กล่าวคือ งาน CIIE ปีนี้มีเขตพื้นที่แสดงนิทรรศการพิเศษทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence Special Exhibition Zone) โดยที่ผู้เข้าร่วมแสดงนิทรรสการ มีทั้งไมโครซอฟท์ เมตา (เฟซบุ๊ก) อินเทล และบริษัทอื่นๆ จำนวนมาก โดยมีการโชว์พวกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับคลาวด์ คอมพิวติ้ง (cloud computing) อัลกอริธมิก โมเดลลิ่ง (algorithmic modeling) และการบริหารจัดการข้อมูล
ยิ่งกว่านั้น อินวิเดีย (NVIDIA) ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในแคลิฟอร์เนีย ยังนำเอากราฟิกส์ โปรเซสเซอร์ (graphics processor) ขนาดเล็กลงมา ที่ใช้ชื่อว่า A800 ซึ่งมุ่งให้ใช้กับพวกแอปพลิเคชันปัญญาประดิษฐ์ในตลาดจีนเป็นการเฉพาะมาแสดงในงานนี้ ตามคำแถลงของบริษัท ระบุว่า โปรเซสเซอร์ตัวนี้ “สามารถผ่านการทดสอบของรัฐบาลสหรัฐฯ ในเรื่องการควบคุมเพื่อลดการส่งออก และไม่สามารถที่จะโปรแกรมเพื่อขยายความสามารถของมัน”
ทัศนคติเชิงบวกของพวกบริษัทต่างชาติที่มีต่ออนาคตด้านเทคของจีนเช่นนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าต้องเป็นดนตรีไพเราะเสนาะหูสำหรับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ในคำปราศรัยกล่าวเปิดงานนิทรรศการนี้ของเขา ซึ่งใช้ชื่อหัวข้อว่า “ทำงานด้วยกันเพื่ออนาคตอันสดใสของการเปิดกว้างและความเจริญรุ่งเรือง” (Working Together for a Bright Future of Openness and Prosperity) สี กล่าวว่า “การเปิดกว้างคือพลังขับดันระดับกุญแจสำคัญอย่างหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังความก้าวหน้าของอารยธรรมต่างๆ ของมนุษย์ และเป็นเส้นทางอันแท้จริงในการมุ่งสู่ความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาของโลก ...
“จีนจะทำงานกับทุกๆ ประเทศ และทุกๆ ฝ่ายในการแบ่งปันโอกาสต่างๆ ในตลาดที่ใหญ่โตกว้างขวางของตน เราจะเพิ่มความพยายามในการบ่มเพาะตลาดภายในประเทศที่มีความแข็งแรง ยกระดับการค้าสินค้า พัฒนากลไกใหม่ๆ สำหรับการค้าบริการ และนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น เราจะจัดตั้งเขตพื้นที่นำร่องสำหรับความร่วมมือกันในเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เส้นทางสายไหม (Silk Road e-commerce) และสร้างเขตพื้นที่สาธิตระดับชาติขึ้นมาสำหรับการพัฒนาการค้าบริการที่มีนวัตกรรม เพื่อที่จะกระตุ้นส่งเสริมนวัตกรรมในการค้า และส่งเสริมสนับสนุนความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่มีคุณภาพสูง”
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เส้นทางสายไหม และความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่มีคุณภาพสูงกับประเทศต่างๆ เกือบ 150 ประเทศ --นี่ก็เหมือนกัน เป็นเรื่องที่คณะบริหารไบเดนไม่ต้องการจะได้ยินหรอก
ผู้นำจีนกล่าวต่อไปว่า “เราจะมีปฏิสัมพันธ์อย่างเต็มที่และอย่างลึกซึ้งกับการเจรจาต่างๆ เพื่อการปฏิรูป WTO (World Trade Organization องค์การการค้าโลก) ส่งเสริมสนับสนุนการเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกให้แก่การค้าและการลงทุน และเพิ่มพูนการร่วมมือประสานงานด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาคระดับระหว่างประเทศ ด้วยทัศนะที่ต้องการเข้าร่วมการบ่มเพาะพลังขับดันใหม่ๆ เพื่อการเติบโตขยายตัวของทั่วโลก เราจะใช้ความพยายามอย่างกระตือรือร้นเพื่อเข้าร่วมในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกที่ครอบคลุมและก้าวหน้า (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership หรือ CPTPP) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Partnership Agreement หรือ DEPA) เพื่อขยายเครือข่ายที่มุ่งขยายตัวไปทั่วโลกของบรรดาเขตการค้าเสรีมาตรฐานสูง”
ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงในนโยบายเศรษฐกิจจนถึงระดับรากฐานแล้ว ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จีนจะได้รับการยอมรับให้เข้าร่วม CPTPP ถึงแม้ว่าเป็นสหรัฐฯ ต่างหากซึ่งปฏิเสธไม่เข้าร่วมความตกลงเขตการค้าเสรีแห่งนี้ ไม่ใช่จีน ขณะที่ทิศทางอนาคตของ DEPA นั้นยังไม่มีความชัดเจน ความตกลงนี้ก่อตั้งขึ้นโดย ชิลี นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ เมื่อปี 2020 โดยที่เกาหลีใต้ และจีน ขอเข้าร่วมตั้งแต่ปีที่แล้ว
สี ไม่ได้เอ่ยถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) ซึ่ง จีน เป็นชาติสมาชิกผู้ก่อตั้งรายหนึ่ง แต่เขาย่อมต้องนึกถึงอยู่แล้ว RCEP ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2022 เป็นต้นมา มีจุดมุ่งหมายที่จะลดทอนการจัดเก็บภาษีศุลกากรระหว่างชาติสมาชิกอย่างเป็นกอบเป็นกำ และทำให้กฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุนมีความเรียบง่ายมากขึ้น
ในบทความชิ้นหนึ่งซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่โดย สถาบันกิจการระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan Institute of International Affairs) ในเดือนสิงหาคม 2022 ที่ผ่านมา คาซูชิ ชิมิสุ (Kazushi Shimizu) ศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยคิวชู (Kyushu University) เขียนเอาไว้ดังนี้
“RCEP จะให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวงแก่เอเชียตะวันออก ผลประโยชน์ประการแรกเลยของ RCEP คือการกระตุ้นส่งเสริมการค้าสินค้าและการค้าบริการ ตลอดจนการลงทุนทั่วทั้งเอเชียตะวันออก ดังนั้นจึงสร้างคุณูปการให้แก่การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของภูมิภาคนี้ ประการที่สอง ความตกลงนี้จะสร้างคุณูปการให้แก่การจัดทำกฎระเบียบใหม่ๆ และมีความละเอียดซับซ้อนยิ่งขึ้น ประการที่สาม ความตกลงนี้จะอำนวยความสะดวกให้แก่การก่อตั้งเครือข่ายการผลิต หรือห่วงโซ่อุปทานในเอเชียตะวันออก ประการที่สี่ RCEP จะช่วยลดช่วงห่างทางเศรษฐกิจระหว่างพวกประเทศที่ก้าวหน้ากับพวกประเทศกำลังพัฒนาภายในภูมิภาคนี้”
เวลานี้ RCEP มีผู้ร่วมลงนามรวม 15 ราย ซึ่งก็คือถึงพวกประเทศประชาธิปไตยในเอเชีย-แปซิฟิกทั้งหมด สหรัฐฯ ไม่มีคุณสมบัติที่จะเข้าเป็นสมาชิกได้ แต่กระทั่งถ้าหากว่ามีคุณสมบัติ คณะบริหารชุดปัจจุบันของ ไบเดน ก็คงจะไม่ลงนามในความตกลงที่จะเปิดตลาดอย่างกว้างขวางให้แก่จีนและพวกผู้ส่งออกเอเชียรายอื่นๆ
ทั้งหมดเหล่านี้ช่างตรงกันข้ามกับเรื่องเล่ามุ่งต่อต้านจีนที่พูดกันแพร่หลายอยู่ในวอชิงตัน เรื่องเล่าเหล่านี้มองการรับตำแหน่งเป็นวาระที่สามของ สี และการใช้มาตรการควบคุมจำกัด “โควิดต้องป็นศูนย์” อย่างต่อเนื่องต่อไปว่าเป็นสัญญาณของการหันไปมุ่งสนใจแต่กับภายใน และถอยห่างออกจากการปฏิรูปทางเศรษฐกิจที่มุ่งเปิดตลาดให้กว้างยิ่งขึ้น ถ้าหาก CIIE เป็นสิ่งที่สามารถให้ข้อมูลข่าวสารอะไรได้แล้ว มันก็บ่งบอกให้เห็นว่าแนวโน้มในโลกแห่งความเป็นจริงกำลังเคลื่อนที่ไปในทิศทางตรงกันข้าม
ชาร์ลส์ มิเชล (Charles Michel) ประธานของคณะมนตรียุโรป (European Council ที่ประชุมของบรรดาผู้นำรัฐและผู้นำรัฐบาลของชาติสมาชิกสหภาพยุโรป) พยายามที่จะสร้างความเสียหายให้แก่บรรยากาศของนิทรรศการแสดงสินค้าคราวนี้ ด้วยวิดีโออัดเตรียมไว้ล่วงหน้า ซึ่งมีเนื้อหามุ่งเรียกร้องให้ลดทอนการที่ต้องพึ่งพาการค้ากับจีน “มากเกินไป” เวลาเดียวกันก็วิพากษ์วิจารณ์จุดยืนของปักกิ่งในเรื่องสงครามในยูเครน
ตามรายงานของสื่อหลายราย มิเชล ต้องการที่จะพูดว่า “จีนมีบทบาทที่จะต้องใช้อิทธิพลของตนเพื่อหยุดยั้งสงครามที่ป่าเถื่อนโหดร้ายของรัสเซีย ... โดยผ่านสิ่งที่คุณเรียกขานว่า เป็นความเป็นหุ้นส่วนกับรัสเซียชนิด “ไม่มีขีดจำกัด” คุณ ประเทศจีน สามารถช่วยทำให้เรื่องนี้ยุติลงได้”
อย่างไรก็ตาม วิดีโอของเขาถูกตัดทิ้งไปจากการดำเนินกิจกรรมของนิทรรศการครั้งนี้ โดยพวกนักการทูตบอกกับสื่อว่า ฝ่ายจีนต้องการที่จะเซ็นเซอร์คำปราศรัยนี้ แต่มีรายงานว่าทางอียูเลือกที่จะไม่นำมันออกมาเผยแพร่