xs
xsm
sm
md
lg

ตึงเครียด! บราซิลลุ้นจะเจอวิกฤตทางการเมืองหรือไม่ หลัง‘ลูลา’ชนะเลือกตั้งปธน.แต่‘โบลโซนารู’ยังไม่ยอมแพ้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนารู ของบราซิล (กลาง) เดินอยู่ที่ วังอัลโวราดา แพเลซ ซึ่งเป็นทำเนียบที่พักอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีในกรุงบราซิเลีย ในวันจันทร์ (31 ต.ค.) หนึ่งวันหลังการเลือกตั้งรอบสอง ซึ่งมีการประกาศผลออกมาแล้วว่า เขาพ่ายแพ้แก่อดีตประธานาธิบดีลูอิส อินาซิโอ “ลูลา” ดา ซิลวา ทั้งนี้บราซิลอยู่ในภาวะตึงเครียด ยังไม่ทราบว่า โบลโซนารู จะยอมแพ้โดยดีหรือไม่
อดีตผู้นำหัวเอียงซ้าย ลูอิส อินาซิโอ “ลูลา” ดา ซิลวา ออกมาเรียกร้อง “สันติภาพและเอกภาพ” หลังชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีบราซิลรอบสองแบบเฉียดฉิวเมื่อวันอาทิตย์ (30 ต.ค.) ถึงแม้ ฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีสายขวาจัดผู้มีความใกล้ชิดสนิทกับ “โดนัลด์ ทรัมป์” ยังคงไม่ออกมายอมรับความพ่ายแพ้ แต่ผู้นำทั่วโลกต่างแสดงความยินดีกับการกลับมาของ “ลูลา” แล้ว

ศาลสูงสุดแผนกเลือกตั้งของบราซิลประกาศเมื่อวันอาทิตย์ (30) ว่า ลูลา ได้คะแนนเลือกตั้งในรอบสองที่เป็นรอบตัดสิน 50.9% ขณะที่ โบลโซนารู แพ้เฉียดฉิวด้วยคะแนน 49.1% ถือเป็นผลเลือกตั้งซึ่งคู่คี่ที่สุดนับจากที่บราซิลกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยภายหลังยุคเผด็จการทหารในระหว่างปี 1964-1985 โดยตามกำหนดการ ลูลาจะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 1 มกราคม 2023

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้เท่ากับเป็นการกลับมาอย่างน่าทึ่งของลูลา ถึงแม้เขาพ้นตำแหน่งภายหลังดำรงตำแหน่งครบ 2 สมัยเมื่อปี 2010 ในฐานะประธานาธิบดีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประวัติศาสตร์บราซิล แต่เวลาต่อมาเสียรังวัดหลังถูกจำคุก 18 เดือนในข้อหาทุจริตขณะดำรงตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เขาจะกลับมาทำหน้าที่สมัยที่ 3 ด้วยวัย 77 ปี

ในทางกลับกัน ผลการเลือกตั้งล่าสุดเป็นการตำหนิอย่างรุนแรงต่อลัทธิประชานิยมขวาจัดของโบลโซนารู วัย 67 ปี ที่กลายเป็นประธานาธิบดีในตำแหน่งคนแรกของบราซิลในยุคหลังเผด็จการที่พ่ายแพ้การเลือกตั้ง

โบลโซนารูคว้าชัยชนะเมื่อ 4 ปีที่แล้วจากกระแสชิงชังการเมืองแบบเดิมๆ แต่ต่อมากลับถูกวิจารณ์อย่างหนักจากความผิดพลาดในการจัดการวิกฤตโควิดที่ทำให้มีคนตายถึงกว่า 680,000 คนในบราซิล รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ การเมืองแบบแบ่งขั้ว และการโจมตีสถาบันประชาธิปไตย โดยที่หลายๆ เรื่องที่กล่าวมานี้ เขามีแนวทางที่ละม้ายกับอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นผู้ที่เขาสนิทสนมด้วยคนหนึ่ง

ลูลาประกาศท่ามกลางผู้สนับสนุนนับหมื่นที่รวมตัวฉลองชัยชนะบนถนนพอลลิสตาในเมืองเซาเปาลูเมื่อวันอาทิตย์ว่า บราซิลต้องการสันติภาพและเอกภาพ และสำทับว่า บราซิลกลับมาแล้ว และพร้อมต่อสู้กับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการรักษาป่าแอมะซอน ซึ่งเป็นนโยบายที่ตรงกันข้ามกับโบลโซนารู

เขายังยอมรับว่า มีความท้าทายใหญ่หลวงรออยู่ ทั้งวิกฤตผู้หิวโหย เศรษฐกิจ และความแตกแยกด้านการเมือง

ไบรอัน วินเตอร์ บรรณาธิการบริหารของ อเมริกาส์ ควอเตอร์ลีย์ ทวิตว่า ชัยชนะของลูลาเป็นหนึ่งในการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ แต่เขาจะมีมีรัฐบาลที่อ่อนแอและต้องเผชิญหน้ากับรัฐสภาที่เป็นปรปักษ์

ด้านลูลาสำทับว่า โบลโซนารูยังไม่ได้โทรศัพท์มาแสดงความยินดีและเขาไม่รู้ว่า ประธานาธิบดีขวาจัดผู้นี้จะยอมรับความพ่ายแพ้หรือไม่

แหล่งข่าวในทีมหาเสียงของโบลโซนารูเผยว่า ผู้นำคนปัจจุบันของบราซิลจะไม่ออกมาแถลงใดๆ จนกว่าจะถึงวันจันทร์ (31 )

ปีที่แล้ว โบลโซนารู ยังเคยประกาศว่า จะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง โดยกล่าวอ้างแต่ไม่มีหลักฐานว่า ระบบเลือกตั้งของบราซิลมีช่องโหว่ที่จะมีการฉ้อโกง

ตอนนี้ก็มีผู้สนับสนุนโบลโซนารูบางส่วนชุมนุมในกรุงบราซิเลียและประกาศไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดี คาร์ลา แซมเบลลี สมาชิกรัฐสภาและเป็นหนึ่งในพันธมิตรใกล้ชิดของโบลโซนารู ทวิตเป็นเชิงยอมรับผลการเลือกตั้งว่า เขาจะเป็นฝ่ายค้านที่แข็งแกร่งที่สุดแบบที่ลูลานึกไม่ถึง

ทางด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดนของอเมริกา ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ของแคนาดา ตลอดจนถึงผู้นำในยุโรปและทั่วละตินอเมริกาต่างแสดงความยินดีต่อชัยชนะของลูลา

ขณะเดียวกัน กลุ่มสังเกตการณ์การเลือกตั้งระหว่างประเทศระบุว่า การจัดการเลือกตั้งของบราซิลเมื่อวันอาทิตย์มีประสิทธิภาพ และไม่พบข้อบกพร่องในการทดสอบความสมบูรณ์ของระบบการเลือกตั้งแต่อย่างใด

(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น