ทำเนียบขาวกำลังพิจารณาลดความช่วยเหลือทางทหารแก่ซาอุดีอาระเบีย เพื่อลงโทษต่อกรณีที่โอเปก ซึ่งมีริยาดเป็นผู้นำโดยพฤตินัย ตัดสินใจลดกำลังผลิตน้ำมัน เมินเสียงเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ขอให้เพิ่มกำลังผลิตเพื่อฉุดราคาให้ลดต่ำลง แม้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงทุนบินไปพูดคุยหารือด้วยตนเอง
สถานีโทรทัศน์เอ็นบีซีรายงานในวันเสาร์(29ต.ค.) อ้างแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เปิดเผยว่ามาตรการเหล่านี้อาจรวมไปถึงการระงับส่งมอบขีปนาวุธแพทริออตแก่ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งภายใต้ข้อตกลงมูลค่า 3,000 ล้านดอลาร์ ริยาดจะได้รับมอบขีปนาวุธ MIM-104E แพทริออต จำนวน 300 ลูก ที่ผ่านความเห็นชอบจากวอชิงตันไปแล้วเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ซาอุดีอาระเบียมองว่าการเติมเสบียงขีปนาวุธ สำหรับเครื่องยิงแพทริออตของพวกเขานั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เนื่องจากประเทศแห่งนี้ตกเป็นเป้าหมายของพวกกบฏฮูตีในเยเมน ที่ลงมือโจมตีด้วยขีปนาวุธและโดรนแบบถี่ๆ แก้แค้นปฏิบัติการทิ้งบอมบ์ทางอากาศของริยาด ที่ลากยาวมานานหลายปี
อีกทางเลือกหนึ่งที่อยู่ในวาระพิจารณาก็คือกีดกันซาอุดีอาระเบียออกจากการเข้าร่วมซ้อมรบทางทหารและเวทีประชุมระดับภูมิภาคต่างๆนานาที่กำลังมาถึง ในนั้นรวมถึงการมีส่วนร่วมในความพยายามของสหรัฐฯและพันธมิตร ที่หวังจัดตั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศร่วมในภูมิภาค แหล่งข่าวระบุ
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ 2 คนและแหล่งข่าวซึ่งไม่ประสงค์ออกนามอีกราย ชี้ว่าจนถึงตอนนี้ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆในวอชิงตัน และทั้งหมดทั้งมวลจะขึ้นอยู่กับการประชุมซัมมิตโอเปกในเดือนธันวาคม พร้อมระบุว่าหากการประชุมดังกล่าวได้ผลลัพธ์คือการปรับเพิ่มกำลังผลิต ซาอุดีอาระเบียก็อาจรอดพ้นจากมาตรการตอบโต้ของสหรัฐฯด้วยเช่นกัน
รายงานข่าวของเอ็นบีซี ระบุว่าพวกผู้นำทางทหารบางส่วนในสหรัฐฯ คัดค้านการลดความร่วมมือทางกลาโหมกับริยาด โดยโต้แย้งว่าการปล่อยให้ ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของวอชิงตันในอ่าวเปอร์เซียมานานหลายทศวรรษ ต้องอยู่โดยปราศจากขีปนาวุธแพทริออตและยุทโธปกรณ์อื่นๆของอเมริกา อาจทำให้ทหารและพลเมืองสหรัฐฯในประเทศแห่งนี้ตกอยู่ในอันตราย และบั่นทอนเสถียรภาพทั่วภูมิภาค ทั้งนี้แหล่งข่าวระบุว่าบรรดาผู้บัญชาการทางทหารได้แบ่งปันความกังวลดังกล่าวกับรัฐบาลของไบเดนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สหรัฐฯเรียกร้องซาอุดีอาระเบียเพิ่มกำลังผลิตมานานหลายเดือน โดยบอกว่าราคาที่ลดต่ำลงจะก่อความเสียหายแก่รัสเซีย และเป็นเรื่องยากขึ้นที่มอสโกจะมีเงินทุนสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารในยูเครน อย่างไรก็ตามโอเปกพลัส ซึ่งมีรัสเซียเป็นสมาชิกด้วย สร้างความขุ่นเคืองแก่วอชิงตันเมื่อช่วงต้นเดือน ด้วยการแถลงปรับลดกำลังผลิตอีก 2 ล้านบาร์เรล เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป
"มันจะมีผลสนองสำหรับซาอุดีอาระเบีย สืบเนื่องจากความเคลื่อนไหวดังกล่าว" ประธานาธิบดีโบเดนกล่าว และเมื่อถูกถามโดยซีเอ็นเอ็น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่วอชิงตันจะประเมินความสัมพันธ์กับริยาดเสียใหม่ ทางไบเดนตอบว่า "ใช่แล้ว"
ซาอุดีอาระเบียยืนกรานว่ามาตรการลดกำลังผลิตเป็นการตัดสินใจอย่างเป็นเอกฉันท์ของสมาชิกโอเปกพลัส และอยู่บนพื้นฐานทางเศรษฐกิจล้วนๆ
(ที่มา:เอ็นบีซี)