รัสเซียในวันเสาร์ (29 ต.ค.) ระบุการเร่งประจำการอาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิค B61 ของสหรัฐฯ ตามฐานทัพต่างๆ ของนาโต้ในยุโรป เท่ากับเป็นการลดธรณีประตูสำหรับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ และรัสเซียจะนำความเคลื่อนไหวดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาทบทวนแผนงานด้านการทหารของประเทศ
มอสโกมีอาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิคที่สามารถใช้งานได้ราวๆ 2,000 ลูก ส่วนสหรัฐฯ มีอาวุธดังกล่าวราวๆ 200 ลูก ราวครึ่งหนึ่งในนั้นประจำการอยู่ตามฐานทัพต่างๆ ในอิตาลี เยอรมนี ตุรกี เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์
ท่ามกลางวิกฤตยูเครน เว็บไซต์ข่าว Politico รายงานเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ว่า สหรัฐฯ ได้แจ้งกับที่ประชุมลับของนาโต้ในเดือนนี้ ว่าพวกเขาจะเร่งประจำการอาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิค B61 เวอร์ชันปรังปรุง หรือ B61-12 และอาวุธใหม่นี้จะส่งถึงฐานทัพต่างๆ ในยุโรปในเดือนธันวาคม เร็วกว่าที่วางแผนไว้หลายเดือน
อเล็กซานเดอร์ กรุชโก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอาร์ไอเอ ว่า "เราไม่อาจเพิกเฉยแผนปรับปรุงอาวุธนิวเคลียร์ให้มีความทันสมัย ระเบิดร่วงหล่นโดยอิสระเหล่านี้อยู่ในยุโรป"
ระเบิดแรงโน้มถ่วง B61-12 ความยาว 3.65 เมตร สามารถบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ทำลายล้างต่ำมากกว่าเวอร์ชันไหนๆ ก่อนหน้านี้ แถมยังมีความแม่นยำมากกว่าเดิมและสามารถเจาะลงไปใต้พื้นดินอีกด้วย จากงานวิจัยของสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกันที่เผยแพร่ในปี 20143
กรุชโก กล่าวว่า "สหรัฐฯ กำลังปรับปรุงมันให้มีความทันสมัย เพิ่มความแม่นยำของพวกมันและลดพลังงานของประจุนิวเคลียร์ ซึ่งก็คือ พวกเขาเปลี่ยนอาวุธเหล่านี้เป็นอาวุธที่ใช้ในสมรภูมิ เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นการลดธรณีประตูของการใช้อาวุธนิวเคลียร์"
เพนตากอนบอกว่า พวกเขาไม่ขอพูดคุยรายละเอียดเกี่ยวกับคลังแสงนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ และสมมติฐานในบทความของเว็บไซต์ข่าว Politico นั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากอเมริกาวางแผนไว้นานแล้วเกี่ยวกับการปรับปรุงอาวุธนิวเคลียร์ B61
"การปรับปรุงอาวุธนิวเคลียร์ B61 ของสหรัฐฯ ดำเนินการมาหลายปีแล้ว และเป็นแผนสลับอาวุธเก่าๆ อย่างปลอดภัยและด้วยความรับผิดชอบกับ B61-12 เวอร์ชันอัปเกรด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามปรับปรุงให้ทันสมัยตามกำหนดและวางแผนไว้นานแล้ว" โฆษกเพนตากอนระบุ "ไม่มีทางเลยที่มันจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างๆ ในปัจจุบันในยูเครน และไม่ได้มีการเร่งรีบใดๆ เลย"
ปฏิบัติการรุกรานยูเครนของรัสเซีย โหมกระพือการเผชิญหน้าครั้งเลวร้ายระหว่างมอสโกกับตะวันตก นับตั้งแต่วิกฤตขีปนาวุธคิวบาในปี 1962 ครั้งที่ 2 มหาอำนาจสงครามเย็นเฉียดใกล้ระเบิดสงครามนิวเคลียร์
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เน้นย้ำว่ารัสเซียจะปกป้องดินแดนของตนเองด้วยทุกวิถีทางที่มี ในนั้นรวมถึงอาวุธนิวเคลียร์ หากถูกโจมตี
คำพูดดังกล่าว ซึ่งก่อความกังวลอย่างยิ่งในตะวันตก มีขึ้นหลังจากมอสโกประกาศผนวก 4 แคว้นของยูเครน ที่พวกเขาควบคุมบางส่วน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนเมื่อเดือนที่แล้ว ในขณะที่ ปูติน กล่าวหาว่าตะวันตกกำลังขู่กรรโชกทางนิวเคลียร์รัสเซีย
โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตือนเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ว่า ปูติน กำลังนำพาโลกเข้าใกล้ "วันโลกาวินาศ" มากกว่าช่วงเวลาไหนๆ นับตั้งแต่วิกฤตขีปนาวุธคิวบา แม้ในเวลาต่อมา ไบเดน แสดงความคิดเห็นไม่คิดว่า ปูติน จะใช้อาวุธทางนิวเคลียร์ทางเทคนิค
ปูติน ไม่ได้พาดพิงเกี่ยวกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิค แต่แสดงความสงสัยว่ายูเครนอาจจุดชนวน "ระเบิดกัมมันตรังสี" คำกล่าวหาที่ทางยูเครนและตะวันตกปฏิเสธ
ระเบิดนิวเคลียร์ B61 ของสหรัฐฯ ผ่านการทดสอบครั้งแรกในเนวาดา ไม่นานหลังวิกฤตขีปนาวุธคิวบา และภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ระหว่างปี 2009-2017 ได้มีการอนุมัติโครงการพัฒนาเวอร์ชันใหม่ของอาวุธดังกล่าว ซึ่งก็คือ B61-12
(ที่มา : รอยเตอร์)