ตลาดการเงินโลกควรพร้อมรับมือกับช่วงเวลาขาลง ซึ่งจะรุนแรงกว่าครั้งพังพินาศในช่วงทศวรรษ 1970 และ 2008 จากคำเตือนของนูเรียล รูบินี นักเศรษฐศาสตร์คนดังและศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก
รูบินี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อวันพฤหัสบดี (20 ต.ค.) ที่ผ่านมา ว่าท้ายที่สุดแล้วธนาคารกลางต่างๆ จะละทิ้งแนวทางกระชับนโยบายทางการเงิน แม้ยังเอาชนะเงินเฟ้อไม่ได้ "มันกำลังเลวร้ายลง ภาวะถดถอย และคุณจะเจอกับวิกฤตทางการเงิน"
เขาชี้ถึงตลาดหุ้นร่วงลงมาแล้วมากกว่า 20% ในปีนี้ การลงทุนในหุ้นนอกตลาด (Private Equity) ตึงตัว ภาวะซบเซาของภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ และการดำดิ่งของตลาดสินเชื่อ ตลาดที่บรรดาบริษัททั้งหลายฉวยประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำ สะสมหนี้มานานหลายปี
"เงินเฟ้อจะไม่ลดลงมาเร็วพอ เพราะว่าคุณเจอปัจจัยลบภาวะช็อกด้านอุปทาน" เขาอธิบาย พร้อมระบุ "พึงระลึกไว้ เมื่อคุณมีปัจจัยลบ ภาวะช็อกด้านอุปทาน คุณจะเจอกับภาวะถดถอยและเงินเฟ้อระดับสูง คุณไม่สามารถฉุดเงินเฟ้อให้ลดต่ำลงสู่ระดับเป้าหมาย 2% ได้รวดเร็วเพียงพอ"
รูบินี กล่าวว่า "ผลลัพธ์ของเรื่องทั้งหมดทั้งมวลนี้ เราจะเผชิญกับช่วงเวลาหนึ่งๆ ซึ่งเลวร้ายกว่าวิกฤตการเศษฐกิจยุคทศวรรษ 1970 และวิกฤตการเงินโลกปี 2008 รวมกัน"
"นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความเจ็บปวดนั้น รอจนกว่าจะเจอความเจ็บปวดที่แท้จริง เมื่อนั้นคุณอาจมีสถาบันการเงินหลักแห่งหนึ่งที่อาจทำให้ทั่วโลกพังทลาย บางทีอาจไม่ใช่แค่ในสหรัฐฯ บางทีมันอาจเป็นในระดับนานาชาติ"
"อาจเป็น 2 บริษัทที่มีขนาดใหญ่มาก พวกเขาอาจล้มละลาย คุณจะเจอกับอีกหนึ่งผลกระทบเลห์มัน (เลห์มัน บราเธอร์ วาณิชธนกิจระดับโลกที่ล้มละลาย หลังขาดทุนมหาศาลจากการลงทุนในสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ก่อเกิดวิกฤตซับไพรม์ส่งผลกระทบไปทั่วโลก) จากนั้นเฟดจะไม่กล้าทำอะไรเพราะพวกเขาตระหนกจนเกินไป คุณจะเจอกับภาวะถดถอยรุนแรง และคุณจะเจอกับภาวะช็อกในตลาดการเงิน แน่นอนว่าพวกเขาจะไม่กล้าทำอะไรเพราะความหวาดกลัว" นักเศรษศาสตร์รายนี้เตือน
ทั้งนี้ รูบินี มีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาจากคำทำนายว่าจะเกิดวิกฤตทางการเงินปี 2008-19 และได้รับฉายาจากวอลล์สตรีทว่า "ด็อกเตอร์ดูม"
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์/บลูมเบิร์ก)