รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อเสริมเขี้ยวเล็บทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายในระยะเวลา 5 ปีนับจากนี้ไปจนถึงการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2027 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องปราม “จีน” ไม่ให้คิดก่อสงครามขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออก
มุมมองดังกล่าวของนักวิเคราะห์สอดคล้องกับสิ่งที่ญี่ปุ่นเคยระบุเอาไว้ในรายงาน “สมุดปกขาว” ด้านกลาโหมเมื่อปี 2019 ว่าจีนถือเป็น “ภัยคุกคามอันดับต้นๆ” บ่งบอกว่าโตเกียวก็เล็งเห็นถึงอันตรายจากการที่ปักกิ่งแสดงพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศ เพิ่มแรงกดดันต่อไต้หวันมากขึ้นเรื่อยๆ และมุ่งมั่นพัฒนากองทัพให้มีความทันสมัยขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ความกังวลดังกล่าวยิ่งมีมากขึ้นหลังจากที่รัสเซียส่งทหารเข้ารุกรานยูเครน และมีส่วนทำให้กระแสคัดค้านการขยายบทบาทกองกำลังป้องกันตนเองลดลงไปมากในหมู่ชาวญี่ปุ่น
“รัฐบาลได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มขึ้น และคงจะใช้โอกาสนี้ทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้” ทากาชิ คาวาคามิ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยทากุโชกุในกรุงโตเกียวให้ความเห็น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ปี 2027 ว่าเป็นช่วงเวลาที่ดุลอำนาจทางทหารในภูมิภาคอาจเทไปยังฝั่งจีน และอาจใช้เรื่องนี้เป็นเหตุผลในการเสนออัดฉีดงบด้านการทหารเพิ่มขึ้น
นอกจากเป็นปีที่จีนจะจัดการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งถัดไปแล้ว ปี 2027 ยังถือเป็นหมุดหมายสำคัญในโรดแมปการพัฒนากองทัพจีน เนื่องจากตรงกับวาระครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนด้วย
พล.ร.อ.ฟิลิป เดวิดสัน ผู้บัญชาการกองกำลังอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ เคยกล่าวต่อสภาคองเกรสเมื่อปีที่แล้วว่า จีนอาจสำแดงเจตนาคุกคามไต้หวันออกมาอย่าง “โจ่งแจ้ง” ในปีนั้น
สำหรับญี่ปุ่น การปล่อยให้ไต้หวันถูกควบคุมโดยจีนแผ่นดินใหญ่ย่อมจะส่งผลเสียอย่างมหาศาล เพราะเท่ากับว่าเส้นทางเดินเรือที่ใช้ขนส่งเชื้อเพลิงและวัตถุดิบในการผลิตสินค้าต่างๆ ของญี่ปุ่นจะตกอยู่ในเงื้อมมือจีนไปด้วย อีกทั้งกองทัพเรือจีนก็จะสามารถสยายอิทธิพลในมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตกได้อย่างสะดวกขึ้น โดยอาศัยฐานทัพที่ตั้งอยู่บนเกาะไต้หวัน
“แม้หลายฝ่ายจะยังมีมุมมองต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้วเจ้าหน้าที่รัฐเห็นตรงกันว่าปี 2027 มีความสำคัญ” เจ้าหน้าที่อาวุโสซึ่งมีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านกลาโหมของญี่ปุ่นให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ พร้อมยืนยันว่าประเด็นเหล่านี้กำลังถูกหารือ “เป็นการภายใน”
กระทรวงการต่างประเทศจีนออกมาวิจารณ์ญี่ปุ่นว่าใช้ปักกิ่งเป็น “ข้ออ้าง” ในการขยายแสนยานุภาพทางทหาร
“กลุ่มการเมืองในญี่ปุ่นพยายามใช้จีนเป็นข้ออ้างเพื่อกระพือความตึงเครียดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และอันที่จริงพวกเขาพยายามหาเหตุที่จะเสริมเขี้ยวเล็บและขยายบทบาทกองทัพมากกว่า” กระทรวงการต่างประเทศจีนชี้แจงกับรอยเตอร์
ระหว่างกล่าวรายงานในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเร่งบรรลุแผนการที่จะทำให้กองทัพจีนมีความก้าวหน้าทันสมัยระดับ “เวิลด์คลาส” พร้อมย้ำว่ารัฐบาลจีน “ไม่มีวันละทิ้งสิทธิ” ที่จะใช้กำลังทหารเพื่อแก้ปัญหาไต้หวัน
ญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการทูตที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนกับจีน ซึ่งหมายความว่าคงเป็นไปได้ยากที่โตเกียวจะให้คำมั่นในการปกป้องคุ้มกันไต้หวันโดยตรง
อย่างไรก็ตาม การที่ญี่ปุ่นมีดินแดนทางตอนใต้อยู่ห่างกับเกาะไต้หวันแค่ราวๆ 150 กิโลเมตร ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกดึงเข้าสู่การเผชิญหน้ากับมหาอำนาจเพื่อนบ้านที่ใช้จ่ายงบด้านการทหารสูงกว่าญี่ปุ่นถึง 4 เท่า
เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นผู้ไม่ประสงค์ออกนามระบุว่า หากเกิดสงครามขึ้นจริง กองทัพจีนอาจบุกยึดหมู่เกาะของญี่ปุ่นที่อยู่ใกล้ไต้หวันมากที่สุด และใช้มันเป็นฐานติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธเพื่อสกัดการยิงตอบโต้ของฝ่ายไต้หวันและสหรัฐฯ
จีนเคยยิงขีปนาวุธไปตกในน่านน้ำห่างจากหมู่เกาะของญี่ปุ่นไม่เกิน 160 กิโลเมตร ระหว่างเปิดซ้อมรบเมื่อช่วงเดือน ส.ค. เพื่อตอบโต้การไปเยือนไทเปของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งปักกิ่งชี้ว่าสะท้อนพฤติกรรม “แทรกแซง” ของสหรัฐอเมริกา
ฐานทัพ สนามบิน ท่าเรือ และศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ต่างๆ ของญี่ปุ่นก็มีความเสี่ยงที่จะถูกจีนล็อกเป้าทำลาย เพื่อไม่ให้กลายเป็นฐานที่มั่นของกองกำลังสหรัฐฯ เช่นกัน
ยาสุฮิโระ มัตสึดะ อาจารย์ด้านการเมืองระหว่างประเทศประจำมหาวิทยาลัยโตเกียว และอดีตนักวิจัยอาวุโสของกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น ชี้ว่ารัฐบาลโตเกียวจำเป็นต้อง “คิดเผื่อ” ในกรณีที่สหรัฐฯ “ไม่ตอบสนอง” ต่อปฏิบัติการโจมตีไต้หวันของจีน
“หากญี่ปุ่นสามารถยกระดับศักยภาพด้านการป้องกันตนเองได้ การที่จีนจะคิดโจมตีกองทัพอเมริกันในญี่ปุ่นก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่าย และต้นทุนความเสี่ยงในปฏิบัติการบุกไต้หวันก็จะมากขึ้นตามไปด้วย” มัตสึดะ กล่าว
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนญี่ปุ่นเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องละวางนโยบายใฝ่ความสงบ (pacifism) ในยุคหลังสงคราม และหันมาสร้างเสริมสมรรถนะด้านการป้องกันตนเองมากยิ่งขึ้น ก็คือสถานการณ์ที่รัสเซียใช้ “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” รุกรานยูเครน โดยผลสำรวจความคิดเห็นของสถานีโทรทัศน์ NHK ในเดือนนี้พบว่า 55% ของผู้ตอบแบบสอบถาม 1,247 คน สนับสนุนให้รัฐบาลเพิ่มงบด้านกลาโหม และมีเพียง 29% ที่คัดค้าน และในกลุ่มคนที่สนับสนุนการเพิ่มงบกลาโหมมีอยู่ 61% ที่เห็นว่ารัฐควรตัดงบประมาณรายจ่ายด้านอื่นๆ ลงเพื่อนำเงินไปอุดหนุนในส่วนนี้
เมื่อเดือน ก.ค. พรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ของนายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ ชนะศึกเลือกตั้งสภาสูงด้วยคำมั่นสัญญาว่าจะเพิ่มงบด้านการทหาร “อย่างมีนัยสำคัญ” โดยทางพรรคได้ประกาศจัดสรรงบสนับสนุนกองกำลังป้องกันตนเองเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 10 ล้านล้านเยนภายใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งวงเงินส่วนที่เพิ่มเข้ามานั้นจะถูกนำไปจัดซื้อและพัฒนาขีปนาวุธของญี่ปุ่นให้มีพิสัยการยิงไกลขึ้นจนกระทั่งสามารถโจมตีเรือรบศัตรูจากระยะไกล รวมถึงเป้าหมายที่อาจจะอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ หรือเกาหลีเหนือ