นายกรัฐมนตรี ลิซ ทรัสส์ แห่งสหราชอาณาจักร ออกมาแถลงในวันพฤหัสบดี (20 ต.ค.) ว่า เธอจะลาออกจากตำแหน่ง หลังจากบริหารประเทศมาได้เพียง 6 สัปดาห์ และเสนอโครงการทางเศรษฐกิจที่เน้นการตัดลดภาษี ซึ่งไม่ได้รับความไว้วางใจจากพวกนักลงทุน อีกทั้งสร้างความโกรธเกรี้ยวให้แก่เหล่าสมาชิกในพรรคคอนเซอร์เวทีฟของเธอ
ขณะออกมาพูดที่ด้านนอกของทำเนียบนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร เลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง ในใจกลางกรุงลอนดอน ทรัสส์ยอมรับว่าเธอได้สูญเสียความศรัทธาของพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่มีต่อตัวเธอ และบอกว่าเธอจะก้าวลงจากตำแหน่งในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะทำให้เธอกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งเป็นเวลาสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร
ทรัสส์ ผู้ซึ่งเพิ่งกล่าวเมื่อวันพุธ (19) ที่ผ่านมานี้เองว่า เธอเป็น “นักสู้ไม่ใช่นักยอมจำนน” บอกกับพวกนักหนังสือพิมพ์จำนวนมากที่มารอทำข่าวว่า เธอตระหนักถึงความเป็นจริงที่ว่า เธอไม่สามารถอีกต่อไปแล้วที่จะทำตามคำมั่นสัญญาต่างๆ ซึ่งทำให้เธอชนะในการคัดเลือกผู้นำพรรคคอนเซอร์เวทีฟ และขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
“ด้วยเหตุนี้ ดิฉันจึงได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วว่า ดิฉันกำลังจะลาออกจากการเป็นผู้นำของพรรคคอนเซอร์เวทีฟ” ทรัสส์กล่าว โดยที่มีเพียงสามีของเธอเท่านั้นที่ยืนใกล้ๆ คอยให้กำลังใจ ขณะที่พวกผู้ช่วยตลอดจนรัฐมนตรีที่ภักดีต่อเธอต่างหายหน้าหายตา
เธอบอกว่า จะยังคงอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปจนกว่าจะมีการเลือกคนที่จะเป็นผู้นำของพรรคคอนเซอร์เวทีฟคนใหม่
“พวกเราตกลงกันว่าจะมีการเลือกตั้งผู้นำซึ่งจะเสร็จสิ้นภายในสัปดาห์หน้า” เธอบอก “นี่จะทำให้แน่ใจได้ว่า เรายังคงอยุ่บนเส้นทางที่จะกระทำตามแผนการด้านการคลังของเรา และรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจตลอดจนความมั่นคงแห่งชาติของประเทศเราเอาไว้”
ทางด้าน ส.ส.เกรแฮม เบรดี ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกอาวุโสทรงอิทธิพลของพรรคคอนเซอร์วเทีฟ ออกมาบอกแก่พวกผู้สื่อข่าวโดยไม่ได้แจกแจงรายละเอียดว่า ทางพรรคจะได้ผู้นำคนใหม่ภายในวันศุกร์สัปดาห์หน้า (28 ต.ค.) ก่อนหน้า เจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีคลังคนใหม่ จะแถลงร่างงบประมาณที่ทรงความสำคัญยิ่งในวันที่ 31 ตุลาคม
คำแถลงของ เบรดี บ่งชี้ว่าพรรคอาจจะมีการตกลงกันวิธีการในการทำให้กระบวนการเลือกผู้นำคนใหม่กระชับขึ้น
สำหรับตัวเก็งที่คาดหมายกันว่าจะลงชิงชัยเป็นผู้นำพรรคคอนเซอร์เวทีฟในคราวนี้ น่าจะได้แก่ผู้ที่พ่ายแพ้แก่ ทรัสส์ ในกระบวนการเลือกสรรคราวก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อดีตรัฐมนตรีคลัง ริชิ ซูนัก และอดีตรัฐมนตรีกลาโหม เพนนี มอร์เดาต์
สำหรับ เจเรมี ฮันต์ ผู้ที่ทรัสส์ดึงเข้ามาเป็นขุนคลังคนใหม่ ได้ปฏิเสธว่าเขาจะไม่ลงแข่งขัน
ผลสำรวจหยั่งเสียงที่ทำกันก่อนหน้านี้ในสัปดาห์นี้ แสดงให้เห็นว่า สมาชิกส่วนใหญ่ของพรรคคอนเซอร์เวทีฟต้องการให้ บอริส จอห์นสัน ผู้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปเมื่อเดือนกรกฎาคม กลับมาอีกคำรบหนึ่ง
ขณะที่พวกบริษัทพนันถูกกฎหมายให้แต้มต่อรองที่ถือว่า ซูนัก เป็นตัวเก็ง นำหน้าทั้ง มอร์เดาต์ และจอห์นสัน
ถึงแม้พรรคเลเบอร์ฝ่ายค้าน ซึ่งผลโพลชี้ว่ากำลังมีคะแนนดีวันดีคืนและทิ้งห่างพรรคคอนเซอร์เวทีฟ เรียกร้องให้ยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งระดับชาติกันใหม่ดีกว่า แต่คาดได้ว่าพรรครัฐบาลจะพยายามยื้อเกมจนถึงที่สุด โดยที่ตามวาระแล้ว สหราชอาณาจักรจะต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่กันในอีก 2 ปีข้างหน้า
ทรัสส์ ซึ่งชนะได้เป็นผู้นำพรรคคอนเซอร์เวทีฟ และได้รับแต่งตั้งนั่งตำแหน่งนายกฯ ในวันที่ 6 กันยายน ถูกบังคับให้ต้องปลดรัฐมนตรีคลังและพันธมิตรทางการเมืองผู้ใกล้ชิดที่สุดของเธอ ควาซี ควาร์เตง รวมทั้งโยนทิ้งโครงการทางเศรษฐกิจแทบทั้งหมดที่เธอคิดขึ้นมากับควาร์เตง หลังจากแผนการเหล่านี้ซึ่งเรียกร้องให้ลดภาษีอย่างขนาดใหญ่ โดยที่ต้องใช้วิธีหาเงินกู้มาจุนเจือสนับสนุน กลับส่งผลทำให้ค่าเงินปอนด์และพันธบัตรรัฐบาลสหราชอาณาจักรตกฮวบฮาบ เรตติ้งความยอมรับผลงานของเธอและพรรคคอนเซอร์เวทีฟก็ดิ่งเหว
เมื่อวันพุธ รัฐมนตรีมหาดไทย ซูเอลลา บราเวอร์แมน กลายเป็นรัฐมนตรีระดับอาวุโสคนที่ 2 ในคณะรัฐบาลของทรัสส์ที่อำลาตำแหน่ง และถึงแม้การลาออกข้อเธอเกิดจากข้อครหาที่ว่าเธอใช้อีเมลส่วนตัวส่งหนังสือราชการ ทว่าก็แฝงไปด้วยถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์ตัวนายกฯ เองด้วย
“ดิฉันทำผิดพลาด ดิฉันขอแสดงความรับผิดชอบ ดิฉันขอลาออก” เธอระบุในจดหมายสละตำแหน่ง แต่ขณะเดียวกัน ก็หย่อนระเบิดลูกใหญ่เอาไว้ให้นายกฯ ด้วยการบอกว่า “การที่รัฐบาลแสร้งว่าพวกเราไม่ได้ทำผิดพลาด และยังคงเดินหน้าต่อไปราวกับว่าไม่มีใครเห็น และหวังว่าทุกสิ่งจะกลับไปอยู่ในที่ที่ถูกที่ควรอย่างปาฏิหาริย์นั้น ไม่ใช่การเมืองที่จริงจัง”
ทรัสส์ พยายามแก้เกมด้วยการแต่งตั้ง แกรนต์ แชปส์ สมาชิกอาวุโสของพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ขึ้นเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยแทนที่ ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่น่าจับตามองไม่น้อย เนื่องจาก แชปส์ อยู่ในกลุ่มผู้สนับสนุน “ริชี ซูนัก” คู่แข่งของ ทรัสส์ ในศึกเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ และทรัสส์เพิ่งไล่แชปส์ออกจากเก้าอี้รัฐมนตรีคมนาคมเมื่อตอนที่เธอขึ้นมาเป็นนายกฯ ต่อจาก จอห์นสัน ในวันที่ 6 กันยายน
ระหว่างการประชุมสภาสามัญชนเมื่อวันพุธ ปรากฏว่า ส.ส.พรรครัฐบาลจำนวนมากพากันตีรวนนายกฯ ขณะเดียวกัน เธอก็ถูกบรรดา ส.ส.ฝ่ายค้านรุมโห่ไล่ระหว่างการตอบคำถามในสภาครั้งแรกนับตั้งแต่เธอยอมกลับลำแผนหั่นภาษีและกู้เงินเพื่อความอยู่รอดของรัฐบาล
เคียร์ สตาร์เมอร์ ผู้นำพรรคเลเบอร์ ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก ตั้งคำถามในสภาสามัญชนเมื่อวันพุธว่า เธอจะเป็นนายกฯ ต่อไปได้อย่างไร ในเมื่อไม่สามารถรักษาคำมั่นสัญญาในเรื่องนโยบายตัดลดภาษีของเธอเอาไว้ได้แม้เพียงแค่สัปดาห์เดียว
สตาร์เมอร์ยังล้อเลียนเยาะเย้ยทรัสต์ ด้วยการนำบรรดา ส.ส. ในพรรคของเขาร้องตะโกนคำว่า “เลิกไปแล้ว เลิกไปแล้ว” ขณะที่เขาอ่านรายการนโยบายต่างๆ ที่เธอต้องยอมทิ้งไป
“แล้วทำไมเธอถึงยังไม่ไป ยังอยู่ตรงนี้ล่ะ” เขาสรุป
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)