ผู้เชี่ยวชาญของอินโดนีเซียเร่งตรวจสอบหาสาเหตุ หลังพบเด็กเสียชีวิตจากภาวะ “ไตวายเฉียบพลัน” แล้วเกือบ 100 คนในปีนี้
ยอดเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดหูผิดตาในอินโดนีเซียมีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลแกมเบียได้ประกาศเปิดการสอบสวนกรณีเด็ก 70 คนไตวายเสียชีวิต หลังรับประทานยาน้ำเชื่อมพาราเซตามอลที่ผลิตในอินเดีย ซึ่งมีสารไดเอทิลีนไกลคอล (diethylene glycol) และเอทิลีนไกลคอล (ethylene glycol) ซึ่งเป็นวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหารในปริมาณที่สูงเกินขนาด
เจ้าหน้าที่สำนักงานอาหารและยาแห่งอินโดนีเซียยืนยันว่า ยาน้ำเชื่อมยี่ห้อดังกล่าวไม่ได้มีวางจำหน่ายในอินโดนีเซีย และสารทั้ง 2 ชนิดก็ถูกห้ามใช้ผสมในยาน้ำเชื่อมสำหรับเด็กที่ขายในอินโดนีเซียด้วย
โมฮัมหมัด ชาห์ริล โฆษกกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย แถลงวันนี้ (19 ต.ค.) ว่า จนถึงวันที่ 18 ต.ค. ทางการอิเหนาได้รับแจ้งว่ามีเด็กเกิดอาการไตวายเฉียบพลันทั้งหมด 208 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้ว 99 ราย
“เพื่อป้องกันไว้ก่อน กระทรวงได้มีคำสั่งให้บุคลากรด้านสาธารณสุขในสถานพยาบาลทุกแห่งงดจ่ายยาน้ำเชื่อมชั่วคราว จนกว่าการสอบสวนจะแล้วเสร็จ” โฆษกกระทรวงระบุ พร้อมเผยว่าเด็กๆ ที่ป่วย 65% รักษาตัวอยู่ในกรุงจาการ์ตา
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้สั่งซื้อตัวยาพิเศษที่ใช้รักษาอาการไตวายเฉียบพลันโดยเฉพาะ เพื่อนำมาช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านี้ และได้มีจดหมายไปยังโรงพยาบาลให้เก็บตัวอย่างยาทุกชนิดที่ผู้ปกครองให้เด็กๆ ที่ป่วยรับประทาน เพื่อนำไปตรวจสอบหาสารพิษ
รัฐบาลอิเหนาได้ตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อสอบสวนหาต้นตอของอาการไตวายเฉียบพลันในเด็กจำนวนมาก โดยมีทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กุมารแพทย์ และผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมถึงประสานขอข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญของ WHO ที่กำลังตรวจสอบเคสเด็กป่วยในแกมเบียด้วย
ที่มา : รอยเตอร์