กรมการแพทย์ย้ำไม่ต้องตรวจ ATK ทุกวัน หากผลบวกรักษาตามอาการ ไม่มีอาการหรืออาการน้อย อาจกินยาตามอาการ แนะแยกตัวเอง 5 วัน หากจำเป็นต้องไปทำงานให้สวมหน้ากาก 2 ชั้น ยึด DMH 100% แต่หากมีอาการไอมาก ไอถี่ หรือน้ำมูกเยอะให้หยุดงานทันที พร้อมเผย 5 อาการรุนแรงที่ต้องไปพบแพทย์ ย้ำฉีดวัคซีน 4 เข็มช่วยลดรุนแรง แทบไม่ต้องกินยา
เมื่อวันที่ 5 ต.ค. นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวติดโควิด 19 แนวทางการรักษาทุกกลุ่มวัย ว่า ขณะนี้โรคโควิด 19 มีความรุนแรงลดลง จำนวนผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตก็ลดลง โดยวันนี้ผู้เสียชีวิตไม่ถึงสิบราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังเป็นสูงอายุ มีโรคประจำตัว มากกว่าครึ่งไม่ได้รับวัคซีนหรือรับวัคซีนไม่ครบตามกำหนด ซึ่งขณะนี้ต้องรับวัคซีนอย่างน้อย 4 เข็ม ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงจากการติดเชื้อลง แทบไม่ต้องรับประทานยา ดังนั้น ผู้ที่ยังรับวัคซีนไม่ครบขอให้ไปรับวัคซีนให้ครบตามกำหนด สำหรับการตรวจ ATK ยืนยันว่า ไม่ต้องตรวจทุกวัน แม้จะเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ก็ให้ตรวจเมื่อมีอาการ เช่น ครั่นเนื้อครั่นตัว ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวก ให้พิจารณาอาการของตัวเอง ดังนี้ หากไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย เช่น เจ็บคอเล็กน้อย ไม่มีไอ มีน้ำมูก หรือไข้ต่ำๆ อาจไม่ต้องรับประทานยาอะไรเลยคล้ายไข้หวัด หรืออาจรับประทานยารักษาตามอาการ เช่น มีไข้รับประทานยาพาราเซตามอล หรือยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอลดเสมหะ ดื่มน้ำอุ่น พักผ่อนเยอะๆ แล้วสังเกตอาการตนเอง ส่วนคำถามว่าจะต้องอยู่บ้านตลอดเวลาหรือไม่ แม้จะไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ก็แนะนำควรกักตัวเองหรือแยกตัวเองออก หากมีความจำเป็นต้องออกไปสู่สังคม หรือไปทำงาน ขอให้ยึด DMH 100% คือ ใส่หน้ากากอนามัย 100% ใส่สองชั้น ล้างมือบ่อยๆ ไม่ควรใกล้ชิดผู้อื่น
"หากมีอาการไอมาก ไอบ่อย ไอถี่ หรือมีน้ำมูกเยอะๆ ต้องสั่งน้ำมูกออกบ่อยๆ อย่าออกไปทำงาน อย่าเพิ่งเดินทาง เพราะการไอมีโอกาสกระจายเชื้อออกไปได้มาก คนอื่นไปแตะจับก็อาจติดเชื้อได้ ขอให้หยุดงานอย่าเดินทาง 5 วัน" นพ.ธงชัยกล่าว
นพ.ธงชัยกล่าวว่า กรณีติดเชื้อแล้วเริ่มมีอาการรุนแรงมากขึ้นให้ไปพบแพทย์ โดยอาการรุนแรงที่ควรพบแพทย์ คือ 1.มีไข้สูงลอยตั้งแต่ 39 องศาเซลเซียสขึ้นไป อย่างน้อย 2 คัร้ง ห่างกัน 4 ชั่วโมงใน 1 วัน 2.วัดความอิ่มตัวออกซิเจนพบว่าต่ำกว่า 94% 3.มีภาวะแทรกซ้อนหรือการกำเริบของโรคประจำตัวเดิมที่ยังควบคุมไม่ได้ 4.เป็นผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรง 5.มีภาวะอื่นๆ ที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาใน รพ. และ 6.ผู้ป่วยเด็กให้รักษาใน รพ.เมื่อมีข้อบ่งชี้ เช่น ต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หรือให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ หรือต้องการออกซิเจน เช่น เด็กที่มีอาการซึม กินได้น้อย มีภาวะขาดน้ำจากอุจจาระร่วงหรือชักจากไข้สูง ฯลฯ โดย ไอมากขึ้น เจ็บหน่าอก ไข้สูงลอยเกิน 39 รุนแรงมากขึ้นอาจต้องไปพบแพทย์ให้แพทย์ประเมินว่าให้ยาหรือไม่ หรือต้องนอน รพ. ส่วนกรณีตรวจเป็นลบ ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ อาจจะสวมหน้ากากอนามัยป้องกันตนเอง 2-3 วัน ถ้าไม่มีอาการก็ไม่ต้องตรวจ ATK เพิ่ม โดยให้ตรวจเมื่อมีอาการ
นพ.ธงชัยกล่าวว่า แนวทางการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 หากไม่มีอาการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ไม่ให้ยาต้านไวรัส ปฏิบัติตาม DMH อย่างเคร่งครัด 5 วัน , กรณีมีอาการเล็กน้อย หรือเอกซเรย์ปอดปกติ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงหรือโรคร่วมที่สำคัญ รักษาแบบผู้ป่วยนอก อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรหรือฟาวิพิราเวียร์ ตามดุลยพินิจของแพทย์ ปฏิบัติตาม DMH เคร่งครัด 5 วัน , หากมีปัจจัยเสี่ยงหรือโรคร่วมสำคัญ อาจมีอาการปอดอักเสบเล็กน้อย หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง พิจารณาตามดุลยพินิจแพทย์ในการให้ยาตัวใดตัวหนึ่ง คือ แพกซ์โลวิด/เรมดิซิเวียร์/โมลนูพิราเวียร์ และหากมีปอดอักเสบต้องให้ออกซิเจนหรือออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% ให้รักษาแบบผู้ป่วยในให้ยาเรมดิซิเวียร์ ส่วนกรณีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีและหญิงตั้งครรภ์ หากไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส หากมีปัจจัยเสี่ยงพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์หรือเรมดิซิเวียร์ แต่หากมีปอดอักเสบให้ใช้ยาเรมดิซิเวียร์
"สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ติดเชื้อ แนะนำว่ายังจำเป็นต้องพกหน้ากาก เจลล้างมือ ส่วนการใส่หน้ากากให้ประเมินพิจารณาความเสี่ยงตามความเหมาะสม" นพ.ธงชัยกล่าวและว่า สำหรับใบรับรองแพทย์เพื่อหยุดงานหรือเคลมประกัน แพทย์จะออกใบรับรองแพทย์สำหรับ 5 วัน ส่วนกรณีเป็นผู้ป่วยในขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งอาจจะรักษานานกว่า 5 วัน แพทย์ก็จะออกใบรับรองแพทย์ตามระยะเวลาที่รักษา