นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 คณะอนุกรรมการพิจารณาการขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์ที่เป็นวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้มีมติเห็นชอบการขยายขอบเขตข้อบ่งใช้ของวัคซีนโคเมอร์เนตี (COMIRNATY VACCINE) ของบริษัท ไฟเซอร์ จำกัด สำหรับกลุ่มเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 4 ปี ขวดฝาจุกสีแดง (Maroon cap) เพื่อป้องกันโรคโควิด-19
จากนั้น คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคได้มีคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 4 ปี และที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 12/2565 วันที่ 23 กันยายน 2565 มีมติเห็นชอบการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 4 ปี โดยมีกำหนดการให้วัคซีนที่สอดคล้องกับคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ดังนี้
1. ให้วัคซีนโควิด 19 ในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 4 ปี (วัคซีนไฟเซอร์ฝาสีแดง ต้องผสมก่อนฉีดตามเอกสารกำกับยา)
2. ขนาดวัคซีนโดสละ 0.2 มิลลิลิตร (3 ไมโครกรัม) โดยให้จำนวน 3 เข็ม ฉีดเข้ากล้าม โดยเว้นระยะห่างระหว่างเข็มแรกและเข็มที่สอง 4 สัปดาห์ และเข็มที่สองและสามอย่างน้อย 8 สัปดาห์
3. การให้วัคซีนโควิด-19 สามารถให้พร้อมกับวัคซีนอื่นๆ ในวันเดียวกันได้หรือห่างกันเท่าใดก็ได้
กรณีเด็กที่มีประวัติติดเชื้อโควิด-19 ให้เว้นระยะห่าง 3 เดือน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ จำนวน 3 เข็ม (สัปดาห์ที่ 0, 4, 12) ซึ่งไม่ต้องตรวจการติดเชื้อก่อนการรับวัคซีน
กรณีเด็กมีอายุครบ 5 ปี เมื่อถึงกำหนดรับวัคซีนเข็มถัดไป ให้ฉีดวัคซีนฝาสีส้ม จนครบ 3 เข็ม โดยมีระยะห่างตามเดิม (สัปดาห์ที่ 0, 4, 12)
แนะนำให้เด็กทุกคนควรเข้ารับวัคซีน โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรงหรือเสียชีวิต ทั้งนี้การเข้ารับวัคซีนเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครองและเด็ก โดยการรับวัคซีนไม่เป็นเงื่อนไขในการไปโรงเรียน
นายแพทย์ธเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการบริหารจัดการวัคซีนจะดำเนินการผ่านระบบสถานพยาบาล หรืออาจพิจารณาให้วัคซีนในศูนย์เด็กเล็กภายใต้กำกับของแพทย์ หรือตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานครเห็นสมควร กำหนดให้เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 4 ปี ในวันที่ 12 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป หรือเริ่มฉีดวัคซีนได้เมื่อมีความพร้อม หรือตามบริบทของ แต่ละพื้นที่
นอกจากนี้ ในระยะที่ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แต่ยังคงมีมาตรการที่สำคัญ โดยเน้นมาตรการทางสังคมที่สมดุลกับชีวิต วิถีใหม่ สวมหน้ากากอนามัยในสถานที่เสี่ยง ล้างมือ เว้นระยะห่าง และการจัดการสภาวะแวดล้อมที่เสี่ยงให้มีการระบายอากาศที่ดี และส่งเสริมมาตรการการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ พร้อมตรวจ ATK เมื่อมีอาการป่วย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422