นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้มีโอกาสพบโรคติดต่อได้หลายโรค หนึ่งในนั้นคือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส (Respiratory Syncytial Virus : RSV) โดยข้อมูลการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัส RSV ในผู้ป่วยกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (ILI) และกลุ่มอาการปอดบวมจากโรงพยาบาลเครือข่ายของกรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 ก.ย. 2565 มีการส่งตรวจตัวอย่างทั้งหมดจำนวน 3,235 ตัวอย่าง พบเป็นตัวอย่างติดเชื้อ RSV จำนวน 523 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 16.17 โดยพบมากที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ร้อยละ 52.20 รองลงมากลุ่มอายุ 3-5 ปี ร้อยละ 34.03 และกลุ่มอายุ 6-15 ปี ร้อยละ 9.37 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 2.10
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ ระบาดหนักในช่วงฤดูฝนถึงฤดูหนาว มีอาการคล้ายกับไข้หวัด แต่ก่อความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ติดต่อโดยตรงผ่านสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย ผู้ติดเชื้ออาจจะมีอาการเล็กน้อยเหมือนไข้หวัด ได้แก่ มีน้ำมูก เจ็บคอ หรือบางรายมีอาการรุนแรง ได้แก่ หายใจเร็ว หายใจลำบาก หรือหายใจมีเสียงหวีด หอบเหนื่อยเนื่องจากปอดอักเสบ รับประทานอาหารได้น้อย ซึมลง ซึ่งโรคติดเชื้อไวรัส RSV พบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่อาการจะรุนแรงในเด็กเล็ก เด็กที่คลอดก่อนกำหนด ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ หรือผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำหรือบกพร่อง
ขณะที่นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสนั้น ขอให้ผู้ปกครองหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลาน และเน้นย้ำให้บุตรหลานล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ ไม่ควรใช้มือที่ไม่สะอาดมาสัมผัสบริเวณใบหน้า ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกัน พร้อมทั้งทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้เป็นประจำ แยกเด็กป่วยและผู้ใหญ่ที่ป่วยออกจากคนปกติ ไม่ให้คลุกคลีกัน เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กและผู้สูงอายุเมื่อติดเชื้อจะมีการรุนแรงกว่าคนทั่วไป หากมีอาการป่วยควรหยุดพัก และสวมใส่หน้ากากอนามัย ปิดปาก และจมูกเมื่อไอ หรือจาม ควรดื่มน้ำมากๆ เพราะช่วยทำให้สารคัดหลั่ง เช่น เสมหะหรือน้ำมูก ไม่เหนียวจนเกินไป อาการจะดีขึ้นหลังได้รับการรักษาเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์
หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น เช่น หอบเหนื่อย หายใจเร็ว หรือมีเสียงหวีด ในเด็กอาจพบอาการตัวเขียว ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงขั้น เสียชีวิตได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422