บรรดารัฐบาลตะวันตกกำลังร่างแผนหลีกเลี่ยงความตื่นตระหนกในหมู่พลเรือนของพวกเขา หากมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในยูเครน ตามรายงานของสื่อมวลชนสหราชอาณาจักร 2 แห่งเมื่อช่วงปลายสัปดาห์
คำกล่าวอ้างเกี่ยวกับการเตรียมการดังกล่าว มีขึ้นในขณะที่บรรดาเจ้าหน้าที่นาโต้โหมกระพือแรงคาดเดาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ ออกคำเตือนซ้ำๆ ว่ามอสโก "เสี่ยงเผชิญผลสนองรุนแรง" หากใช้อาวุธนิวเคลียร์ในความขัดแย้งกับยูเครน
เมื่อถูกสอบถามเกี่ยวกับทางเลือกต่างๆ และแผนจัดการภาวะวิกฤตรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นตามหลังการจุดชนวนระเบิดนิวเคลียร์ในยุโรปตะวันตก เจ้าหน้าที่ตะวันตกรายหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนามยืนยันว่า อยู่ระหว่างการร่างแผนดังกล่าว ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอไทม์ส และเดอะการ์เดียน
"ดังที่คุณคาดหมาย รัฐบาลกำลังวางแผนอย่างรอบคอบสำหรับสถานการณ์ความเป็นไปได้ต่างๆ ซึ่งมันคือหนึ่งในนั้น" เจ้าหน้าที่บอกกับผู้สื่อข่าวในวันศุกร์ (14 ต.ค) อ้างถึงการโจมตีทางนิวเคลียร์
แม้เจ้าหน้าที่รายนี้ให้รายละเอียดเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับทางเลือกต่างๆ เหล่านั้น แต่รายงานของหนังสือพิมพ์ทั้ง 2 ฉบับคาดเดาว่าอาจมีการแจกใบปลิวแจ้งกับพลเมือง "เกี่ยวกับแนวทางอยู่รอดจากการโจมตีทางนิวเคลียร์ หรือหลีกเลี่ยงซื้อข้าวของกักตุนด้วยความตื่นตระหนก"
หนังสือพิมพ์ของสหราชอาณาจักรให้คำจำกัดความสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็น "สงครามน้ำลายนิวเคลียร์" ระหว่างรัสเซียและตะวันตกที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนที่แล้ว หลังจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ประกาศกร้าวว่ามอสโกจะใช้ทุกวิถีทางที่มีปกป้อง หากบูรณภาพแห่งดินแดนของรัสเซียถูกคุกคาม คำแถลงที่ทางสหรัฐฯ และพันธมิตรตีความว่าเป็น "คำขู่แบบอ้อมๆ" สำหรับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในความขัดแย้งในยูเครน
เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิกานาโต้เตือนในวันพุธ (12 ต.ค.) "ปูตินรู้ดีว่าหากเขาใช้อาวุธนิวเคลียร์ในยูเครน มันจะมีผลสนองร้ายแรงสำหรับรัสเซีย"
ส่วน เบน วอลเลซ รัฐมนตรีกลาโหมสหราชอาณาจักร กล่าวเตือนแบบเดียวกันหนึ่งวันหลังจากนั้น ว่า "หากว่ารัสเซียใช้อาวุธนิวเคลียร์ มันจะมีผลสนองรุนแรง" ส่วน โจเซฟ บอร์เรล หัวหน้านโยบายต่างประเทศของอียู บอกว่า การโจมตีทางนิวเคลียร์ใดๆ ต่อยูเครน จะกระตุ้นคำตอบอันทรงพลังจากตะวันตก ซึ่งจะเห็นกองทัพรัสเซีย "ถูกทำลายล้าง" แต่ยอมรับว่านิวเคลียร์ไม่ใช่คำตอบนั้น
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เตือนว่าความขัดแย้งในยูเครน อาจนำมาซึ่ง "วันสิ้นโลก" ระหว่างงานระดมทุนสนับสนุนพรรคเดโมแครตเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พร้อมระบุว่าความตึงเครียดทางนิวเคลียร์อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงพีกสุดของสงครามเย็นระหว่างทศวรรษ 1960
ความเห็นของไบเดน โหมกระพือความกังวลแก่ชาวสหรัฐฯ แต่ทำเนียบขาว และเพตากอนรุดออกมาชี้แจงอย่างรวดเร็ว โดยยืนยันว่าไม่มีข้อมูลข่าวกรองหรือข้อบ่งชี้ใดๆ ว่าปูตินได้ตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ในยูเครนแล้ว หรือดำเนินการใดๆ ที่ขยับเข้าใกล้การตัดสินใจดังกล่าว
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์/เดอะไทม์ส/เดอะการ์เดียน)