xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : รัสเซียอ้าง ‘ประชามติ’ ผนวก 4 แคว้นยูเครน ตะวันตกซัด “จอมปลอม-ยอมรับไม่ได้”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชาวรัสเซียจำนวนมากออกมาชุมนุมสนับสนุนการทำประชามติผนวก 4 แคว้นยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อวันที่ 23 ก.ย.
ฝ่ายบริหารที่รัสเซียตั้งขึ้นเพื่อดูแล 4 เขตยึดครองในยูเครนประกาศ "ชัยชนะ" ในการทำประชามติผนวกดินแดนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียเมื่อวันอังคาร (27 ก.ย.) ท่ามกลางเสียงประณามจากชาติตะวันตกที่ยืนกรานไม่ยอมรับ "ประชามติจอมปลอม" นี้ ขณะที่มอสโกเตือนอาจใช้ “อาวุธนิวเคลียร์” ปกป้องดินแดนที่พวกเขาถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียเรียบร้อยแล้ว

ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน หลังจากที่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ได้สั่งเรียกระดมพลบางส่วน (partial mobilization) เพื่อระดมทหารกองหนุนราว 300,000 นายเข้าประจำการในภารกิจ “ปกป้องมาตุภูมิ” และทำให้สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อมานานกว่า 7 เดือนส่อแววจะตึงเครียดหนักขึ้นไปอีก

ฝ่ายบริหารโปรรัสเซียในแคว้นซาปอริซเซีย (Zaporizhzhia) ประกาศว่า ผู้ใช้สิทธิลงประชามติ 93.11% เลือกที่จะผนวกดินแดนรวมกับรัสเซีย ส่วนที่แคว้นเคียร์ซอนทางตอนใต้ รวมถึงแคว้นลูฮันสก์และโดเนตสก์ทางตะวันออก มีผู้โหวตสนับสนุนการเข้าร่วมกับรัสเซียมากกว่า 87.05%, 98.42% และ 99.23% ตามลำดับ

"การปกป้องประชาชนในดินแดนที่มีการทำประชามติ คือสิ่งที่สังคมรัสเซียและประเทศรัสเซียโดยรวมให้ความสำคัญอย่างยิ่ง" ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน กล่าวระหว่างประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐบาล ขณะที่ ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกของปูติน ก็ออกมาย้ำเตือนเป็นนัยๆ ว่า ประชามติครั้งนี้ย่อมส่งผลในทางกฎหมายอย่างชัดเจน และมีผลต่อปฏิบัติการรักษาความมั่นคงของรัสเซียด้วย

การผนวกแคว้นซาปอริซเซีย, เคียร์ซอน, ลูฮันสก์ และโดเนตสก์ ซึ่งมีพื้นที่รวมกันราวๆ 15% ของยูเครน จะช่วยให้รัสเซียมีช่องทางบกที่สามารถเชื่อมต่อโดยตรงไปถึง “แหลมไครเมีย” ซึ่งมอสโกช่วงชิงมาจากยูเครนและประกาศผนวกเข้าเป็นดินแดนของตนเองเมื่อปี 2014

ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนออกมาตอบโต้รัสเซียในวันอังคาร (27 ก.ย.) โดยประกาศกร้าวว่า เคียฟจะปกป้องพลเรือนยูเครนที่อาศัยอยู่ในเขตยึดครองของรัสเซีย และจะไม่มีทางยอมรับผลประชามติที่เขาชี้ว่าเป็นแค่ "ละครตลก" (farce)

ผู้นำยูเครนยังปิดประตูตายสำหรับการเจรจานับจากนี้ โดยบอกว่าเขา "ไม่มีอะไรจะคุยกับประธานาธิบดีรัสเซียคนปัจจุบัน" อีกต่อไป

ผู้สังเกตการณ์เชื่อว่า ความปราชัยของทหารรัสเซียทั้งในพื้นที่ทางตะวันออกและใต้ของยูเครนมีส่วนทำให้ ปูติน ตัดสินใจเดินเกมเร็วด้วยการจัดประชามติแยกดินแดน เพื่อให้รัสเซียสามารถอ้างเหตุอันชอบธรรมในการที่จะยึด 4 แคว้นไปจากยูเครนอย่างสมบูรณ์


ปูติน ย้ำว่ารัฐบาลของเขาจะ “ทำทุกวิถีทาง” เพื่อปกป้องดินแดนทั้งหมดของสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งถือเป็นการข่มขู่กลายๆ ว่ารัสเซียอาจใช้ “อาวุธนิวเคลียร์” ยับยั้งความพยายามของเคียฟที่จะทวงดินแดนคืน ในขณะที่ ดมิตรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซีย ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ก็โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดียเมื่อวันอังคาร (27) ว่า “ผมขอย้ำเตือนพวกคุณซึ่งเป็นดั่งคนหูหนวกที่ไม่ได้ยินอะไรนอกจากตัวเอง : รัสเซียมีสิทธิที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์หากจำเป็น”

แพทริก ไรเดอร์ โฆษกเพนตากอน ยืนยันว่า สหรัฐฯ มองคำขู่นิวเคลียร์ของรัสเซียเป็นเรื่อง “จริงจัง” ทว่ายังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับจุดยืนด้านนิวเคลียร์ของอเมริกาในเวลานี้ ส่วน เยน สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ก็ออกมาเตือนว่า “รัสเซียควรทราบไว้ด้วยว่าในสงครามนิวเคลียร์นั้นไม่มีผู้ชนะ และมันจะต้องไม่เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด”

โจเซฟ บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) โพสต์ทวิตเตอร์ระบุว่า “นี่เป็นอีกครั้งที่อธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนถูกล่วงละเมิด นอกเหนือไปจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ” ขณะที่ ชาร์ลส มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป ก็ประณาม “การทำประชามติจอมปลอม ผลลัพธ์ที่จอมปลอม เราไม่ขอยอมรับทั้ง 2 อย่าง”

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันว่าโลกตะวันตกไม่มีทางยอมรับการผนวกดินแดนครั้งนี้ และเตือนมอสโกว่า “อุบายอันร้ายกาจ” (diabolical scheme) ของพวกเขาจะต้องเผชิญ “การตอบโต้อย่างฉับพลัน อันนำมาซึ่งความสูญเสียร้ายแรง”

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันว่าวอชิงตันจะกำหนดบทลงโทษทางเศรษฐกิจเล่นงานมอสโกเพิ่มเติมในอีกไม่กี่วันนี้ ขณะที่พวกผู้บริหารของอียูก็เสนอคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติมเช่นกัน ทว่ารัฐสมาชิกทั้ง 27 ประเทศก็จำเป็นต้องก้าวผ่านความเห็นต่างกันให้ได้เสียก่อน


โรสแมรี ดิคาร์โล รองเลขาธิการฝ่ายกิจการการเมืองและการสร้างสันติภาพ บอกต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นว่า สหประชาชาติยังคงมีพันธสัญญาอย่างเต็มเปี่ยมต่อบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน “ภายในอาณาเขตของพวกเขาที่ได้รับการรับรองจากนานาชาติ" ขณะที่ ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น ก็ระบุว่าวอชิงตันเตรียมที่จะเสนอญัตติเรียกร้องให้รัฐสมาชิกยูเอ็น “ปฏิเสธความพยายามเปลี่ยนแปลงสถานะของยูเครน และบังคับให้รัสเซียต้องถอนทหารออกจากดินแดนของยูเครน”

อย่างไรก็ตาม การที่คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นจะบรรลุซึ่ง “ฉันทมติ” เกี่ยวกับแผนผนวกดินแดนของรัสเซียนั้น ไม่มีโอกาสเป็นไปได้เลย

วาสซิลีย์ เนเบนเซีย เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำยูเอ็น ประกาศชัดว่ารัสเซียซึ่งเป็น 1 ใน 5 สมาชิกถาวรจะใช้สิทธิ “วีโต” ญัตติของสหรัฐฯ อย่างแน่นอน พร้อมทั้งวิจารณ์พวกผู้แทนตะวันตกว่ากำลังแสดง “พฤติกรรมโวยวายเอาแต่ใจ”

“ประชามติครั้งนี้ถูกจัดทำอย่างโปร่งใส และเป็นไปตามข้อบังคับพื้นฐานของการเลือกตั้งทุกประการ” เนเบนเซีย กล่าว พร้อมชี้ว่าโลกตะวันตกมีเจตนา “บ่อนทำลายรัสเซียให้อ่อนแอและสูญเสียมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

ผู้สังเกตการณ์ชี้ว่า การจัดประชามติครั้งนี้มีรูปแบบคล้ายกับเมื่อตอนที่รัสเซียยึดแหลมไครเมีย และผลลัพธ์ที่ออกมาก็เรียกได้ว่า “ถูกเขียน” เอาไว้ล่วงหน้า โดยเจ้าหน้าที่จะขนหีบเลือกตั้งไปตามบ้านเรือนเพื่อให้ประชาชนลงคะแนน และบางครั้งก็จะมีทหารติดอาวุธตามไปด้วย

สื่อรัสเซียระบุว่า ในขั้นตอนถัดไปสภาผู้แทนราษฎรรัสเซีย หรือ “สภาดูมา” จะผ่านร่างกฎหมายผนวกดินแดนยูเครนทั้ง 4 เข้ากับรัสเซีย และส่งให้สภาสูงรับรองในลำดับต่อไป

ด้านประธานวุฒิสภารัสเซียได้ออกมาเปรยว่า วุฒิสภาจะพิจารณาร่างกฎหมายผนวก 4 เขตยึดครองในยูเครนในวันที่ 4 ต.ค. หรือ 3 วันก่อนจะถึงวันเกิดครบรอบปีที่ 70 ของ ปูติน ขณะที่บรรดาผู้บริหาร 4 แคว้นยูเครนที่แต่งตั้งโดยรัสเซียก็ได้ยื่นคำร้องอย่างเป็นทางการเพื่อขอให้ ปูติน ผนวกรวมดินแดนเหล่านี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย

“การผนวกดินแดนน่าจะเกิดขึ้นได้ภายใน 1 สัปดาห์” โรดิออน มิโรชนิก เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ประจำกรุงมอสโก ให้สัมภาษณ์กับสื่อ RIA


กำลังโหลดความคิดเห็น