xs
xsm
sm
md
lg

อดีต จนท.ความปลอดภัยไซเบอร์แฉทวิตเตอร์ปล่อยสายลับจีน-อินเดียแฝงตัวทำงานในบริษัท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อดีตหัวหน้าฝ่ายรักษาความปลอดภัยของทวิตเตอร์ ปีเตอร์ “มัดจ์” แซตโก ให้ปากคำต่อรัฐสภาอเมริกันว่า มีสายลับจีนอย่างน้อย 1 คนทำงานอยู่ในบริษัท นอกจากนั้น ทวิตเตอร์ยังปล่อยให้อินเดียส่งสายลับอีกจำนวนหนึ่งเข้าไปทำงานเช่นกัน และทำให้ 2 ประเทศดังกล่าวมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลอ่อนไหวของผู้ใช้

ถ้อยแถลงเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการให้การของ แซตโก ซึ่งเป็นทั้งแฮกเกอร์ชื่อดังและผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมทั้งยังเป็นผู้เปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของทวิตเตอร์ ต่อคณะกรรมาธิการการยุติธรรมของวุฒิสภาสหรัฐฯ เมื่อวันอังคาร (13)

แซตโก แฉว่า ทวิตเตอร์มีปัญหาระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์หละหลวมทำให้เสี่ยงถูกแสวงหาผลประโยชน์จากวัยรุ่น อาชญากร และสายลับ รวมทั้งทำให้ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ตกอยู่ในความเสี่ยง

เขาเสริมว่า พนักงานทวิตเตอร์บางคนกังวลว่า รัฐบาลจีนอาจเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้ของบริษัท

ทั้งนี้ ทวิตเตอร์ถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องการรักษาความปลอดภัยหละหลวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2020 ที่แฮกเกอร์วัยรุ่นเข้าควบคุมบัญชีของผู้ใช้ที่มีชื่อเสียงหลายสิบบัญชี ซึ่งรวมถึงบัญชีของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ

ในการให้ปากคำเมื่อวันอังคาร แซตโกเปิดเผยปัญหาการรักษาความปลอดภัยของทวิตเตอร์ที่ร้ายแรงกว่านั้นเสียอีก ด้วยการกล่าวหาเป็นครั้งแรกว่า ก่อนเขาถูกไล่ออกราว 1 สัปดาห์ เขาได้รับรู้ว่า บริษัทแห่งนี้ได้รับแจ้งจากสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) สหรัฐฯ ว่า มีสายลับจากหน่วยข่าวกรองของกระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐของจีนแฝงตัวทำงานอยู่ในบริษัท

เขายังบอกอีกว่า เคยคุยกับผู้บริหารคนหนึ่งของทวิตเตอร์เรื่องที่มีสายลับต่างชาติแฝงตัว และผู้บริหารคนนั้นตอบว่า “ในเมื่อมีแล้วคนหนึ่ง จะสำคัญอะไรถ้าจะมีเพิ่มอีก”

เขาเสริมว่า ที่ไปให้ปากคำเพราะบรรดาผู้นำในทวิตเตอร์กำลังทำให้สังคม สมาชิกรัฐสภา หน่วยงานกำกับดูแล หรือแม้แต่คณะกรรมการบริหารของบริษัทเองเข้าใจผิด เนื่องจากบรรดาผู้นำเหล่านั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่า บริษัทมีข้อมูลอะไรจัดเก็บอยู่ที่ไหนและมาจากแหล่งใดบ้าง จึงไม่น่าแปลกใจที่พวกเขาไม่สามารถปกป้องข้อมูลเหล่านั้นได้

“ผู้นำในทวิตเตอร์ไม่สนใจฟังวิศวกร และให้ความสำคัญกับกำไรมากกว่าการรักษาความปลอดภัย”

ด้านทวิตเตอร์ออกคำแถลงตอบโต้ว่า กระบวนการว่าจ้างพนักงานของบริษัทไม่ได้อยู่ภายใต้การครอบงำของต่างชาติ และช่องทางเข้าถึงข้อมูลได้รับการจัดการด้วยมาตรการมากมาย เช่น การตรวจสอบภูมิหลัง การควบคุมการเข้าถึง และระบบติดตามและตรวจสอบ

แซตโกเป็นหัวหน้าฝ่ายรักษาความปลอดภัยของทวิตเตอร์จนกระทั่งถูกไล่ออกเมื่อต้นปี ต่อมาในเดือนกรกฎาคมเขาร้องเรียนและเปิดโปงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่แห่งนี้ต่อรัฐสภา กระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการการค้าของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (เอฟทีซี) และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่า ทวิตเตอร์ละเมิดเงื่อนไขข้อตกลงไกล่เกลี่ยของเอฟทีซีด้วยการกล่าวเท็จว่า บริษัทมีมาตรการปกป้องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้เข้มงวดขึ้น

วุฒิสมาชิกดิ๊ก เดอร์บิน ประธานคณะกรรมาธิการการยุติธรรม เผยว่า แซตโกได้ให้รายละเอียดข้อบกพร่องต่างๆ ที่อาจเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อผู้ใช้หลายร้อยล้านคนของทวิตเตอร์ ตลอดจนถึงประชาธิปไตยของอเมริกา

อย่างไรก็ตาม การกล่าวอ้างหลายเรื่องของแซตโกไม่มีหลักฐานยืนยันและดูเหมือนมีเอกสารสนับสนุนน้อยมาก ทำให้ทวิตเตอร์โจมตีว่า เป็นเรื่องเล่าเท็จที่เต็มไปด้วยความไม่สอดคล้องและไม่ถูกต้อง

อาลี ไลต์แมน ศาสตราจารย์ด้านสื่อและการตลาดดิจิทัลของมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน มองว่า แม้แซตโกปรากฏตัวในฐานะผู้เปิดโปงที่มีความน่าเชื่อสูง แต่ปัญหาหลายอย่างที่เขาหยิบยกขึ้นมามีแนวโน้มว่า เป็นปัญหาที่พบได้ในแพลตฟอร์มเทคโนโลยีดิจิทัลอื่นๆ ที่มักหลีกเลี่ยงโปรโตคอลความปลอดภัยเพื่อมุ่งเน้นนวัตกรรมและความเร็วในการทำงาน

กระนั้น ประเด็นหนึ่งที่แซตโกกล่าวถึงและได้รับความสนใจอย่างมากจากสมาชิกรัฐสภาคือ การที่ทวิตเตอร์เพิกเฉยอย่างชัดเจนในการจัดการกับรัฐบาลของประเทศต่างๆ ที่พยายามส่งสายลับแทรกซึมเข้าไปทำงานในบริษัท และการที่ทวิตเตอร์ไม่สามารถบันทึกได้ว่า พนักงานเข้าถึงบัญชีของผู้ใช้ได้อย่างไร ทำให้บริษัทตรวจสอบยากขึ้นเมื่อพนักงานละเมิดกฎและเข้าถึงบัญชีผู้ใช้

แซตโกสำทับว่า เขาคุยกับแหล่งข่าวที่มีความน่าเชื่อถือสูงหลายคนเกี่ยวกับสายลับต่างชาติที่รัฐบาลอินเดียส่งเข้าไปทำงานในทวิตเตอร์เพื่อทำความเข้าใจการเจรจาระหว่างพรรครัฐบาลของอินเดียกับทวิตเตอร์เกี่ยวกับข้อจำกัดใหม่ของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและความคืบหน้าของการเจรจาดังกล่าว

เขายังบอกอีกว่า แปลกใจและช็อกเช่นเดียวกันเมื่อได้คุยกัน และปารัก อักราวัล ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี และปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารทวิตเตอร์ ถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะไม่แก้ไขและตรวจสอบเนื้อหาของรัฐบาลรัสเซีย เนื่องจากทวิตเตอร์ไม่มีความสามารถและเครื่องไม้เครื่องมือในการตรวจสอบได้อย่างปลอดภัย

วุฒิสมาชิกชาร์ลส์ แกรสส์ลีย์ สมาชิกคณะกรรมาธิการการยุติธรรมวุฒิสภา เผยว่า อักราวัลไม่ยอมไปให้การโดยอ้างว่า อยู่ระหว่างการฟ้องร้องอีลอน มัสก์ ซีอีโอเทสลาที่ต้องการล้มข้อเสนอซื้อกิจการทวิตเตอร์

(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น